วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

เนื้อหานักธรรมโท

วิชาธรรม
ติกะ  หมวด  ๓
จตุกกะ  หมวด  ๔
             ปัญจกะ  คือ  หมวด  ๕
ฉักกะ หมวด  ๖
สัตตกะ  หมวด  ๗
๑.  ประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะ
๑.  สถานะเดิม
ชื่อโกณฑัญญะ  ส่วนที่มีคำว่า  อัญญานำหน้านั้นเกิดจากพระศาสดาทรงเปล่งอุทานตอนท่านได้ดวงตาเห็นธรรมว่า  อญญาสิ  วต  โภ  โกณฑญฺโญ  แปลว่า  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  คำว่า  อัญญา  จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
เกิดที่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ  อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสด์  วรรณะพราหมณ์  การศึกษาจบไตรเพท  และรู้ตำราทำนายลักษณะ
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ท่านเป็น  ๑  ในจำนวนพราหมณ์  ๘  คน ที่คัดจากพราหมณ์  ๑๐๘  คน  เพื่อทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร  ซึ่งท่านได้ทำนายว่า  พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  อันต่างไปจากพราหมณ์อื่นอีก  ๗  คนที่ทำนายว่า  พระราชกุมารมีคติเป็น  ๒  คือ  ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช  ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเชื่อตำราทำนายลักษณะของตน  เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะ  เสด็จออกบรรพชา  จึงได้ออกบวชตาม
๓.  การบรรลุธรรม
ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และบรรลุพระอรหัตผล  เพราะฟังอนัตตลักขณสูตรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเช่นกัน เมื่อท่านได้บรรลุโสดา-ปัตติผลแล้ว  ได้ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า  จงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด  วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ท่านเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระอัญญาโกณฑัญญะ มีผลงานสำคัญคือ ให้นายปุณณะ บุตรของนางมันตานีน้องสาวของท่านบวชในพระพุทธศาสนา  ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศศาสนา  โดยมีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านเป็นจำนวนมาก
๕.  เอตทัคคะ
พระอัญญาโกณฑัญญะ  ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้รัตตัญญู  แปลว่า  ผู้รู้ราตรี  หมายความว่ารู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด
๖.  บุญญาธิการ  (  การสร้างบารมี )
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า  ทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ท่านได้ปรารถนา  ตำแหน่งรัตตัญญู  คือรู้ธรรมก่อนใคร  แล้วได้ทำบุญมาตลอดจนถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  วิปัสสี  ได้เกิดเป็นกุฎุมพี  ชื่อมหากาล  ได้ถวายทานอันเลิศ  ๗  ครั้ง  จึงได้รับเอตทัคคะนี้
๗.  ปรินิพพาน
ในบั้นปลายชีวิต  ท่านได้ทูลลาพระศาสดาไปจำพรรษาในป่าหิมพานต์  ที่ฝั่งสระฉัททันต์  ๑๒  พรรษา  เมื่อใกล้จะปรินิพพานได้มาทูลลาพระศาสดา  แล้วกลับไปปรินิพพาน  ณ  สถานที่นั้น
นิพพานมี  ๒  อย่างคือ  สอุปาทิเสสนิพพาน  แปลว่าดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ  หมายถึงพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่  อนุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสด้วยเบญจขันธ์ดับด้วย  หมายถึงพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิต  ดังนั้น  อนุปาทิเสสนิพพานจึงน่าจะใช้คำว่า  ปรินิพพาน  จึงได้ใช้อย่างนี้
*********************************
๒.  ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ
๑.  สถานะเดิม
ท่านมีชื่อว่าตามโคตรว่า  กัสสปะ  ต่อมาบวชเป็นฤษี  ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา  จึงได้นามว่า  อุรุเวลกัสสปะ
 เกิดที่เมืองพารณาสี ก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
 การศึกษา  เรียนจบไตรเพท
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุรุเวลกัสสปะ  มีน้องชาย  ๒  คน  คนรองชื่อว่านทีกัสสปะ  เพราะตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแห่งแม่น้ำคงคา  คนเล็ก  ชื่อว่า  คยากัสสปะ  เพราะตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ
พี่น้องทั้ง  ๓  ตั้งสำนักสอนไตรเพทแก่คนทั้งหลาย  อุรุเวลกัสสปะ  มีบริวาร  ๕๐๐  คน  นทีกัสสปะมี  ๓๐๐  คน  คยากัสสปะมี  ๒๐๐  คน  ต่อมาตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ของตน  เห็นเพียงแต่ประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น  จึงชวนกันออกบวชเป็นฤษี  บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ  ตั้งอาศรมอยู่ตามตำบลต่าง ๆ  ดังกล่าวแล้ว
ครั้งนั้น  พระศาสดา  ทรงส่งพระสาวก  ๖๐  รูป  ไปประกาศพระศาสนา  ส่วนพระองค์เองเสด็จไปแคว้นมคธ  เสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสสปะ  ทรงขออาศัยพักในสำนักด้วย  อุรุเวลกัสสปะ  ไม่เต็มใจ  จึงบอกให้ไปพักในโรงบูชาไฟ  ซึ่งมีนาคดุร้ายอยู่ในนั้น  พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปพักตลอดทั้งคืนโดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด  แต่อุรุเวลกัสสปะก็ยังไม่ยอมรับ  ยังมีมานะว่าตนเองเหนือกว่า  พระศาสดาทรงใช้อุบายวิธีหลายอย่างเพื่อพิสูจน์ให้อุรุเวลกัสสปะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นพระอรหันต์  ในที่สุดเขาจึงยอมรับความจริง  ทิ้งลัทธิของตน ลอยบริขารชฎิลลงในแม่น้ำ  ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา  พร้อมด้วยบริวารทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า  พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว  จงประพฤติพรหมจรรย์  เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
๓.  การบรรลุธรรม
เมื่ออุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขารและเครื่องบูชาไปตามสายแม่น้ำ  น้องชายทั้งสองทราบจึงพร้อมด้วยบริวารพากันมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเช่นเดียวกับอุรุเวลกัสสปะกับบริวาร  จึงรวมเป็นภิกษุทั้งสิ้น  ๑๐๐๓  รูป  ทรงพาภิกษุเหล่านั้นไปยังคยาสีสะตำบล  ประทับนั่งบนแผ่นหิน  ทรงให้สมณะทั้งหมดบรรลุพระอรหัตด้วยอาทิตตปริยายเทศนาใจความย่อว่า  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เป็นของร้อนเพราะไฟ  ( กิเลส )  คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ  ความแก่  ความตาย  ความเสียใจ  ความคร่ำครวญ  ความทุกข์  ความโทมนัส  ความคับแค้นใจ
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระอุรุเวลกัสสปเถระเป็นกำลังสำคัญยิ่ง ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ  โดยประกาศตนเป็นสาวกของพระศาสดาต่อหน้าชาวมคธที่ติดตามพระเจ้าพิมพิสารมาเฝ้าที่ลัฎฐิวัน  ทำให้คนเหล่านั้นหมดความสงสัย  ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจนได้ดวงตาเห็นธรรม  ๑๑  ส่วน  อีกหนึ่งส่วนตั้งอยู่ในสรณคมน์  ตั้งแต่นั้นมา  ชาวมคธได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
๕.  เอตทัคคะ
พระอุรุเวลกัสสปเถระ  ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ
ทั้งหลาย  ผู้มีบริวารมาก
๖.  บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  (  องค์ที่  ๑๓  )  ท่านได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งมีบริวารมาก  จึงสร้างความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้น  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมปรารถนาในศาสนาของพระสมณโคดม
๗.  ธรรมวาทะ
การบูชายัญ  ล้วนแต่มุ่งหมายรูป  เสียง  กลิ่น  รส และสตรี  ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า  นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลาย  จึงไม่ยินดีในการ เซ่นสรวงและการบูชายัญ
๘.  ปรินิพพาน
พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ  สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป
**********************************
๓.  ประวัติ  พระสารีบุตรเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระสารีบุตรเถระ  ชื่อเดิมว่า  อุปติสสะ  เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม
บิดา  ชื่อ  วังคันตพราหมณ์  มารดา  ชื่อ  นางสารี  หรือรูปสารี
เกิดที่อุปติสสคาม  ไม่ไกลพระนครราชคฤห์  ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย
๒.  มูลแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ  โกลิตะ  เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม  ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน  จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง  คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์  เห็นมหาชนประชุมกัน  ได้ความสังเวชว่าคนเหล่านี้ทั้งหมด  ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าสู่ปากของมัจจุราช  จึงตัดสินใจว่า  ควรแสวงหาโมกขธรรม  และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น  ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ  ๕๐๐  คน
ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก  ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น  จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า  เป็นบัณฑิตในที่นั้น  ๆ  สมณพราหมณ์เหล่านั้น  ถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้  แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้  เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น  เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป  จึงได้ทำกติกากันว่า  ใครบรรลุอมตธรรมก่อน  จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง
วันหนึ่ง  อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม  เห็นพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์  คิดว่า  บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้  เราไม่เคยเห็น  ชื่อว่าธรรมอันละเอียดน่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน  ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา
ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ไปยังโอกาสอันเหมาะสมเพื่อจะฉันอาหารปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวาย  เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา  พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร  พระเถระตอบว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น  และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้
อุปติสสปริพาชก  ได้ดวงตาเห็นธรรม  คือบรรลุโสดาปัตติผล  ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน  และแสดงธรรมให้ฟัง  โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือน  กันจึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา  ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว  ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา  พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย  เมื่อทั้งสองบวชแล้ว  ภิกษุทั้งหลายเรียก  อุปติสสะว่า  สารีบุตร  เรียกโกลิตะว่า  โมคคัลลานะ
๓.  การบรรลุธรรม
พระสารีบุตรบวชได้กึ่งเดือน  (๑๕ วัน )  อยู่ในถ้ำสุกรขตะ  ( ส่วนมากเรียกสุกรขาตา )  กับพระศาสดา  เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพานชกผู้เป็นหลานของตน  ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ  เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น
พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต  ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้พระศาสดาทั้งคู่  คือ  พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ  พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลมุตตคาม
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระสารีบุตรเถระ  นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  มีคำเรียกท่านว่าพระธรรมเสนาบดี  ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่าพระธรรมราชา  ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด  ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลาย  จงเสพ  จงคบ  สารีบุตร  และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง  ๒  รูปนี้เป็นบัณฑิต  อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์  สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด  โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว  สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป
๕.  เอตทัคคะ
พระสารีบุตรเถระ  ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระศาสดา  และสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้านพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา  และเอตทัคคะว่า  เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก  ดังพระพุทธดำรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สารีบุตรนี้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก
๖.  บุญญาธิการ
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระนามว่า  อโนมทัสสี  เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล  ได้เห็นพระนิสภเถระ  พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา  อาสนะดอกไม้  แก่ดาบสทั้งหลาย  มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า  โอหนอ  แม้เราก็พึงเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระนี้  จึงถวายบังคมพระศาสดา  แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น  พระศาสดาทรงเห็นว่า  ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ  โดยไม่มีอันตราย  จึงพยากรณ์ว่า  เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแต่กัปนี้ไป  จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีนามว่าสารีบุตร  ท่านได้บำเพ็ญบารมี  มีทานเป็นต้น  มาตลอดมิได้ขาดจนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม  ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์  และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ
๗.  ธรรมวาทะ
คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา  ต้องลำบากด้วยภาระ  ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็  ฉันนั้น
เราถูกไฟ  ๓  กอง  เผาอยู่  เป็นผู้แบกภาระคือภพ  เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ  ท่องเที่ยวไปในภพ
คนผู้มีใจต่ำ  เกียจคร้าน  ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย  ไม่มีมารยาท  อย่าได้สมาคมกับเรา  ในที่ทุกสถาน  ในกาลทุกเมื่อ
ส่วนคนผู้มีสุตะมาก  มีปัญญา  ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ  ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา
๘.  ปรินิพพาน
พระสารีบุตรเถระปรินิพพานก่อนพระศาสดา  โดยได้กลับไปปรินิพพานที่บ้านเกิดของท่าน  ก่อนปรินิพพาน  ท่านได้ไปทูลลาพระศาสดาแล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย  ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล  แล้วปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ  พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติพี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้วเก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา  ที่เชตวันมหาวิหาร  เมืองสาวัตถี  ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น
****************************************

๔.  ประวัติ  พระโมคคัลลานเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโมคคัลลานเถระ  ชื่อเดิมว่า  โกลิตะ  เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้  เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
บิดา  ไม่ปรากฏชื่อ  กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
มารดา  ชื่อโมคคัลลี  หรือ  มุคคลี  ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์
เกิดที่  บ้านโกลิตคาม  ไม่ไกลจากนครราชคฤห์  ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย  (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โกลิตะมีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่อ  อุปติสสะ  เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม  ไปมาหาสู่และเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง  สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์  เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ  จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย  ว่าคนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าสู่ปากของมัจจุราช  จึงทำการตัดสินใจว่า  เราทั้งสองควรแสวงหาโมกธรรมและเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น  ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง  จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก  พร้อมกับมาณพ  ๕๐๐  คน  โกลิตะพร้อมกับสหายเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก  ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น  รู้สึกเบื่อหน่าย  จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป  โดยทำกติกากันว่าใครบรรลุอมตธรรมก่อน  จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง  อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ  ได้ดวงตาเห็นธรรม  คือบรรลุโสดาปัตติผล  จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้เป็นสหายและแสดงธรรมให้ฟังโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม  คือบรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกันจึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นทั้งสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล  ได้ตรัสว่า  นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา  ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว  ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า  เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว  เธอทั้งหลาย  จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
๓.  การบรรลุธรรม
ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ  บวชได้  ๗  วัน  เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคามในมคธรัฐ  บำเพ็ญสมณธรรม  ถูกถีนมิทธะ  คือความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้  พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ  ด้วยพระดำรัสมี  อาทิว่า  โมคคัลลานะ  ความพยายามของเธอ อย่าได้ไร้ผลเสียเลย  แล้วสอนธาตุกรรมฐาน  ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ  ๔  คือ  ปฐวี  ธาตุดิน  อาโป  ธาตุน้ำ  เตโช  ธาตุไฟ  วาโย  ธาตุลม  เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน  เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ  ความอบอุ่นในร่างกายเป็นธาตุไฟ  ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม  แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา  และไม่ใช่ตัวตนของเรา  ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้ว  ส่งใจไปตามกระแสเทศนา  ได้บรรลุมรรคทั้ง  ๓  เบื้องบนโดยลำดับแห่งวิปัสสนาแล้ว  ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะได้บรรลุผลอันเลิศ  คือ  อรหัตผล
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระมหาโมคคัลลานเถระทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ  ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา  ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร  โมคคัลลานะเปรียบเหมือน  นางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว  สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป
๕.  เอตทัคคะ
พระมหาโมคคัลลานเถระ  เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว  เป็นผู้มีฤทธิ์มาก  สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้  ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย  เช่น  นันโทปนันทนาคราชเป็นต้นได้  จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา  ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทิธิ์
๖.  บุญญาธิการ
ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัป  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  อโนมทัสสี  พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อสิริวัฒนกุฏุมพี  มีสหายชื่อสรทมาณพ
สรทมาณพ  ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑  ในศาสนาของพระสมณโคดม  และไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่ง  สาวกที่  ๒  สิริวัฒนกุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น  แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา  ๗  วัน  วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก  แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่  ๒  เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา  จนถึงชาติสุดท้าย  เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี  มีชื่อว่าโมคคัลลานะ  ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้
๗.  ธรรมวาทะ
ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า  เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา  คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง  ดูก่อนมารผู้ใจบาป  ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วเผาตัวของท่านเอง  เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ  ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า  แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า  ไม่เห็นจะบาปอะไร  ( บาปแล้วยังโง่อีก )
๘.  ปรินิพพาน
พระมหาโมคคัลลานเถระ  ปรินิพพานที่ตำบลกาฬศิลา  แคว้นมคธ  ก่อนพระศาสดา  แต่ภายหลังพระสารีบุตร  ๑๕  วัน  พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์  บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร
*****************************************
๕.  ประวัติ  พระมหากัสสปเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระมหากัสสปเถระ  ชื่อเดิมว่า  ปิปผลิ  เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้  แต่มักเรียกกันตามโคตรว่า  กัสสปะ
บิดาชื่อ  กปิละ  มารดาไม่ปรากฎชื่อ  เป็นวรรณะพราหมณ์ตระกูลมหาศาลเชื้อสายกัสสปโคตร
ท่านเกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์  ชื่อมหาติตถะ  ตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์  ภายหลังพระมหาบุรุษเสด็จอุบัติ
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระมหากัสสปเถระ  เป็นลูกพราหมณ์มหาศาล  บิดาและมารดาจึงต้องการผู้สืบเชื้อสายวงค์ตระกูล  ได้จัดการให้แต่งงานกับหญิงสาว  ธิดาพราหมณ์มหาศาลเหมือนกัน  ชื่อ  ภัททกาปิลานี  ในขณะท่านมีอายุได้  ๒๐  ปี  นางภัททกาปิลานีมีอายุได้  ๑๖  ปี  แต่เพราะทั้งคู่จุติมาจากพรหมโลกและบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมา  จึงไม่ยินดีเรื่องกามารมณ์เห็นโทษของการครองเรือนว่า  ต้องคอยเป็นผู้รับบาปจากการกระทำของผู้อื่น  ในที่สุดทั้งสองได้ตัดสินใจออกบวชโดยยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและบริวาร  พวกเขาได้ไปซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินจากตลาด  ต่างฝ่ายต่างปลงผมให้แก่กันเสร็จแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์สะพายบาตร  ลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีความอาลัย
เมื่อปิปผลิและภัททกาปิลานีเดินทางไปด้วยกันได้ระยะหนึ่งแล้วปรึกษากันว่าการปฏิบัติเช่นนี้  ทำให้  ผู้พบเห็นติเตียนได้ เป็นการไม่สมควร  จึงแยกทางกัน  นางภัททกาปิลานีไปถึงสำนักนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง  แล้วบวชเป็นนางภิกษุณีภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผล
เมื่อทั้งสองคนแยกทางกัน  พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฏี  วัดเวฬุวันทรงทราบถึงเหตุนั้น  จึงได้เสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ  ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา  เพื่อรอรับการมาของเขา  ต้นนิโครธนั้นมีลำต้นสีขาว  ใบสีเขียวผลสีแดง  ปิปผลิเห็นพระองค์แล้วคิดว่า  ท่านผู้นี้  จักเป็นศาสดาของเรา  เราจักบวชอุทิศพระศาสดาองค์นี้  จึงน้อมตัวลงเดินเข้าไปหา  ไหว้  ๓  ครั้ง  แล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวก  ลำดับนั้น  พระศาสดาได้บวชให้ท่านด้วยทรงประทานโอวาท  ๓  ข้อ  คือ
๑.  ดูก่อนกัสสปะ  เธอพึงศึกษาว่า  เราจักเข้าไปตั้งความละอาย  และความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็น  เถระ  ปานกลาง  และบวชใหม่
๒.  ธรรมใดเป็นกุศล  เราจักเงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น  พิจารณาเนื้อความนั้น (ของธรรมนั้น )
๓.  เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ  คือพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์  (  อยู่เสมอ )
วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท
๓.  การบรรลุธรรม
ครั้นบวชให้ท่านเสร็จแล้ว  พระศาสดาทรงให้ท่านเป็นปัจฉาสมณะเสด็จไปตามทางได้หน่อยหนึ่ง  ทรงแวะข้างทาง  แสดงอาการจะประทับนั่ง  พระเถระทราบดังนั้นจึงปูผ้าสังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าผืนเก่าของตน  เป็น  ๔  ชิ้น  ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่งบนสังฆาฏินั้นเอาพระหัตถ์ลูบผ้าพลางตรัสว่า  กัสสปะ  สังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าเก่าผืนนี้ของเธอ  อ่อนนุ่ม  พระเถระรู้ความประสงค์จึงกราบทูลว่า  ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า  จงทรงห่มผ้าสังฆาฏินี้เถิด  พระเจ้าข้า  แล้วเธอจะห่มผ้าอะไร  พระศาสดาตรัสถาม  พระเถระกราบทูลว่า  เมื่อได้ผ้าสำหรับห่มของพระองค์  ข้าพระองค์จักห่มได้พระเจ้าข้า  พระศาสดาได้ทรงประทานผ้าห่มของพระองค์แก่พระเถระ ๆ  ได้ห่มผ้าของพระศาสดา  มิได้ทำความถือตัวว่า  เราจะได้จีวรเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้าแต่คิดว่าตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้อีก  จึงได้สมาทานธุดงค์  ๑๓  ข้อ  ในสำนักพระศาสดา  หลังจากบวชได้  ๘  วัน  ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระมหากัสสปเถระ  เป็นพระสันโดษมักน้อย  ถือธุดงค์เป็นวัตร  ธุดงค์ ๓  ข้อที่ถือตลอดชีวิตคือ  ๑.  ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  ๒.  เที่ยวบินฑบาตเป็นวัตร  ๓.  อยู่ป่าเป็นวัตร  การเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ของท่านจึงไปในทางเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังมากกว่าการแสดงธรรม  ท่านได้แสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ของท่านแก่พระศาสดา  ๒  ประการคือ
๑.  เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒.  เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลัง จะได้ถือปฏิบัติตาม
พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน  แล้วตรัสว่า  เธอได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตนแก่ชนเป็นอันมาก  ทรงสรรเสริญท่านว่า  เป็นผู้มักน้อย  สันโดษ  ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นแบบอย่าง  ดังนี้
๑.  กัสสปะ  เข้าไปสู่ตระกูล  ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคน
ใหม่ไม่คุ้นเคยอยู่เป็นนิตย์  ไม่คะนองกายวาจาใจ  จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น  เพิกเฉย  ตั้งจิตเป็นกลางว่า  ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ  ผู้ใคร่บุญ  จงได้บุญ  ตนได้ลาภมีใจฉันใด  ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
๒.  กัสสปะ  มีจิตประกอบด้วยเมตตา  แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๓.  ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ  โดยยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง
งานประกาศพระศาสนาที่สำคัญที่สุดของพระมหากัสสปเถระ  คือเป็นประธานการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  ปฐมสังคายนานี้  มีความสำคัญมากได้ช่วยรักษาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงมั่นคงมาจวบถึงทุกวันนี้
๕.  เอตทัคคะ
พระมหากัสสปเถระ  ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นต้นว่า  เปรียบเสมือนด้วยพระจันทร์  เข้าไปยังตระกูลทั้งหลายไม่คะนองกาย  ไม่คะนองจิต  เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์  ไม่เย่อหยิ่ง  วันหนึ่ง  เมื่อประทับนั่ง  ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า  ทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย  ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์ว่า  ภิกษุทั้งหลาย  กัสสปะนี้  เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา  ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์
๖.  บุญญาธิการ
นับย้อนหลังไปแสนกัปแต่กัปนี้  พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ได้เสด็จอุบัติในโลก  พระมหากัสสปเถระนี้ได้เกิดเป็นกุฏุมพีนามว่า  เวเทหะ  ในพระนครหงสวดีนับถือรัตนตรัย  ได้เห็นพระสาวกผู้เลิศทางธุดงค์นามว่า  มหานิสภเถระ  เลื่อมใส่ในปฏิปทาของท่าน  จึงนิมนต์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า  พร้อมพระสงฆ์มาถวายภัตตาหารแล้วตั้งความปรารถนาตำแหน่งนั้น  ได้กระทำบุญกรรมต่าง ๆ  มาตลอดหลายพุทธันดร  ในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสปเถระ  ได้รับตำแหน่งสมดังปรารถนาทุกประการ
๗.  ธรรมวาทะ
ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้นั้นย่อมอยู่ห่างพระสัทธรรมเหมือนแผ่นดินที่อยู่ห่างจากฟ้า
ผู้มีหิริและโอตตัปปะประจำใจตลอดเวลา  ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมงอกงาม
ภพใหม่ย่อมไม่มี
ภิกษุผู้ฟุ้งซ่านง่อนแง่น  ถึงจะห่มผ้าบังสุกุลก็ไม่งาม  ไม่ต่างจากลิงห่มหนังเสือ
ภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่านมั่นคง  มีปัญญา  สำรวมอินทรีย์ห่มผ้าบังสุกุล  ย่อมงามเหมือนราชสีห์  บนยอดขุนเขา
๘.  ปรินิพพาน
พระมหากัสสปเถระ  เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว  ได้จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวนาราม  มีอายุประมาณ  ๑๒๐  ปี  จึงปรินิพพาน  ณ  ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง  ๓  ลูก  ในกรุงราชคฤห์
******************************************
๖.  ประวัติ  พระมหากัจจายนเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระมหากัจจายนเถระ  เดิมชื่อว่า  กัญจนมาณพ  เป็นชื่อที่มารดาตั้งให้ เพราะทารกนั้นมีผิวกายเหมือนทองคำ  แต่คนทั่วไปเรียกตามโคตรว่า  กัจจานะ  หรือ  กัจจายนะ
บิดา  ชื่อติริฏิวัจฉะ  มารดาไม่ปรากฏชื่อ  เป็นวรรณะพราหมณ์  กัจจายนโคตร  บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต
เกิดที่เรือนปุโรหิต  ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต  ในกรุงอุชเชนี  แคว้นวันตี  ครั้นบิดาถึงแก่กรรม  ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทน
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระเจ้าจันฑปัชโชตได้ทรงสดับว่า  พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก  จึงส่งกัจจายนะปุโรหิตไป  เพื่อทูลอาราธนาพระศาสดาว่า  ท่านอาจารย์ ท่านจงไปที่พระอารามนั้นแล้ว  ทูลนิมนต์พระศาสดามาในวังนี้  ท่านปุโรหิตนั้นพร้อมกับบริวารอีก  ๗  คน เดินทางออกจากนครอุชเชนีไปยังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหารพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา กัจจายนปุโรหิต  พร้อมกับคนทั้ง  ๗  ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา  ๔  แล้ว  พร้อมกับคนทั้ง  ๗  ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา  ลำดับนั้นพระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า  พวกเธอจงเป็นภิกษุ  มาเถิด  ขณะนั้นเอง  พวกเขาได้มีผมและหนวด  ยาวประมาณ  ๒  องคุลี ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์  ได้เป็นเหมือนพระเถระบวชมา  ๖๐  พรรษา  ทั้ง  ๗  องค์ได้บรรลุพระอรหัตผลก่อนบวช
๓.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหากัจจายนเถระ  ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จอย่างนี้แล้ว  วันหนึ่งจึงกราบทูลพระศาสดาว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระเจ้าจัณฑปัชโชต  ปรารถนาจะไหว้พระบาทและฟังธรรมของพระองค์  พระเจ้าข้า  พระศาสดาตรัสว่า  กัจจายนะ เธอนั่นแหละจงไปในวังนั้น  เมื่อเธอไปถึงแล้วพระราชาจักทรงเลื่อมใส  พระเถระพร้อมกับภิกษุอีก  ๗  รูป  ได้ไปยังพระราชวังนั้นตามพระบัญชาของพระศาสดา  ได้ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใส  แล้วได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในอวันตีชนบทเรียบร้อยแล้ว  จึงได้กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  พระมหากัจจายนะเถระ  อยู่ที่ป่าไม้คุนธา  แขวงมธุรราชธานี  พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเข้าไปหาตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่า  วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด  วรรณะอื่นเลว  วรรณะพราหมณ์ขาว  วรรณะอื่นดำ  วรรณะพราหมณ์เป็นบุตรของพระพรหม  เกิดจากปากพรหม  อันพระพรหมสร้างเป็นทายาทของพระพรหม
พระเถระตอบว่า นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น แล้วได้อธิบายให้พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร  ยอมรับว่า  วรรณะทั้ง  ๔  เสมอกันตามความจริงที่ปรากฏ  ๕ ประการ  คือ
๑.  วรรณะใดมั่งมี  วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
๒.  วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย  วาจา  และใจ  วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
๓.  วรรณะใดเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย  วาจา  และใจ  วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
๔.  วรรณะใดประพฤติผิด  เช่น  ลักขโมย  คดโกง  ประพฤติผิดในกามเป็นต้น  วรรณะนั้น  ต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
๕.  วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ  ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ  นิมนต์ให้รับปัจจัย  ๔  หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๔.  เอตทัคคะ
พระมหากัจจายนเถระ  เป็นผู้ฉลาดสามารถในการอธิบายคำที่พระศาสดาตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร  ได้ตรงตามพุทธประสงค์ทุกประการ  เช่น  ครั้งหนึ่ง  พระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อ  แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่วิหารที่ประทับ  ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความ  จึงอาราธนาพระเถระอธิบายให้ฟัง  พระเถระอธิบายขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วบอกว่า  ถ้ารูปใดยังไม่แน่ใจก็ขอให้ไปทูลถามพระศาสดา ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลถามพระศาสดาตามที่ท่านได้อธิบาย พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านแล้วตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กัจจายนะ  เป็นคนมีปัญญา  ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา  แม้เราก็ต้องแก้อย่างนั้นเหมือนกัน  เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงไว้มีความหมายอย่างนั้นแหละ  เธอทั้งหลายจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้เถิดเพราะฉะนั้น  ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร  ด้วยพระดำรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  มหากัจจายนะเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา  ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร
๕.  บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า  ทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ท่านได้เกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล  พอเจริญวัยแล้ว  วันหนึ่งได้ฟังธรรม  ในสำนักพระศาสดาเห็น
พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งจำแนกเนื้อความ  ที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร  เกิดกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมากหลายพุทธันดร  จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้  จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ  สมปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้
๖.  ธรรมวาทะ
วรรณะใดมั่งมี  วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย  วาจา  และใจ  วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
วรรณะเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย  วาจา  และใจ  วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ  โลกสวรรค์เหมือนกัน
วรรณะใดประพฤติผิด  เช่น  ลักขโมย  คดโกง  ประพฤติผิดในกามเป็นต้น  วรรณะนั้นต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ  ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ  นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ  นิมนต์ให้รับปัจจัย  ๔  หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๗.  ปรินิพพาน
พระมหากัจจายนเถระนิพพานภายหลังพระศาสดา ตามหลักฐานในมธุรสูตรว่า  พระเจ้ามธุรราช  ตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนาของท่านแล้วตรัสถามว่า  ขณะนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน  ท่านกราบทูลว่า  ปรินิพพานแล้ว
**************************************
๗.  ประวัติ  พระโมฆราชเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโมฆราชเถระ  เชื่อเดิม  โมฆราช วรรณะพราหมณ์  เป็นชาวโกศล เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย  ได้รับความทุกข์ทรมานมาก  แม้จะเป็นคนใหญ่โตและมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้  จึงได้ชื่อว่า  โมฆราช  แปลว่า  ราชาผู้หาความสุขไม่ได้
เพราะท่านได้เห็นโทษของร่างกาย  จึงออกบวชเป็นฤาษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี  พราหมณ์พาวรีนั้นมีศิษย์เป็นจำนวนมาก  ท่านกล่าวว่ามีถึง  ๑๖,๐๐๐ คน  แต่ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่มีอยู่  ๑๖  คน  คือ  อชิตะ  ติสสะเมตเตยยะ  ปุณณกะเมตตคู  โธตกะ  อุปสีวะ  นันทะ  เหมกะ  โตเทยยะ  กัปปะ  ชตุกัณณี  ภัทราวุธ อุทยะ  โปสาละ  โมฆราช  ปิงคิยะ
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า  พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา  ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  สนใจใคร่จะสอบสวนหาความจริง  จึงเรียกศิษย์ทั้ง  ๑๖  คนมี  อชิตะเป็นหัวหน้า  ผูกปัญหาให้คนละหมวด  ส่งไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์  เพื่อทูลถามปัญหา ศิษย์ทั้ง  ๑๖  คน  ได้ปฏิบัติตามคำของอาจารย์เมื่อพระศาสดาแก้ปัญหาของพวกเขาจบลง  ๑๕  คนได้บรรลุพระอรหัตผล  ส่วนปิงคิยมาณพได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล  เพราะจิตใจสับสนไม่แน่วแน่  ห่วงแต่พราหมณ์พาวรี  ผู้ที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์  ไม่ได้ส่งญาณตามเทศนาโดยตลอด
เฉพาะโมฆราชมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร  มัจจุราชจึงจะไม่เห็น  พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า  ดูก่อนโมฆราช  ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ  พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า  ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย  บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้  ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้  มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
เมื่อโมฆราชมาณพฟังพระศาสดาแก้ปัญหาจบลง  จิตของเขาก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน  จึงได้ทูลของบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดาว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอข้าพระองค์  พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระศาสดาตรัสแก่เขาว่า  เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด  ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลก่อนบวช
๓.  งานประกาศพระศาสนา
นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่ง ในการประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาปอน ๆ  ของท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และเป็นทิฏฐานุคติแก่คนที่เกิดมาภายหลังเมื่อท่านปรินิพพานแล้ว
๔.  เอตทัคคะ
พระโมฆราชเถระนี้  ตั้งแต่บวชในพระพุทธศาสนา  ได้ใช้จีวรที่ปอนมาตลอด ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน  ทรงตั้งพระเถระทั้งหลายไว้ในฐานันดรต่าง ๆ  ได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า  ภิกษุทั้งหลาย  ผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองในศาสนาของพระองค์
๕.  บุญญาธิการ
พระโมฆราชเถระ  ได้สร้างสมคุณความดีที่เป็นเหตุแห่งนิพพานมาสิ้นกาลนานในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้ทรงจีวรบังสุกุล  จึงได้สร้างสมคุณความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น  ได้ทำบุญมาตลอดหลายพุทธันดร  จนชาติสุดท้ายได้ถือกำเนิดในเรือนพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี  ก่อนที่พระทศพลของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติ  และได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณตามปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้ดังกล่าวแล้ว
๖.  ธรรมวาทะ
เพราะกรรมคือการเอาไฟเผาลนพื้นหอฉัน เราจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียนไหม้ในนรกพันปี
ด้วยเศษกรรมนั้นที่ยังเหลือ  เราเกิดเป็นมนุษย์  ต้องมีรอยตำหนิในร่างกายถึง  ๕๐๐  ชาติ
เพราะอำนาจของกรรมนั้น  เราเป็นโรคเรื้อนอย่างหนัก  เสวยมหันตทุกข์ถึง  ๕๐๐  ชาติ
๗.  ปรินิพพาน
พระโมฆราชเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์ตน  และได้ช่วยพระศาสดาประกาศพุทธศาสนาตามความสามารถแล้ว  ก็ได้ปรินิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต
*************************************
๘.  ประวัติ พระราธเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระราธเถระ  ชื่อเดิม  ราธมาณพ  บิดามารดาตั้งให้
บิดาและมารดา  เป็นคนวรรณะพราหมณ์  แต่ไม่ปรากฏชื่อในตำนาน
เกิดที่บ้านพราหมณ์  ในเมืองราชคฤห์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระราธเถระ  ในสมัยเป็นฆราวาส  บุตรและภรรยาไม่นับถือ  ไม่เลี้ยงดู
จึงเข้าวัดตั้งใจว่าจะบวชแล้วอยู่รอวันตายไปวัน ๆ  หนึ่ง  ได้ขอบวชกับพระเถระทั้งหลาย
แต่ไม่มีใครบวชให้
วันหนึ่ง  พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งอันเป็นพุทธกิจอย่างหนึ่ง  ทรงเห็นพราหมณ์นั้นเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณ  ได้เสด็จไปโปรดตรัสถามว่า  พราหมณ์ท่านกำลังทำอะไร  เขากราบทูลว่า  ข้าพระองค์กำลังทำวัตรปฏิบัติภิกษุทั้งหลายอยู่พระเจ้าข้า  ตรัสถามต่อว่า  เธอได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุเหล่านั้นหรือ  เขาทูลว่าได้พระเจ้าข้า  ได้เพียงอาหาร  แต่ท่านไม่บวชให้ข้าพระองค์
พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น  แล้วตรัสถามว่าใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง  พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า  ท่านระลึกได้ครั้งหนึ่งเมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาต  ในพระนครราชคฤห์  พราหมณ์นี้ได้แนะนำให้คนถวายข้าวท่านทัพพีหนึ่ง  พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่านแล้ว  ตรัสว่า  สารีบุตร  เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที  แล้วทรงมอบหมายให้พระสารีบุตร  เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์นั้น
การบวชให้ราธพราหมณ์นี้  ตรัสให้ยกเลิกวิธีอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์  มาเป็นการบวชโดยสงฆ์รับผิดชอบ  ซึ่งต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำที่สุด  ๕  รูปประชุมกันจึงบวชได้  โดยแบ่งกันทำหน้าที่  ๓  ฝ่าย  คือ  ๑. เป็นพระอุปฌาย์  ๑  รูป  ๒. เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์อย่างละ  ๑  รูป  ๓.  นอกนั้นร่วมรับรู้ว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่  การบวชวิธีนี้  เรียกว่า  ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา  แปลว่าการบวชด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่  ๔  หมายความว่า  มีการตั้งญัตติ  คือการประกาศให้สงฆ์ทราบ  ๑  ครั้ง  มีอนุสาวนา  คือการบอกให้สงฆ์ตรวจสอบว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่  ๓  ครั้ง  พระราธเถระ  เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บวชด้วยวิธีนี้
๓.  การบรรลุธรรม
พระราธเถระ  ครั้นบวชแล้ว  ถึงแม้จะเป็นพระผู้เฒ่า  เป็นหลวงตา  แต่ก็เป็นผู้ว่าง่ายใคร่ศึกษา  ใครแนะนำสั่งสอนอย่างไรไม่เคยโกรธ  ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ  แต่เพราะท่านมีบุญน้อย  ทั้งอาหาร  ทั้งที่อยู่อาศัย  จึงมักไม่พอแก่การดำรงชีวิต  จึงตกเป็นภาระของพระอุปฌาย์  ต้องช่วยสงเคราะห์ตลอดมา  วันหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ  พอให้ท่านเกิดกำลังใจยินดีในวิเวกไม่ประมาทและมีความเพียร  เพื่อความพ้นทุกข์
พระศาสดาตรัสว่า  ราธะ  ขันธ์  ๕  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร และวิญญาณเป็นมาร  เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย ท่านรับพุทธโอวาทแล้วจาริกไปกับพระอุปัชฌาย์  พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทนั้น ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา  ๔
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระราธเถระบวชในพระพุทธศาสนา  เมื่อท่านเป็นผู้เฒ่าแก่มากแล้ว  คงช่วยงานพระศาสนาด้วยกำลังกาย  กำลังวาจาเหมือนรูปอื่นไม่ได้  แต่ท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาที่ดีงามของท่าน  ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย  ใครแนะนำสั่งสอนอะไรยินดีรับฟังด้วยความเคารพ  ไม่เคยโกรธ  เป็นเหตุให้พระศาสดานำท่านมาเป็นอุทาหรณ์สั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาภิกษุควร  เป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ  แม้อาจารย์ชี้โทษ  กล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ  ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท  เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้
๕.  เอตทัคคะ
เพราะพระราธเถระ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายใคร่การศึกษาทำให้พระศาสดาและ  พระอุปัชฌาย์เป็นต้น  มีแต่ความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ  จึงทำให้ท่านมีปฏิภาณ  คือปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา  เพราะได้รับฟังบ่อย ๆ  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้มีปฏิภาณคือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา
๖.  บุญญาธิการ
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตะ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งซึ่งมีปฏิภาณแตกฉานไว้ในเอตทัคคะได้เกิดกุศลฉันทะในตำแหน่งนั้นบ้าง  จึงได้ทำสักการะบูชาพระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์กราบลงแทบพระบาท  ปรารถนาฐานันดรนั้น  พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว  ได้ทำบุญกุศลมากมายหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณดังกล่าวแล้ว
๗.  ปรินิพพาน
พระราธเถระ  ได้พากเพียรพยายามจนได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา  และได้ปฏิบัติตนให้เป็นทิฏฐานุคติของประชุมชนที่เกิดมาในภายหลังแล้วสุดท้ายก็ได้ปรินิพพาน  พ้นจากวัฏสงสาร  อย่างสิ้นเชิง
*************************************
๙.  ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระปุณณมันตานีเถระ  ชื่อเดิม  ปุณณะ  เป็นชื่อที่ญาติทั้งหลายตั้งให้แต่เพราะเป็นบุตรของนางมันตานี  คนทั้งหลายจึงเรียกว่า  ปุณณมันตานีบุตร
บิดา  ไม่ปรากฏชื่อ มารดาชื่อนางมันตานี  เป็นน้องสาวพระอัญญาโกณฑัญญะ  วรรณะพราหมณ์
เกิดที่บ้านพราหมณ์  ชื่อ  โทณวัตถุ  อยู่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์
๒.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับที่เมืองราชคฤห์ พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญะและพระมหาสาวกอีกจำนวนมาก  ปุณณมาณพไปเยี่ยมหลวงลุง  จึงได้บรรพชาอุปสมบท  พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์  แล้วกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์  อาศัยอยู่ที่ชาติภูมิ  บำเพ็ญภาวนาไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์
๓.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
ท่านได้บวชให้กุลบุตรจำนวน  ๕๐๐  รูป  และสอนให้ปฏิบัติตามกถาวัตถุ  ๑๐  ประการ  จนได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด
ครั้งนั้นพระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์  ไปยังเมืองสาวัตถี  พระปุณณมันตานีได้ไปเฝ้าพระทศพลจนถึงพระคันธกุฎี  พระชินสีห์ได้ทรงแสดงธรรมนำให้ให้เกิดปราโมทย์  จึงได้กราบลาพระตถาคตไปยังอันธวัน  นั่งพักกลางวันสงบกายใจ  ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง  พระสารีบุตรเถระได้เข้าไปหา  แล้วสนทนาไต่ถามข้อความในวิสุทธิ  ๗ ประการ  พระเถระวิสัชชนาอุปมาเหมือนรถเจ็ดผลัด  จัดรับส่งมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ต่างก็เบิกบานอนุโมทนาคำภาษิตที่ดื่มด่ำฉ่ำจิตของกันและกัน
๔.  เอตทัคคะ
เพราะพระปุณณมันตานีเถระ มีวาทะในการแสดงธรรมลึกล้ำด้วยอุปมาภายหลัง  พระศาสดา  ประทับนั่ง  ณ  ท่ามกลางภิกษุบริษัท จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ปุณณะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นพระธรรมถึก
๕.  บุญญาธิการ
แม้พระปุณณมันตานีเถระนี้  เห็นพระปทุมุตตรศาสดา  มีพุทธบัญชาตั้งสาวกผู้ฉลาดไตรปิฏก  ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้านการเป็นพระธรรมกถึก  จึงน้อมนึกจำนงหมายอยากได้ตำแหน่งนั้น  พระศาสดาจารย์ทรงรับรองว่าต้องสมประสงค์  จึงมุ่งตรงต่อบุญกรรม ทำแต่ความดี  มาชาตินี้จึงได้ฐานันดรสมดังพรที่ขอไว้
๖.  ธรรมวาทะ
บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษผู้ฉลาด  ชี้แจงให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์  นักปราชญ์ทั้งหลาย  ย่อมไม่ประมาท  เห็นแจ้งด้วยปัญญา  จึงได้บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่  ลึกซึ้ง  ละเอียด  สุขุม  เห็นได้ยาก
๗.  ปรินิพพาน
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตแล้วได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน  ไม่มีภพใหม่  อีกต่อไป
*****************************
๑๐.  ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระกาฬุทายีเถระ  ชื่อเดิม  อุทายี  เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้  เพราะเขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน  แต่เพราะเขามีผิวพรรณค่อนข้างดำ  คนทั้งหลายจึงเรียกว่า  กาฬุทายี
เกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ อันผู้ที่เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า  สหชาตินั้นมี ๗ คือ ๑. ต้นโพธิพฤกษ์  ๒. มารดาของพระราหุล  ๓. ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง  ๔. พระอานนท์  ๕ ม้ากัณฐกะ  ๖. นายฉันนะ  ๗. กาฬุทายีอำมาตย์
๒.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระมหาสัตว์เสด็จมหาเนษกรมพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  ทรงคอยสดับข่าวตลอดเวลา จนมาทราบว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  กำลังประดิษฐานพระศาสนาอยู่ในแคว้นมธค  ใคร่จะทอดพระเนตรพระโอรส  จึงได้โปรดให้อำมาตย์พร้อมบริวาร  นำข่าวสารไปกราบทูลพระศาสดา  เพื่อเสด็จมายังกบิลพัสดุ์  แต่อำมาตย์เหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์  บวชในพระพุทธศาสนา  มิได้กลับมาตามรับสั่งถึง  ๙  ครั้ง  สุดท้ายทรงส่งกาฬุทายีพร้อมกับบริวารไป  ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด  จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓.  งานประกาศพระศาสนา
กาฬุทายีอำมาตย์  เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ครั้นถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา  เห็นว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมายังกบัลพัสดุ์ จึงได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา  ๖๐  คาถา เป็นต้นว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  บัดนี้  หมู่ไม้กำลังผลัดใบ  ใบเก่าล่วงไป  ใบใหม่เกิดแทนดูแล้วแสนเจริญตา  สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง  น่ารื่นเริงทั่วพนาวันไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน  บ้างก็บาน  บ้างยังตูม  เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมรกลิ่นเกษรหอมกระจายไปทั่วทิศ  ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น  ไม้ผลก็ออกผล  ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า  พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตาไม่เบียดเบียนเข่นฆ่า  ชีวิตใคร  อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคไม่เบียดเบียน  ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์  เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ  ประกาศ ญาตัตถจริยา  ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ  พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาว่าเสด็จกบิลพัสดุ์นคร พระเถระได้ล่วงหน้าไปก่อน  เพื่อถวายพระพรให้ทรงทราบ  จอมกษัตริย์ทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต  มิได้ขาดทุก ๆ  วัน  พร้อมกันนั้นพระประยูรญาติก็ศรัทธาเลื่อมใส  เคารพพระรัตนตรัยโดยทั่วกัน  สิ้นเวลา ๖๐ วัน  พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถึงกบิลพัสดุ์  โปรดจอมกษัตริย์และพระประยูรญาติ  ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ  แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม
๔.  เอตทัคคะ
พระกาฬุทายีเถระ  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้าน ทำตระกูลให้เลื่อมใส
๕.  บุญญาธิการ
พระกาฬุทายีเถระนี้  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง  ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส  ได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้วทำบุญตลอดมาจนได้สำเร็จสมปรารถนาในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
๖.  ธรรมวาทะ
บุรุษผู้มีความเพียรมีปัญญากว้างขวาง  เกิดในสกุลใดย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
๗.  ปรินิพพาน
พระกาฬุทายีเถระ  ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้วได้ช่วย พระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ  ในที่สุดก็ได้ปรินิพพานไปตามกฎของธรรมดา  คือ  ความเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป
**********************************
๑๑.  ประวัติ  พระนันทเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระนันทเถระ  พระนามเดิมว่า  นันทะ  เป็นพระนามที่พระประยูรญาติ
ทรงขนานให้  เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ
พระบิดา  ทรงพระนามว่า  สุทโธทนะ  พระมารดา  ทรงพระนามว่า  มหาปชาบดีโคตมี
๒.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์  วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา  ให้เป็นต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก  วันที่  ๒  ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบัน ด้วยพระคาถาว่า
“บรรพชิตไม่พึงประมาทในบิณฑบาตอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ  บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต  เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ  ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  แล้วได้เสด็จไปยัง  พระราชนิเวศน์เทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน  และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็น  สกทาคามี  ด้วยพระอนุศาสนีว่า  บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต  อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต  เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ  ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
ในวันที่  ๓  ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของ  นันทกุมาร  ให้เธอรับบาตร  ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้ว  ไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหารให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรนคิดถึงคนที่ตนรัก  ถึงสำนักนิโครธาราม  ได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือนันทะ  พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระศาสดา จึงทูลว่า พระเจ้าข้า   ข้าพระองค์จะบวชจึงทรงประทานให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้  ไม่นานนักก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล
๓.  งานประกาศพระศาสนา
ปฏิปทาของพระนันทเถระ  เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า  เปือกตมคือกาม  ใครข้ามได้  หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว  ผู้นั้นสิ้นโมหะ  ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์
๔.  เอตทัคคะ
พระนันทเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ  เพราะความคิดถึงนางชนบท กัลยานี  และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า  ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร  จึงคิดว่า  ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  นั่นเอง  ดังนี้แล้วเกิดความอุตสาหะมีหิริโอตตัปปะเป็นกำลัง  ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด  พระศาสดาทรงทราบดังนั้น  จึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคะว่า  เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์
๕.  บุญญาธิการ
แม้พระนันทเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์  ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดา  ทางสถาปนาพระเถระรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่า  ภิกษุทั้งหลายในด้านความสำรวมอินทรีย์  มีกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง  จึงได้ตั้งใจทำความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งตำแหน่งนั้นลุถึงกาลแห่งพระโคดม  จึงได้สมควรความปรารถนา  ใช้เวลาหนึ่งแสนกัป
๖.  ธรรมวาทะ
เพราะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงความจริงของชีวิต  คนเราจึงติดอยู่กับร่างกาย  ขวนขวายแต่การแต่งตัว  ลุ่มหลงเมามัวในกามารมณ์  แต่พระโคดมทรงสอนให้รู้ซึ้งถึงชีวิตเราจึงเปลื้องจิตจากพันธนาการ  พ้นสถานแห่งภพสาม  ( สู่ความสุขอย่างแท้จริง )
๗.  ปรินิพพาน
พระนันทเถระ  ครั้นสำเร็จพระอรหันต์แล้ว  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ  สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปทิเสสนิพพาน  ดับสังขารอย่างสิ้นเชิง
***********************************
๑๒.  ประวัติ พระราหุลเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระราหุลเถระ  นามเดิม  ราหุล  เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของพระสิทธัตถะ  พระราชบิดา  ที่ตรัสว่า  ราหุลํ  ชาตํ  เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว  เมื่อทรงทราบข่าวว่า  พระกุมารประสูติ
พระบิดา  ทรงพระนามว่า  สิทธัตถะ
พระมารดา  ทรงพระนามว่า  ยโสธรา  หรือพิมพา
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทะศาสนา
พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์  ในวันที่  ๓  ทรงบวชให้นัทกุมารในวันที่  ๗  พระมารดาพระราหุลทรงให้พระกุมารไปทูลขอมรดกกับพระองค์  พระผู้มีพระภาค  ทรงพระดำริว่า  กุมารนี้อยากได้ทรัพย์ของบิดา  แต่ว่าทรัพย์นั้นพันธนาใจให้เกิดทุกข์ไม่สุขจริง  เราจะให้ทรัพย์ประเสริฐยิ่ง  ๗  ประการ  ที่เราชนะมารได้มา  จึงรับสั่งหาท่านพระสารีบุตร  มีพุทธดำรัสว่า  สารีบุตร  เธอจงจัดการให้ราหุลกุมารนี้บรรพชา  พระเถระจึงทูลถามถึงวิธีบรรพชา  พระศาสดาตรัสให้ใช้ตามวิธีติสรณคมนูปสัมปทา เปล่งวาจาถึง  พระรัตนตรัยให้พระกุมารบวช  วิธีนี้ได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้  เรียกว่า บวชเณร
พระราหุลเถระนี้ได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา  ครั้นอายุครบ  ๒๐  ปี  จึงอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมในสมัยเป็นสามเณร  ท่านสนใจใคร่ศึกษาพระธรรมวินัย  ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายได้เต็ม  แล้วตั้งความปรารถนาว่า  ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระศาสดาหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์จดจำ  และเข้าใจให้ได้จำนวนเท่าเม็ดทรายในกอบนี้
วันหนึ่งท่านอยู่ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง  พระศาสดาเสด็จเข้าไปหา  แล้วตรัสจูฬราหุโลวาทสูตร  แสดงโทษของการกล่าวมุสา  อุปมาเปรียบกับน้ำที่ทรงคว่ำขันเททิ้งไปว่า  ผู้ที่กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ  ความเป็นสมณะ  ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในขันนี้  แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า  ไม่มีบาปกรรมอะไร  ที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จ  ทั้ง ๆ  ที่รู้จะทำไม่ได้
ต่อมาได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตรใจความว่า  ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ  ๕  ประการ  คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศ  นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่ได้เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา  แล้วตรัสสอนให้อบรมจิตคิดให้เหมือนกับธาตุแต่ละอย่างว่า  แม้จะมีสิ่งที่น่าปรารถนา  หรือไม่น่าปรารถนา  ถูกต้อง  ก็ไม่มีอาการพอใจรักใคร่  หรือเบื่อหน่ายเกลียดชัง
สุดท้ายทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา  เพื่อละพยาบาท  เจริญกรุณาภาวนาเพื่อละวิหิงสา  เจริญมุทิตาภาวนา  เพื่อละความริษยา  เจริญอุเบกขาภาวนา  เพื่อละความขัดใจ  เจริญอสุภภาวนา  เพื่อละราคะ  เจริญอนิจสัญญาภาวนา  เพื่อละอัสมิมานะ  ท่านได้พยายามฝึกใจไปตามนั้น  ในที่สุดได้สำเร็จพระอรหัตผล
๓.  งานประกาศพระศาสนา
พระราหุลเถระนี้  ถึงแม้จะไม่มีในตำนานว่า  ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง  แต่ปฏิปทาของท่าน  ก็นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาแก่บุคคลผู้ได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลัง  ว่าท่านนั้นพร้อมด้วยสมบัติ  ๒  ประการ  คือ  ชาติสมบัติและปฏิปัตติสมบัติ  เป็นผู้ไม่ประมาทรักษาศีล  สนใจใคร่ศึกษา  เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์  มีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม  มีความยินดีในพระศาสนา
๔. เอตทัคคะ
พระราหุลเถระนี้  เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา  ดังได้กล่าวมาแล้ว  เพราะฉะนั้นท่านจึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า  เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้ใคร่ในการศึกษา
๕.  บุญญาธิการ
พระราหุลเถระนี้  ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ  อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า  ได้บังเกิดในเรือนผู้มีสกุล  ครั้นรู้เดียงสาแล้ว  ได้ฟังธรรมของพระศาสดาเห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้ใคร่ต่อการศึกษา  จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง  แล้วได้สร้างความดีมากมาย  มีการทำความสะอาดเสนาสนะ  และการทำประทีปให้สว่างไสวเป็นต้น  ผ่านพ้นไปอีกหลายพุทธันดร  สุดท้ายได้รับพรที่ปรารถนาไว้  ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย  ดังได้กล่าวมา
๖.  ธรรมวาทะ
สัตว์ทั้งหลาย  เป็นดังคนตาบอด  เพราะไม่เห็นโทษในกาม  ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้  ถูกหลังคาคือ  ตัณหาปกปิดไว้  ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือความประมาทเหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบเราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว  ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว  ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว  เป็นผู้เยือกเย็น  ดับแล้ว
๗.  ปรินิพพาน
พระราหุลเถระ  ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดอายุไขยของท่าน  สุดท้ายได้ปรินิพพานดับสังขาร  เหมือนกับไฟที่เผาเชื้อหมดแล้วก็ดับไป  ณ  แท่นกัมพลศิลาอาสน์  ที่ประทับของท้าวสักกเทวราช
****************************************
๑๓.  ประวัติ  พระอุบาลีเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระอุบาลีเถระ  นามเดิม  อุบาลี  หมายความว่าใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้งหลาย  เกิดในครอบครัวช่างกัลบก  ของศากยกษัตริย์ในนครกบิลพัสดุ์
อุบาลีนั้น  ครั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ทั้ง  ๖  มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น  จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธสาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  เมื่อพระโอรสของศากยกษัตริย์ทั้งหลายบวชกันเป็นจำนวนมาก เหล่าพระญาติเห็นศากยะ  ๖  พระองค์เหล่านี้  คือ  ภัททิยราชา  อนุรุทธะ  อานันทะ  ภคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  ยังไม่ได้ออกบวช  จึงสนทนากันว่า  คนอื่นเขาให้ลูก ๆ บวชกัน  คนจากตระกูลเรายังไม่ได้ออกบวชเลย  เหมือนกับไม่ใช่ญาติของพระศาสดา  ในที่สุดกษัตริย์ทั้ง  ๖  จึงตัดสินพระทัยออกบวช  โดยมีนายอุบาลีภูษามาลาตามเสด็จไปด้วย  เมื่อเข้าสู่แว่นแคว้นกษัตริย์อื่นจึงให้นายอุบาลีกลับ  นายอุบาลีกลับมาได้หน่อยหนึ่ง  ได้ตัดสินใจบวชบ้าง  แล้วได้ร่วมเดินทางไปกับกษัตริย์ทั้ง  ๖  จึงรวมเป็น  ๗  คนด้วยกัน  เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน  กษัตริย์ทั้ง  ๖  ได้กราบทูลว่า  ขอพระองค์โปรดบวชให้อุบาลีก่อน  ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ทำสามีจิกรรม  มีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา  วิธีนี้จะทำให้มานะของพวกข้าพระองค์สร่างสิ้นไป  พระศาสดาได้ทรงจัดการบวชให้พวกเขาตามประสงค์  พระอุบาลีเถระนั้น  ครั้นบวชแล้ว  เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่า  พระศาสดาตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุ  เมื่ออยู่ป่า  ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม  แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา  ทั้งวิปัสสนาธุระ  และคันถธุระจะบริบูรณ์  พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว  กระทำวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๓.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นแก่พระอุบาลีนั้นด้วยพระองค์เอง  ท่านจึงเป็นผู้ทรงจำ  และชำนาญในพระวินัยปิฎก  ครั้นพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  ได้มีการทำสังคายนา  พระธรรมวินัยครั้งแรกโดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน  พระสงฆ์ได้เลือกท่านเป็นผู้วิสัชชนา  พระวินัยปิฎก  ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
๔.  เอตทัคคะ
พระอุบาลีเถระ  ได้เรียนพระวินัยปิฎกทั้งหมดจากพระโอษฐ์ของพระศาสดาโดยตรง  จึงมีความชำนาญในพระวินัย  เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้เป็นวินัยธร  ( ผู้ทรงพระวินัย )
๕.  บุญญาธิการ
พระอุบาลีเถระนั้น ได้กระทำบุญญาธิการอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระนิพพานมานานแสนนาน  จนกระทั่งถึงสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์  อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งไปฟังธรรมของพระศาสดาได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้ทรงพระวินัย  ศรัทธา  เลื่อมใส  ปรารถนาฐานันดรนั้น  จึงสร้างสมบุญกุศลตลอดมาหลายพุทธันดร  สุดท้ายได้สมปรารถนาในพระศาสนาของพระสมณโคดม  ศาสดาแห่งพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้
๖.  ธรรมวาทะ
ยาสำรอกของบุคคลบางพวก  เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก  ยาพิษร้ายของบุคคลบางพวก  เป็นยารักษาโรคของบุคคลบางพวก
ใคร ๆ เห็นผ้ากาสาวพัสดุ์อันเขาทิ้งไว้ที่หนทาง  เปื้อนของไม่สะอาด  เป็นธงชัยของฤาษี  พึงประนมมือไหว้  เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนั้น
๗.  ปรินิพพาน
พระอุบาลีเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว  ก็ได้ร่วมทำสังคายนาครั้งแรกโดยเป็นผู้วิสัชชนาพระวินัย  สุดท้ายได้ปรินิพพาน  ดังประทีปที่โชติช่วงชัชวาลเต็มที่แล้วค่อย ๆ  มอดดับไป
**************************************
๑๔.  ประวัติ  พระภัททิยเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระภัททิยเถระ  พระนามเดิม  ภัททิยะ
พระมารดา  พระนามว่า  กาฬีโคธาราชเทวี  เป็นพระนางศากยกัญญาในนครกบิลพัสดุ์
เกิดที่พระนครกบิลพัสดุ์ ในวรรณะกษัตริย์
พระภัททิยเถระ  ก่อนบวชเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง  มีพระสหายสนิท  คือ  เจ้าชายอนุรุทธะ  เจ้าชายอานนท์  เจ้าชายภคุ  เจ้าชายกิมพิละ  และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเจ้าภัททิยะทรงเจริญวัยแล้ว  ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์  ต่อมา  ถูกเจ้าชายอนุรุทธะ  ซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช  จึงได้ทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติเสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดา  ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละและได้ผนวชพร้อมด้วยพระราชกุมาร  ๕  พระองค์  คือ  อนุรุทธะ  อานันทะ  ภคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  รวมทั้งนายภูษามาลา  นามว่า  อุบาลีด้วย  จึงเป็น  ๗  คน
พระภัททิยะ  บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน  เป็นผู้ไม่ประมาท  พากเพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรม  ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษาที่บวชนั่นเอง
๓.  งานประกาศศาสนา
พระภัททิยะเถระนี้  ท่านจะอยู่ตามโคนไม้ ป่าช้าและเรือนว่าง  จะเปล่งอุทานเสมอว่า  สุขหนอๆ  พระศาสดาทรงเรียกท่านมา  แล้วตรัสถามว่า   จริงหรือภัททิยะที่เธอเปล่งอุทานอย่างนั้น   ท่านกราบทูลว่า   จริงพระเจ้าข้า   เธอมีความรู้สึกอย่างไรจึงได้เปล่งอุทานเช่นนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายใน  และภายนอกทั่วอาณาเขต  แม้ข้าพระองค์จัดการอารักขาอย่างนี้ก็ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยอยู่เป็นนิตย์  แต่บัดนี้ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ป่า  โคนต้นไม้  หรือในเรือนว่าง  ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งต่อภัยใด ๆ  เลย  อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพวันละมื้อ  จิตใจเป็นอิสระ  ไม่มีพันธะใด ๆ  ข้าพระองค์มีความรู้สึก  อย่างนี้  จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น  พระเจ้าข้า  พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น  จึงชมเชยท่าน  ปฏิปทาของท่านนำมาซึ่งความเลื่อมใสของคนทั้งหลายเป็นจำนวนมาก
๔.  เอตทัคะ
พระภัททิยเถระนี้  ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นราชาแล้ว  ได้สละราชสมบัติออกบวชด้วยเหตุนั้น  จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง
๕.  บุญญาธิการ
แม้พระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพาน  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เกิดในตระกูลอันสมบูรณ์  ด้วยสมบัติ  เจริญวัย  ได้ภรรยาและบุตรธิดาแล้วมีจิตเลื่อมใสมีใจโสมนัส  ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  นำเสด็จมาสู่เรือนของตน  ได้ถวายภัตตาหารแล้วได้ถวายอาสนะที่ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันงดงาม  ต่อมาได้ทำบุญมีทาน  ศีล และภาวนาเป็นประธาน  ตลอดกาลยาวนาน  จนได้บรรลุสาวกบารมีญาณในชาติสุดท้าย  ฆราวาสวิสัยได้เป็นราชา  ออกบรรพชาได้สำเร็จพระอรหันต์
๖.  ธรรมวาทะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อก่อนโน้น  ข้าพระองค์ครองราชสมบัติ  ได้จัดการอารักขาไว้อย่างดีในที่ทุกสถาน  ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ด้วยความกลัวภัย  หลับไม่สนิทมีจิตคิดระแวง  แต่บัดนี้  ข้าพระองค์บวชแล้ว  อยู่อย่างไม่มีภัย  ไม่มีเรื่องให้ต้องคิดระแวง
๗.  ปรินิพพาน
พระภัททิยเถระนี้  ท่านได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา  สิ้นชาติ  สิ้นภพ  อยู่จบพรหมจรรย์  กิจส่วนตัวของท่านไม่มี  มีแต่หน้าที่ประกาศศาสนา  นำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่สังคม  สุดท้ายท่านได้ปรินิพพานตามธรรมดาของสังขารที่เกิดมาแล้วต้องดับไป
***********************************
๑๕.  ประวัติ  พระอนุรุทธะเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระอนุรุทธเถระ  พระนามเดิม  เจ้าชายอนุรุทธะ  เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้
พระบิดา  พระนามว่า  อมิโตทนะ  เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโะทนะ  มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน  ๒  พระองค์  คือ  ๑.  พระเชษฐา  พระนามว่า  เจ้าชายมหานามะ  ๒.  พระกนิษฐภคินี  พระนามว่า  โรหิณี
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงทำการสงเคราะห์ญาติ  แล้วเสด็จจากกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน  สมัยนั้น  เจ้าชายมหานามะ  เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ  ตรัสว่า  พ่ออนุรุทธะบัดนี้  ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย  เธอหรือพี่จะต้องบวช  ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเองจึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก  ๕  พระองค์คือ  ภัททิยะ  อานันทะ  ภคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา  ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน  ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓.  การบรรลุธรรม
พระอนุรุทธเถระนี้  ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดีแล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน  ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม  ตรึกมหาปุริสวิตกได้  ๗  ข้อ  คือ
๑.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย  ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่  ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว  ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร  ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง  ไม่ใช่ของคนหลง
๖.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง  ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
  ๗.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา  ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา
พระศาสดาทรงทราบว่า  ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่  ๘  จึงเสด็จไปยังที่นั้นตรัสอริยวังสปฏิปทา  ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย  ๔  และยินดีในการเจริญกุศลธรรม  แล้วตรัสมหา   ปุริสวิตก  ข้อที่  ๘  ให้ บริบูรณ์
๘.  ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า  ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน  ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์  เป็นพระอรหันต์ มีวิชา  ๓
๔.  งานประกาศพระศาสนา
ชีวประวัติของท่านน่าศรัทธาเลื่อมใส  จากผู้ที่เป็นสุขุมาลาชาติที่สุด  ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า  ไม่มี  ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น  แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ  เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม  โดยไม่มีความรังเกียจ  กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ  ปฏิบัติตามนิสัย  คือที่พึงพาอาศัยของภิกษุ  ๔  ประการ
๕.  เอตทัคคะ
พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา  ๓  คือ  บุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ทิพยจักขุญาณ  และอาสวักขยญาณ  ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น  นอกนั้นท่านจะพิจารณาตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ  ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา)  เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุญาณ
๖.  บุญญาธิการ
พระอนุรุทธเถระนี้  ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก  คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์  ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้บรรลุทิพยจักษุญาณ  สมกับปณิธานที่ตั้งไว้
๗.  ปรินิพพาน
พระอนุรุทธเถระ  ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ  สิ้นชาติสิ้นภพ  อยู่จบพรหมจรรย์เสร็จหน้าที่ส่วนตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน  ก็ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย  เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร  อย่างไร  สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารปรินิพพาน  ไปตามสัจธรรม
************************************
๑๖.  ประวัติ พระอานนทเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระอานนทเถระ  นามเดิม  อานนท์  มีความหมายว่า  เกิดมาทำให้พระประยูรญาติต่างยินดี
พระบิดา  พระนามว่า  สุกโกทนะ  พระกนิฏฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ( แต่อรรถกถาส่วนมากกว่าว่า  เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ )
พระมารดา  พระนามว่า  กีสาโคตมี  เกิดที่นครกบิลพัสดุ์  วรรณะกษัตริย์  เป็นสหชาติ  กับพระศาสดา
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระอานนทเถระนี้  ได้บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชปรารภของพระเจ้า  สุทโธทนะ  ที่ประสงค์  จะให้ศากยกุมารทั้งหลายบวชตามพระพุทธองค์  จึงพร้อมด้วยพระสหายอีก  ๕  พระองค์  และนายอุบาลี  ผู้เป็นภูษามาลา  มุ่งหน้าไปยังอนุปิยอัมพวันแคว้นมัลละ  เฝ้าพระศาสดา  ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
๓.  การบรรลุธรรม
พระอานนทเถระ  บวชได้ไม่นานก็บรรลุโสดาปัตติผล  แต่ไม่สามารถจะบรรลุพระอรหัตได้  เพราะต้องขวนขวายอุปัฏฐากพระพุทธองค์  ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนทำปฐมสังคายนา  ๑  คืน  หลังพระศาสดาปรินิพพานแล้ว  พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า  ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหวังจักสำเร็จพระอรหันต์ก่อนการสังคายนา  แต่ก็หาสำเร็จไม่เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน  จึงหยุดจงกรม  นั่งลงบนเตียง  เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อนพอยกเท้าพ้นจากพื้นที่  ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ตอนนี้เอง  จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากสรรพกิเลส  เป็นสมุจเฉทปหาน  นับเป็นการบรรลุพระอรหันต์  แปลกจากท่านเหล่าอื่น  เพราะไม่ใช่  เดิน  ยืน  นั่ง  นอน
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระอานนทเถระนี้  เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งของพระศาสดาในการประกาสพระศาสนาแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงเลื่อมใสท่าน  ตามตำนานเล่าว่า  ครั้งปฐมโพธิกาลเวลา  ๒๐  ปี  พระศาสดาไม่มีพระผู้อุปัฏฐากเป็นประจำ  อยู่มาวันหนึ่งได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า  บัดนี้เราแก่แล้ว  ภิกษุบางพวกเมื่อเราบอกว่าจะไปทางนี้กลับไปเสียทางอื่น  บางพวกวางบาตรและจีวรของเราไว้ที่พื้น  ท่านทั้งหลายจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ  ตั้งแต่พระสารีบุตรเถระเป็นต้นไป ต่างก็กราบทูลว่า  จะรับหน้าที่นั้น  แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ  คงเหลือแต่พระอานนทเถระเท่านั้นที่ยังไม่ได้กราบทูล
ภิกษุทั้งหลายจึงให้พระอานนทเถระรับตำแหน่งนั้น  พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
๑.  จะไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์
๒.  จะไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓.  จะไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน
๔.  จะไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์
๕.  จะเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้
๖.  ข้าพระองค์จะนำบุคคลผู้มาจากที่อื่นเข้าเฝ้าได้ทันที
๗.  เมื่อใดข้าพระองค์เกิดความสงสัย  ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น
๘.  ถ้าพระองค์จะทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์
เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า
การปฏิเสธ  ๔  ข้อข้างต้นก็เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนว่า  อุปัฏฐากพระศาสดาเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
การทูลขอ  ๔  ข้อหลัง  เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนว่า  แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดา  และเพื่อจะทำขุนคลังแห่งธรรมให้บริบูรณ์
พระศาสดาทรงรับท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก  ท่านจึงเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามพระศาสดาไปทุกหนทุกแห่ง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่พุทธบริษัททั้ง  ๔  แม้พระศาสดาก็ทรงสรรเสริญท่านว่า  เป็นพหุสูตร  คือรู้พระธรรมวินัยทุกอย่าง  เป็นผู้มีสติ  คือมีความรอบคอบ  ดังจะเห็นได้จากการทูลขอพร  ๘  ประการ  มีคติ  คือเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ  (มีเหตุผล)  ไม่ใช้อารมณ์  มีธิติ  คือ  มีปัญญา  และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
งานประกาศศาสนาที่สำคัญที่สุดของท่านคือ  ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์องค์อรหันต์  ๕๐๐  รูป  ให้เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม  คือ  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก  เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรก  ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาจนถึงสมัยแห่งเราทั้งหลายทุกวันนี้
๕.  เอตทัคคะ
เพราะพระอานนทเถระ เป็นผู้ทรงธรรมวินัยมีความรอบคอบ  หนักในเหตุผล  มีปัญญาแก้ปัญหาต่าง  ๆ  และอุปัฏฐากพระศาสดา  โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน  หวังให้ผลแก่พระพุทธศาสนา  ในอนาคตกาลภายภาคหน้า  องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญท่านโดยอเนกปริยาย  และตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้เป็นพหุสูตร  มีสติ  มีคติ  มีธิติ  และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
๖.  บุญญาธิการ
แม้พระอานนทเถระนี้  ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า  ได้เห็นพระสุมนเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้สามารถจัดการให้คนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ดังประสงค์  จึงเกิดความพอใจอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง  จึงได้บำเพ็ญบารมี  ๑๐  ประการ  ผ่านมาหลายพุทธันดร  จนมาถึงกาลแห่งพระโคดมจึงได้สมความปรารถนา
๗.  ธรรมวาทะ
ผู้เป็นบัณฑิต  ไม่ควรทำความเป็นสหายกับคนส่อเสียด  คนมักโกรธ  คนตระหนี่และคนชอบเห็นความวิบัติของคนอื่น  การคบกับคนชั่วนั้นเป็นความต่ำช้า
ผู้เป็นบัณฑิต  ควรทำความเป็นสหายกับคนมีศรัทธา  มีศีล  มีปัญญา  และเป็นคนสนใจใคร่ศึกษา  การคบกับคนดีเช่นนั้น  เป็นความเจริญแก่ตน
๘.  ปรินิพพาน
พระอานนทเถระ  เมื่อพิจารณาเห็นว่า  ถึงเวลาสมควรจะปรินิพพาน  จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี  ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์  แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศปรินิพพานอธิฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น  ๒  ส่วน  ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์  อีกส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์  เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง  ๒  ฝ่าย
*********************************
๑๗.  ประวัติ  พระโสณโกฬิวิสเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโสณโกฬวิสเถระ  นามเดิม  โสณะ  เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง  ส่วนโกฬิวิสะ  เป็นชื่อ  แห่งโคตร
บิดานามว่า  อุสภเศรษฐี  มีถิ่นฐานอยู่ในนครจำปา
เป็นคนสุขุมาลชาติมีโลมาที่ละเอียดอ่อน  เกิดที่ฝ่าเท้าสองข้าง
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โสณะนั้นเป็นคนสุขุมาลชาติ  มีโลมาที่ละเอียดอ่อนเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง  พระเจ้าพิมพิสาร  พระเจ้าแผ่นดินมคธ  มีความประสงค์จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของนายโสณะนั้น  จึงรับสั่งให้เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  ซึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์
โสณโกฬิวิสะ  พร้อมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามรับสั่งได้ฟังพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา  และอริยสัจ  ๔  ชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย  แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
ฝ่ายโสณโกฬิวิสะ  เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเห็นว่า  พรหมจรรย์อันผู้ครองเรือนจะประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์และบริบูรณ์นั้น  ทำยาก  ขอพระองค์จงโปรดให้ข้าพระองค์บวชเถิด  พระพุทธเจ้าได้บวชให้เขาตามประสงค์
๓.  การบรรลุธรรม
พระโสณโกฬิวิสะ  ครั้นบวชแล้ว  ได้ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าสีตวันใกล้เมืองราชคฤห์นั่นเอง  เดินจงกรมด้วยเท้า  ด้วยเข่า  และมือ  จนเท้า  เข่า  และมือแตก  แต่ก็ไม่บรรลุผลอะไร  เพราะความเพียรที่มากเกินไป  ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน  คิดน้อยใจตัวเองว่ามีความเพียรมากถึงเพียงนี้  ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล  พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านจึงเสด็จไปแสดงธรรมโปรด  โดยเปรียบเทียบกับพิณ  ๓  สาย  ว่า  สายพิณที่ขึงตึงเกินไปและหย่อนเกินไป  จะมีเสียงไม่ไพเราะ  ต้องขึงให้ได้ระดับพอดี  เวลาดีดจึงจะมีเสียงที่ไพเราะ
ครั้นได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้ว  ท่านปรับความเพียรกับสมาธิให้เสมอกันบำเพ็ญเพียรแต่พอดี  ไม่ตึงนัก  ไม่หย่อนนัก  ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้  เป็นอุทาหรณ์สำคัญ  สำหรับผู้ที่นิยมการปฏิบัติ
อัตตกิลมถานุโยคว่า  วิธีนั้นไม่สามารถจะทำให้บุคคลบรรลุผลที่ต้องการได้เลย  ครั้นสำเร็จเป็นอรหันต์แล้วได้แสดงคุณสมบัติของพระอรหัตน์ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่าภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจิตใจน้อมเข้าไปในคุณ  ๖  ประการ  คือ
๑.  น้อมเข้าไปในบรรพชา
๒.  น้อมเข้าไปในความสงัด
๓.  น้อมเข้าไปในความสำรวมไม่เบียดเบียน
๔.  น้อมเข้าไปในความไม่ถือมั่น
๕.  น้อมเข้าไปในความไม่มีความอยาก
๖.  น้อมเข้าไปในความไม่หลง
พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้ว  ตรัสสรรเสริญท่านว่า  พยากรณ์พระอรหัต
กล่าวแต่เนื้อความ  ไม่นำตนเข้าไปเปรียบเทียบ
๕.  เอตทัคคะ
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้  ครั้งยังไม่บรรลุพระอรหัตได้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า  ดังได้กล่าวมา  พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
๖.  บุญญาธิการ
แม้พระโสณโกฬิวิสเถระ ก็ได้บำเพ็ญคุณงามความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนานหลายพุทธันดร  จนได้รับพยากรณ์จากพระปทุมุตตรศาสดาว่า  จะได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ  ด้านปรารภความเพียรในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม  ครั้นได้รับพยากรณ์แล้ว  ท่านได้บำเพ็ญความดี  ที่สามารถสนับสนุนความปรารถนานั้นอย่างอื่นอีกมากมายหลายพุทธันดร โดยไม่มีความท้อแท้ใจ  คล้ายกับจะได้รับผลในวันพรุ่งนี้  ในที่สุดบารมีของตนก็สัมฤทธิ์ผลในศาสนาของพระทศพลพระนามว่า  โคดม  ดังกล่าวมา
๗.  ธรรมวาทะ
ผู้ที่ทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ  ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ  ทุกข์โทษทั้งหลายย่อมประดังมาหาเขา  ผู้มัวเมา  ประมาท  และเย่อหยิ่งจองหอง
ผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรทำ  พากเพียรพยายามทำแต่สิ่งที่ควรทำ  มีสติสัมปชัญญะ  ทุกข์โทษทั้งหลาย  ย่อมสูญหายไปจากเขา
๘.  ปรินิพพาน
พระโสณโกฬิวิสเถระนี้  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา  จนถึงเวลาอายุขัย  จึงได้ปรินิพพานจากโลกนี้ไป  เปรียบเหมือนไฟที่หมดเชื่อแล้วมอดดับไป
************************************
๑๘.  ประวัติ  พระรัฐบาลเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระรัฐบาลเถระ  นามเดิม  รัฐบาล  แปลว่า  ผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะต้นตระกูลของท่านได้ช่วย  กอบกู้แคว้นที่อยู่อาศัย  ซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้  ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้นตามตระกูล
เกิดที่ถุลลโกฏฐิตนิคม  แคว้นกุรุ  วรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม  แคว้นกุรุ  บ้านเกิดของท่าน  ชาวกุรุได้พากันมาฟังธรรม  รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย  หลังจากฟังธรรมแล้วประชาชนได้กลับไป  ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช  พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน
เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดา  เพื่อจะบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงอดอาหาร  บิดาและมารดา  กลัวลูกตายสุดท้ายจึงอนุญาตให้บวชตามประสงค์  เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชได้  โดยมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์
๓.  การบรรลุธรรม
เมื่อพระรัฐบาลเถระบวชได้ประมาณ  ๑๕  วัน  พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคม  ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี  โดยมีพระรัฐบาลตามเสด็จไปด้วย  ท่านได้พากเพียรเจริญภาวนา  ใช้เวลาถึง  ๑๒  ปี  จึงบรรลุพระอรหัต
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระรัฐบาลเถระนั้น  ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้วได้กลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิดของท่าน  โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ท่านพักอยู่ที่มิคจิรวันอันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ  เจ้าผู้ครองแคว้นกุรุ
ต่อมาวันหนึ่ง  พระเจ้าโกรัพยะเสด็จประพาสพระราชอุทยานทอดเนตรเห็นท่านทรงจำได้เพราะเคยรู้จักมาก่อน  จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรม  ได้ตรัสถามว่า  บุคคลบางพวกประสบความเสื่อม  ๔  อย่าง  คือ  ๑.  ความชรา  ๒.  ความเจ็บ  ๓.  ความสิ้นโภคทรัพย์  ๔.  ความสิ้นญาติ  จึงออกบวช  แต่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น  ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช
พระเถระได้ทูลตอบว่า  ถวายพระพรมหาบพิตร  ธรรมุทเทศ  ( หัวข้อธรรม )  ๔  ประการ  พระศาสดาจารย์ทรงแสดงไว้แล้ว  อาตมภาพรู้เห็นตามธรรมนั้น  จึงออกบวชธรรมุทเทศ  ๔  ประการนั้น  มีใจความว่า
๑.  โลกคือหมู่สัตว์  อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
๒.  โลกคือหมู่สัตว์  ไม่มีผู้ป้องกัน  ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
๓.  โลกคือหมู่สัตว์  ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ  ทุกคน  จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔.  โลกคือหมู่สัตว์  พร่องอยู่เป็นนิตย์  ไม่รู้จักอิ่ม  เป็นทาสแห่งตัณหา
พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสธรรมะของท่าน  ตรัสชมเชยท่านอย่างมาก  แล้วได้ทรงลากลับไป
๕.  เอตทัคคะ
พระรัฐบาลเถระ  เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสตั้งใจบวชในพระพุทธศาสนาแต่กว่าจะบวชได้ก็แสนจะลำบาก  ต้องเอาชีวิตเข้าแลก  ดังนั้น  พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้บวชด้วยศรัทธา
๖. บุญญาธิการ
แม้พระรัฐบาลเถระนี้  ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้มากมายหลายพุทธันดร  จนมาได้รับพยากรณ์ว่า  จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า  ปทุมุตตระ  ต่อจากนั้นก็มีศรัทธาสร้างความดี  ไม่มีความย่อท้อ  จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย  จึงได้ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ  มีประการดังกล่าวมา
๗.  ธรรมวาทะ
บุตรธิดา  ภรรยาสามี  ทรัพย์และแว่นแคว้นติดตามคนตายไปไม่ได้
เงินซื้อชีวิตไม่ได้  ช่วยให้พ้นความแก่ไม่ได้
ทั้งคนจนและคนมี  ทั้งคนดีและคนชั่ว  ล้วนถูกต้องผัสสะ (เห็นได้ยิน เป็นต้น)  ทั้งนั้น  คนชั่วย่อมหวั่นไหว  เพราะความเป็นคนพาล  แต่คนดีย่อมไม่มีหวั่นไหว
๘.  ปรินิพพาน
พระรัฐบาลเถระ  ครั้นจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมา สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสลนิพพาน  หยุดวัฏฏสงสารโดยสิ้นเชิง
**********************************
๑๙.  ประวัติ  พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ  นามเดิม  ภารทวาชะ
บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน
เกิดในแคว้นวังสะ  วรรณะพราหมณ์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ภารทวาชะนั้น  ครั้นเจริญวัย  ได้ศึกษาแบบพราหมณ์จบไตรเพท  แล้วได้เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ  ๕๐๐  คน  ต่อมาถูกศิษย์ทอดทิ้งเพราะกินจุ  จึงไปยังเมืองราชคฤห์สอนมนต์อยู่ที่นั่น  เขาได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระมหาสาวกมีลาภมาก  มีความปรารถนาจะได้ลาภเช่นนั้นบ้าง  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระพุทธองค์ทรงบวชให้เขาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓.  การบรรลุธรรม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ  ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ  เนื่องจากฉันอาหารจุถึงถูกขนานนามเพิ่มว่า  ปิณโฑลภารทวาชะ  พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น  จึงทรงใช้อุบายวิธีแนะนำท่านให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร  ท่านค่อย ๆ  ฝึกฝนตนเองไปจึงกลายเป็นผู้รู้ประมาณ  ต่อจากนั้นไม่นานได้พยายามบำเพ็ญสมณธรรม  ก็ได้บรรลุอรหัตผล  พร้อมอภิญญา  ๖
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ  ได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งของพระศาสดา  ได้
 รับคำท้าประลองฤทธิ์  กับพวกเดียรถีย์ที่บ้านของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์  โดยเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่เศรษฐีนั้น  แขวนเอาไว้ในที่สูงพอประมาณ  เพื่อทดสอบว่ามีพระอรหันต์ในโลกจริงหรือไม่
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  ท่านไปยังแคว้นวังสะ  นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน  พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบ  และได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระหนุ่ม ๆ  ในพระพุทธศาสนาบวชอยู่ได้อย่างไร  ท่านได้ทูลว่า  พระเหล่านั้น  ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา  คือระวังอินทรีย์ไม่ให้ยินดียินร้าย  ไม่ยึดถืออะไรที่ผิดจากความจริง  พระเจ้าอุเทนทรงเข้าใจ  และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ประกาศพระวาจานับถือพระรัตนตรัย
๕.  เอตทัคคะ
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ  มีความมั่นใจตนเองมาก  เมื่ออยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้แต่หน้าพระพักตร์ของพระศาสดาก็จะเปล่งวาจาบันลือสีหนาทว่า  ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล  ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า  เพราะเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้บันลือสีหนาท
๗.  บุญญาธิการ
พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้  ในพุทธุปบาทกาลของพระปทุมุตตระได้เกิดเป็นราชสีห์อยู่ในถ้ำแห่งภูเขาแห่งหนึ่ง  เวลาออกไปหาเหยื่อ  พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งในถ้ำของเขา  แล้วทรง  เข้านิโรธสมาบัติ  ราชสีห์กลับมาเห็นดังนั้น  ทั้งร่าเริงและยินดี  บูชาด้วยดอกไม้  ทำใจให้เลื่อมใส  ล่วง  ๗  วันไป  พระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติเหาะขึ้นสู่อากาศกลับไปยังวิหาร  ราชสีห์นั้นหัวใจสลายแตกตายไป  เพราะความพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า  ได้บังเกิดเป็นลูกเศรษฐีในพระนครหังสวดี  ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทำบุญ  คือทาน  ศีล  ภาวนา  ตลอดมา  เขาได้ทำบุญอย่างนั้นอีกนับภพและชาติไม่ถ้วน  สุดท้ายได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณในพุทธุปบาทกาลแห่งพระโคดม  ดังได้กล่าวมา
๗.  ธรรมวาทะ
การไหว้และการบูชาจากผู้คนในตระกูลทั้งหลาย  นักปราชญ์  กล่าวว่า เป็นเปือกตม  เป็นลูกศร  ที่เล็กนิดเดียว  แต่ถอนได้ยากที่สุด
คนชั้นต่ำ  ยากที่จะละสักการะได้
๘.  ปรินิพพาน
แม้พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้  เมื่อได้บรรลุอรหัตผล  แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  ไปถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วได้ปรินิพพานดับไป
*********************************
๒๐.  ประวัติ  พระมหาปันถกเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระมหาปันถกเถระ  นามเดิม  ปันถกะ  เพราะเกิดในระหว่างทาง  ต่อมามีน้องชายจึงเติมคำว่า  มหาเข้ามา  เป็นมหาปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์
ตระกูลตาและยายเป็นชาวเมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระ  เพราะบิดาของท่านเป็นทาส  มารดาเป็นธิดาของเศรษฐีจึงอยู่ในฐานะจัณฑาล  เพราะการแบ่งชั้นวรรณะของคนอินเดียในสมัยนั้น  ครั้นรู้เดียงสา  จึงรบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตระกูลของคุณตา  มารดาจึงส่งไปให้คุณตาและคุณยายจึงได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญเติบโตในบ้านของธนเศรษฐี
คุณตาของเด็กชายปันถกะนั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นประจำ และได้พาเขาไปด้วย  เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าพร้อมกับการเห็นครั้งแรก  ต่อมามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา  จึงเรียนให้คุณตาทราบ  คุณตาจึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  กราบทูลให้ทรงทราบ  พระพุทธองค์จึงสั่งให้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งบรรพชาให้
๓.  การบรรลุธรรม
สามเณรปันถกะนั้น  เรียนพุทธพจน์ได้มาก  ครั้นอายุครบจึงได้อุปสมบทได้ทำการพิจารณาอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน  ๔  เป็นพิเศษ  ออกจากอรูปฌานนั้นแล้วเจริญวิปัสสนา  ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย  ผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา  คือเปลี่ยนอรูปฌานจิตให้เป็นวิปัสสนา
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว  คิดว่าสมควรจะรับภาระรับใช้สงฆ์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลรับอาสาทำหน้าที่เป็นพระภัตตุทเทศก์จัดพระไปในกิจนิมนต์  พระทศพลทรงอนุมัติตำแหน่งนั้นแก่ท่าน  และท่านได้ทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
๕.  เอตทัคคะ
พระมหาปันถกเถระ  ก่อนสำเร็จพระอรหันต์  ท่านได้อรูปฌานซึ่งเป็นฌานที่ไม่มีรูปมีแต่นาม  คือสัญญาที่ละเอียดที่สุด  ออกจากอรูปฌานนั้นแล้ว  เจริญวิปัสสนามี
อรูปฌานเป็นอารมณ์  จนได้สำเร็จพระอรหัตผล  ซึ่งเป็นวิธีที่ยาก  เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา
๖.  บุญญาธิการ
แม้พระมหาปันถกเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงสัญญา (จากอรูปฌานให้สำเร็จวิปัสสนาญาณ)  จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วได้ทำกุศลอันอุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนานั้นมากอีก  ๑  แสนกัป  ในที่สุดจึงได้บรรลุผลนั้นตามความปรารถนาในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้
๗.  ธรรมวาทะ
ผู้ที่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  แต่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป  โดยไม่
สนใจโอวาทของพระองค์  ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ  เปรียบเหมือนคนทำร้ายสิริที่เข้ามาหาตนถึงบนที่นอนแล้วขับไล่ไสส่งออกไป
๘.  ปรินิพพาน
มหาปันถกเถระ เมื่อถึงอายุขัยก็ได้ปรินิพพานจากโลกไป เป็นที่น่าสลดใจสำหรับบัณฑิตชน
*********************************


๒๑.  ประวัติพระจูฬปันถกเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระจูฬปันถกเถระ  นามเดิมว่า  ปันถกะ  เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา  และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ  จึงมีชื่อว่า  จูฬปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์  หรือไวศยะ
เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์  แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก  เพราะบิดาและมารดายากจนมาก  แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย  ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า  ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น  เป็นความสุขชั้นสูงสุด
อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง  จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชาย
มาบวช  ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต  จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา
๓.  การบรรลุธรรม
พระจูฬปันถกเถระนั้นครั้นบวชแล้ว พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บาท ใช้เวลา ๔ เดือนยังท่องไม่ได้ จึงถูกขับไล่ออกจากวัด  ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า รโชหรณํ  รโชหรณํ  (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไปสุดท้ายก็ดำเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านเกิดญาณว่า แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ จิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไป   จนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌาณแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
พระจูฬปันถกเถระ  หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว  แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า  ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา  จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม  แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา  สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง  ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร  จิตใจแน่วแน่  ไม่ย่นย่อท้อถอย  ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้  เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่  แต่ควรคิดก่อนว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า
๕.  เอตทัคคะ
พระจูฬปันถกเถระ  เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ  สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้และฉลาดในการพลิกแพลงจิต  ( จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา )  พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้พลิกแพลงจิต
๖.  บุญญาธิการ
แม้พระจูณปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน  จนในกาลแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตรกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต  ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  ได้ก่อสร้างบุญกุศล  สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระโคดม  จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร  มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ
๗.  ปรินิพพาน
พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป  เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง
***********************************
๒๒.  ประวัติ พระโสณกุฎิกัณณเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโสณกุฎิกัณณเถระ  นามเดิม  โสณะ  แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ  จึงมีคำต่อท้ายว่า  กุฏิกัณณะ
มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี  เป็นพระโสดาบัน  ผู้ถวายความอุปภัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ
เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ  แคว้นอวันตี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เพราะมารดาท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ  เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ  จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย  จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคย
กับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนาจึงขอบรรพชาอุปสมบทกับพระเถระ  ๆ  อธิบายให้ฟังว่า  การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไร  แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้  พระเถระจึงบวชให้ได้แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์  ๑๐  องค์ไม่ได้  ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่  ๓  ปี  จึงได้พระครบ  ๑๐  องค์  แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ  ครั้นบวชแล้ว  ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตผล
๓.  งานประกาศพระศาสนา
ครั้งหนึ่ง  โยมมารดาของท่านทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ปลื้มปิติใจ  จึงนิมนต์ให้แสดงธรรมให้ฟังบ้าง  ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา  โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี  แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น  พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน  คนใช้มารายงาน  ท่านก็ไม่มีความเสียดาย  บอกว่าโจรต้องการอะไร  ก็ให้ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด  ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย  พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย
พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้  รู้สึกสลดใจว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้  เป็นความไม่ดีเลย  จึงพากันไปยังวัด  เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง  ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ  ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์
๔.  เอตทัคคะ
พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงธรรมแบบสรภัญญะ  ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา  ดังนั้น  ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
๕.  บุญญาธิการ
แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น  อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจสมัยแห่งพระพุทธโคดม  จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร  จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลาย สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ
๖.  ปรินิพพาน
พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในที่สุดก็ปรินิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง
*****************************
๒๓.  ประวัติ พระลกุณฎกภัททิยะ
๑.  สถานะเดิม
พระลกุณฏกภัททิยะ  นามเดิม  ภัททิยะ  แต่เพราะร่างกายของเขาเตี้ยและเล็กจึงเรียกว่า  ลกุณฏกภัททิยะ
เป็นคนวรรณะแพศย์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทะศาสนา
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน ลกุณฏกภัททิยะเติบโตแล้วได้ไปยังวิหารฟังธรรมเทศนา  เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา  จึงทูลขอบวชกับพระศาสดา  ซึ่งก็ทรงบวชให้ตามประสงค์
เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐาน  พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนา  ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล
๓.  เอตทัคคะ
พระลกุณฏกภัททิยะนี้  เป็นผู้มีเสียงไพเราะ  เพราะเหตุนั้น  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงอันไพเราะ
๔.  บุญญาธิการ
แม้พระลกุณฏกทภัททิยะเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาช้านาน  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ  จึงเกิดกุศลฉันทะว่า  ไฉนหนอ  ในอนาคตกาลเราพึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะเหมือนภิกษุรูปนี้บ้าง  ในศาสนาของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง  แล้วได้ทำบุญต่าง ๆ  มากมาย และได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาอย่างนั้น  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่าโคดม  จึงได้สร้างความดีตลอดมาแล้วได้สมปรารถนาตามประสงค์  ดังคำของพุทธองค์ทุกประการ
๕.  ธรรมวาทะ
คนบางพวกเขารื่นเริงกันด้วยเสียงตะโพน  พิณ  และบัณเฑาะว์  ส่วนเรายินดีในพระพุทธศาสนา  จึงรื่นรมย์อยู่ที่โคนต้นไม้
ถ้าพระพุทธองค์  จะทรงประทานพรแก่เรา  และเราก็สามารถได้พรนั้นสมมโนรถ  เราจะเลือกเอาพรว่า  ขอให้ชาวโลกทั้งหมดเจริญกายคตาสติกัน
๖.  ปรินิพพาน
พระลกุณฏกภัททิยะ  ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกตามสมควรแก่เวลา  ก็
ได้ปรินิพพานหยุดการหมุนเวียนของวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง
******************************
๒๔.  ประวัติ  พระสุภูติเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระสุภูติเถระ นามเดิม  สุภูติ  เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรือง  (ผุดผ่อง)  อย่างยิ่ง
บิดานามว่า  สุมนเศรษฐี  ชาวเมืองสาวัตถี
เกิดที่เมืองสาวัตถี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์  เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา  อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์  ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา  จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวันแล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก  จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถี  ได้สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
ในวันฉลองมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา  เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช  พระศาสดาจึงบวชให้ตามประสงค์
เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน  ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน  บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า  เจริญวิปัสสนากรรมฐานทำเมตตาฌานให้เป็นบาท  แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน
๓.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว  ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น  คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม  ( กำหนด ) ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้  ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร  เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต  ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต  ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน  ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต  ทำอย่างนี้ทุก  ๆ เรือน  ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก  ประกอบร่างกายของท่านสง่างามและผิวพรรณผุดผ่อง  จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก
๔.  เอตทัคคะ
พระสุภูติเถระ  อยู่อย่างไม่มีกิเลส  แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร  จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา  แม้ขณะไปเที่ยวบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้  พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล
๕.  บุญญาธิการ
แม้พระสุภูติเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ  อรณวิหาร  ( รณ  แปลว่า  กิเลส )  การอยู่อย่างไม่มีกิเลส  และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมายแล้วได้ตั้งความปรารถนา  พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอน  จึงทรงพยากรณ์ว่า  จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม  ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา
๖.  ธรรมวาทะ
ควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้
ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา
๗.  ปรินิพพาน
พระสุภูติเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน  สุดท้ายได้  ดับขันธปรินิพพาน  เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้
******************************
๒๕.  ประวัติ  พระกังขาเรวตเถระ
๑  สถานะเดิม
พระกังขาเรวตเถระ  นามเดิม  เรวตะ  แต่เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ  ( สมควร )  มากเป็นพิเศษจึงได้รับขนานนามว่า  กังขาเรวตะ  แปลว่า  เรวตะผู้มีความสงสัย
เป็นชาวสาวัตถี  วรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนา  ส่วนมากจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีเป็นเวลาถึง  ๒๕  พรรษา  ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน  วันหนึ่งเรวตะได้ไปยังพระเชตวันพร้อมกับมหาชน ยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรมกถาของพระทศพล เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระศาสดาทรงบวชให้เขาตามปรารถนา
ครั้นได้บวชแล้ว  ทูลขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน  ทำบริกรรมในฌาน  ครั้นได้ฌานแล้ว  ทำฌานนั้นให้เป็นบาท  เจริญวิปัสสนาพิจารณาฌานนั้น  ว่าเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นความสุขอันเกิดจากฌานนั้น  ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  ซึ่งเป็นผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๓.  เอตทัคคะ
เพราะพระกังขาเรวตเถระ  เป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน  พระศาสดาจึงทรงถือเอาคุณข้อนี้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
๔.  บุญญาธิการ
แม้พระกังขาเรวตเถระนี้  ก็ได้สร้างความดีที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน จึงได้บำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่แล้วตั้งความปรารถนาโดยมีพระศาสดาเป็นพยานว่า  ที่ทำบุญนี้ข้าพระองค์มิได้ประสงค์สมบัติอื่น  หวังจะได้ตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ยินดีในการเข้าฌาน  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายหน้า  พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา  จึงได้พยากรณ์ว่าจะสำเร็จในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม  และเขาก็ได้สมปรารถนาตามพระพุทธวาจาทุกประการ
๕.  ปรินิพพาน
พระกังขาเรวตเถระ  ถึงแม้จะเชี่ยวชาญเรื่องเข้าฌาน ก็หนีมัจจุมารไม่พ้น  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานเหลือเพียงชื่อไว้ในตำนานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา
******************************
๒๖.  ประวัติ  พระโกณฑธานเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโกณฑธานเถระ  นามเดิม  ธานะ  ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านเพราะผลบาปในชาติก่อน  ภิกษุและสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อ
ท่านเพิ่มว่า  กุณฑธานะ  (  ธานะชั่ว )
เป็นคนวรรณะพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย  เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำ เกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา  จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์  ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา  ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว  เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน  เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี  เข้าบ้านเช่นไปบิณฑบาตก็ดี  จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ  แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ  และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย  เวลาคนใส่บาตบางคนก็บอกว่า  ส่วนนี้ของท่าน  ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย
พระภิกษุและสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ  วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน  พูดเยาะเย้ยว่า  พระธานะเป็นคนชั่ว  ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า  พวกท่านก็เป็นคนชั่ว  ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า ๆ  ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า  เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ  เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า  ย่อมด่าตอบเธอบ้าง  จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป    (สุดท้าย)  ก็มีการทำร้ายกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก  ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง  โดยมีพระะเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน  ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง  เป็นเรื่องเวรกรรมของท่าน ๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา  เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา  ๖
๓.  เอตทัคคะ
พระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์  ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ  พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน
๔.  ธรรมวาทะ
ผู้เห็นภัย
ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า  ๕  อย่าง  ( สังโยชน์เบื้องต้น  ๕ )
แก้บ่วงผูกคอ  ๕  อย่าง  (  สังโยชน์เบื้องสูง  ๕  )
เจริญธรรม  ๕  อย่าง  (  สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา )
พ้นกิเลสเครื่องข้อง  ๕  อย่าง  (  ราคะ  โทสะ  โมหะ  มานะ  ทิฏฐิ  )
ท่านเรียกว่า  ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส
๕.  ปรินิพพาน
พระโกณฑธานเถระ  ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา  ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย  แล้วดับขันธปรินิพพาน  เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป
*******************************
๒๗.  ประวัติ  พระวังคีสเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระวังคีสเถระ  นามเดิม  วังคีสะ  เพราะเกิดในวังคชนบท  และเพราะ
เป็นใหญ่ในถ้อยคำ
บิดาเป็นพราหมณ์  ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นปริพาชิกา  ไม่ปรากฏนาม  ทั้ง  ๒  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
เกิดที่วังคชนบท  เมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
วังคีสมานพครั้นเจริญวัยสมควรจะได้รับการศึกษาเล่าเรียน  จึงเรียนลัทธิพราหมณ์  จบไตรเพท  เขาเป็นที่รักของอาจารย์  จึงได้เรียนมนต์พิเศษโดยใช้เล็บดีดกะโหลกศีรษะของผู้ตายภายในเวลา  ๓  ปี แล้วสามารถรู้ได้ว่า  ไปเกิดที่ไหน  พราหมณ์ทั้งหลายเห็นอุบายจะหาทรัพย์ได้  จึงพาเขาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายแล้วให้กะโหลกนั้นบอกแก่ญาติของตนว่าไปเกิดที่ไหน  พวกเขาได้ลาภเป็นอันมาก
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่งเขาได้สดับพระคุณของพระพุทธเจ้า  เกิดความเลื่อมใสอยากจะไปเฝ้า  พราหมณ์ทั้งหลายคัดค้านเขา  กลัวจะเปลี่ยนใจไปนับถือพระศาสดา  แต่เขาไม่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้น  ไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน  ทรงทำปฏิสันถารอย่างดี  ตรัสถามถึงความสามารถของเขา  ครั้นทรงทราบแล้ว  จึงทรงนำเอากะโหลกศีรษะคนตายมา  ๔ กะโหลก  ในวังคีสะดีดดู  เขาดีดกะโหลกที่  ๑  บอกว่าไปเกิดในนรก  ที่  ๒  บอกว่าไปเกิดเป็นมนุษย์  ที่  ๓  บอกว่าไปเกิดเป็นเทวดา  ทรงประทานสาธุการแก่เขา  พอดีดกะโหลกที่  ๔  ซึ่งเป็นของพระอรหันต์  เขาไม่ทราบว่าไปเกิดที่ไหน  นั่งเหงื่อไหล  พระศาสดาตรัสถามว่า  เธอลำบากใจหรือวังคีสะ  เธอยอมรับว่าพระพุทธเจ้าข้า  แล้วทูลถามว่าพระองค์ทราบมนต์นี้หรือ  ตรัสว่าทราบ  เขาจึงขอเรียน  แต่ทรงปฏิเสธว่าสอนให้ไม่ได้  จะสอนได้เฉพาะแก่คนที่มีเพศเหมือนเราเท่านั้น  เขาจึงทูลขอบวชกับพระศาสดา  ตรัสให้พระนิโครธกัปปเถระเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้
๔.  การบรรลุธรรม
วังคีสะ ครั้นบวชแล้ว ทรงบอกกรรมฐานคือ  อาการ  ๓๒  และวิปัสสนากรรมฐานแล้ว  เมื่อท่านกำลังสาธยายอาการ ๓๒  และเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่  พวกพราหมณ์เข้าไปถามว่า  เรียนมนต์ของพระโคดมจบหรือยัง  ท่านตอบว่าจบแล้ว  พวกพราหมณ์พูดว่า  ถ้าอย่างนั้นก็ไปได้แล้ว  ท่านตอบว่า  อาตมาไม่ไปแล้ว  พวกพราหมณ์ไม่สามารถจะทำอย่างไรได้จึงไปตามกรรมของตน  พระวังคีสะเจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  จบกิจบรรพชิตของตน
๕.  เอตทัคคะ
พระวังคีสเถระ  เป็นผู้มีปฏิภาณสามารถกล่าวเป็นคำประพันธ์  ( ฉันท์ )  สรรเสริญคุณพระศาสดา  เวลาท่านเข้าไปเฝ้าได้ทุกครั้ง  พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้มีปฏิภาณ
๖.  ปรินิพพาน
พระวังคีสเถระ  ครั้นถึงที่สุดประโยชน์ส่วนตนคือบรรลุพระอรหัตผลแล้ว
ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอายุของท่าน  แล้วได้ดับขันธปรินิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต
*********************************
๒๘.  ประวัติ  พระปิลินทวัจฉเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระปิลินทวัจฉเถระ  นามเดิม  ปิลินทะ  วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า  ปิลินทวัจฉะ  โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย
บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา  ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช  (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก  สำเร็จวิชา  ชื่อว่า  จูฬคันธาระ  เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น  มีลาภและยศมาก  อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป  ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย  เขาคิดว่าพระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน  จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา  พระศาสดาตรัสว่า  ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้  เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส
๔.  การบรรลุธรรม
เมื่อท่านบวชแล้ว  พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาและได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา  เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์  เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน
ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์  ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย  เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู  มีความนับถือท่านมาก  เข้าไปหา  ท่าน  ทั้งเช้าเย็น  แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุและชาวบ้าน  เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ  ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ  ก็ไม่มีใครถือสา  กลับศรัธาเลื่อมใสยิ่งขี้น ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์  เล่ากันว่า  ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา  ท่านถามว่าถาดอะไรไอ้ถ่อย  ชายคนนั้นโกรธคิดว่าพระอะไรพูดคำหยาบ  จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู  พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริง ๆ  ต่อมามีคนแนะนำเขาว่าให้เดินสวนทางกับท่านใหม่  ถ้าท่านถามอย่างนั้น  จงตอบท่านว่าดีปลี  ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม  เขาได้ทำตามคำแนะนำปรากฏว่ามูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม
๖.  เอตทัคคะ
ก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน  แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา  จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น  เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ๗.  ปรินิพพาน
พระพระปิลินทวัจฉเถระ  ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล  ก็ได้ปรินิพพานดับไปโดยไม่มีอาลัย
*****************************



๒๙.  ประวัติ  พระกุมารกัสสปเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระกุมารกัสสปเถระ  นามเดิม  กัสสปะ  เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้  ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา  เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อกัสสปะ  จะถูกทูลถามว่ากัสสปะไหน  จึงตรัสว่า  กุมารกัสสปะ  เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ  เป็นชาวเมืองสาวัตถี  มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน  แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต  หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี  ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช  เธอจึงเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์  ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น  ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ  จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน  พระเทวทัตตัดสินว่า  เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง  ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ๆ  ทรงมอบหมายให้พระอุบาลีเถระตัดสิน  พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ ๆ  ชาวสาวัตถีและนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า  นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช  ศีลของนางบริสุทธิ์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรชาย  หน้าตาน่ารัก  ผิวพรรณดุจทองคำ  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้  และทรงตั้งชื่อให้ว่า  กัสสปะ  อีกย่างหนึ่ง  คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า  กุมารกัสสปะ  เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว  พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ  แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา  ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว  ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
๔.  การบรรลุธรรม
ครั้งนั้น  สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส  เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา  จึงผูกปัญหา  ๑๕  ข้อ  แล้วบอกว่า  นอกจากพระศาสดา  ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้  รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลถามปัญหาเหล่านั้น  พระศาสดาทรงแก้ให้ท่านจนถึงพระอรหัต  พระเถระเรียนตามที่พระศาสดาตรัส  เข้าไปยังป่าอัมพวันเจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๕.  งานประกาศพระศาสนา
พระกุมารกัสสปะเถระ  กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร  สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล  เช่น  การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง  เป็นต้น
พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี  เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก  พระเถระอุปมาว่า  เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง  ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร
พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี  เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอกพระ เถระอุปมาว่า  เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ  ครั้นขึ้นมาได้  ชำระร่างกายสะอาดแล้วคงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า  เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ  แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็น  ให้คนช่วยดูรอบ  ๆ  หม้อ  ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา  พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม  แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ  แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า  เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง  ๖  (ตา หู จมูก ลิ้น  กาย  ใจ  )  ครั้นแล้ว  ทรงตรวจดู  ไม่พบว่าทั้ง  ๖  นั้นรู้สึกอะไรเลย  พระเถระอุปมาว่า  เหมือนคนเป่าสังข์  คนโง่ได้ยินเสียงสังข์  จึงมาขอดูเสียงของสังข์  ค้นหาอย่างไรไม่พบเสียงในตัวสังข์  จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปะเถระใน การอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี  จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา
๖.  เอตทัคคะ
เพราะพระกุมารกัสสปะเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมาและเหตุผล  พระทศพลจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร  (กล่าวถ้อยคำไพเราะ)
๗.  ปรินิพพาน
พระกุมารกัสสปเถระ  ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา  อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้ปรินิพพานจากโลกไป
****************************
๓๐.  ประวัติ  พระมหาโกฏฐิตเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระมหาโกฏฐิตเถระ  นามเดิม  โกฎฐิตะ  มีความหมายว่า  ทำให้คนหนีหน้าเพราะเขาเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ต่าง  ๆ  จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน
บิดาชื่อ  อัสสลายนพราหมณ์
มารดาชื่อ  จันทวดีพราหมณี  ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เขาเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปะของพราหมณ์  เป็นผู้ฉลาดในทางเวทางคศาสตร์  ตักกศาสตร์  นิฆัณฑุศาสตร์  เกฏุภศาสตร์  ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน  และในการพยากรณ์ทั้งหมด  เขาชอบพูดหักล้างคนอื่น  ใครพบเขาจึงพากันหลบหน้า  ไม่อยากสนทนาด้วย
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โกฏฐิตมานพ  เข้าไปเฝ้าและฟังธรรมจากพระศาสดา  แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ๆ  ทรงบวชให้เขาตามประสงค์  ตั้งแต่เขาบวชแล้ว  ก็พากเพียรศึกษาพระธรรมวินัย  และตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนา  ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทา  ๔  มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาญาณ  กล้าหาญ  แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือแม้แต่พระศาสดาก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา  ๔  จึงมีนามเพิ่มอีกว่า  มหาโกฏฐิตะ
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาโกฏฐิตเถระ  เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก  เช่น  ในมหาเวทัลลสูตร  ท่านได้ชักถามพระสารีบุตรเถระเพื่อเป็นการวางหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  จะนำมาเฉพาะบางเรื่อง  ดังนี้
ผู้มีปัญญาทราม  คือ  ผู้ไม่รู้อริยสัจ  ๔  ตามเป็นจริง
ผู้มีปัญญา  คือ  ผู้รู้อริยสัจ  ๔  ตามเป็นจริง
วิญญาณ  คือ  ธรรมชาติที่รู้จริง  ได้แก่รู้แจ้ง  สุข  ทุกข์  และ  ไม่ทุกข์ไม่สุข
ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ การประกาศของผู้อื่น (ปรโตโฆสะ )  ๑  การทำไว้ในใจโดยแยบคาย  (  โยนิโสมนสิการ  )  ๑
การเกิดในภพใหม่มีได้  เพราะความยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นนิวรณ์    (เครื่องกั้น)  มีตัณหาเป็นสังโยชน์  ( เครื่องผูกมัด )  การไม่เกิดในภพใหม่มีได้ เพราะเกิดวิชชาและเพราะดับตัณหา
คนตายกับผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกัน  คือ  คนตายสิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ  อายุสิ้น  ไออุ่นดับ  และอินทรีย์แตก  ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ  สิ่งปรุงแต่งกาย  วาจา  จิตดับ  แต่อายุยังไม่สิ้น  ไออุ่นยังไม่ดับ  อินทรีย์ผ่องใส
๕.  เอตทัคคะ
เพราะอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ระหว่างท่านกับพระสารีบุตรเถระ  ในมหาเวทัลลสูตรนี้  พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๖.  ปรินิพพาน
พระมหาโกฏฐิตเถระได้ทำหน้าที่ของท่านและหน้าที่ต่อพระศาสนาในฐานะที่เป็นพระสงฆ์แล้ว  ได้ดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลา  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับไป
*******************************
๓๑.  ประวัติพระโสภิตเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระโสภิตเถระ  นามเดิม  โสภิตมาณพ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
โสภิตมาณพ  วันหนึ่งได้ไปเฝ้าพระศาสดา  ฟังธรรมเทศนาแล้ว  เกิด
ศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงได้ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามประสงค์  ครั้นบวชแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย  เจริญวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานก็ได้บรรลุอภิญญา  ๖  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือ  การระลึกชาติในอดีต
๓.  เอตทัคคะ
เพราะพระโสภิตเถระมีความชำนาญเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือญาณในการระลึกชาติในอดีต พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกบุพเพสันนิวาส
๔.  ปรินิพพาน
พระโสภิตเถระ  ได้บรรลุประโยชน์สูงสุดส่วนตน  คือ  พระอรหัตผลแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา  ตามสมควรแก่เวลาของท่าน จึงได้ปรินิพพานจากโลกไปโดยหาความอาลัยไม่ได้
********************************
๓๒.  ประวัติ  พระนันทกเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระนันทกเถระ  นามเดิม  นันทกะ
บิดาและมารดา  ไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
นันทกมาณพ  ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า  เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง  ทรงแสดงธรรมไพเราะ  ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง  วันหนึ่ง  เมื่อมีโอกาศจึงไปเฝ้าพระศาสดา  ได้ฟังพระธรรมเทศนา  เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์  ครั้นบวชแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส
๓.  งานประกาศพระศาสนา
ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี  มีเรื่องเล่าว่า  นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี  ๕๐๐  รูป  มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม  ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรมภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล
๔.  เอตทัคคะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง  จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๕.  ธรรมวาทะ
ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป  ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้  ครั้นได้ความสลดใจไม่ย่อท้อ  ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก  ฉันใด  ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย  ฉันนั้น  เหมือนกัน
๖.  ปรินิพพาน
พระนันทกเถระ  ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน  แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน  สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป
********************************



๓๓.  ประวัติ  พระมหากัปปินเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระมหากัปปินเถระ  นามเดิม  กัปปินะ  ต่อมาได้ครองราชย์จึงมีนามว่า  มหากัปปินะ  เป็นวรรณะกษัตริย์
พระบิดาพระมารดา  ไม่ปรากฏพระนาม  เป็นเจ้าเมืองกุกกุฏวดีในปัจจันตชนบท
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว  ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อสันตติวงค์  ทรงพระนามว่า  พระเจ้ามหากัปปินะ  ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี  พระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ  แห่งแค้วนมัททะ  ทั้ง  ๒  พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องศาสนา  คอยสดับตรับฟังข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่ง  ทรงทราบข่าวจากพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถีว่า  พระพุทธเจ้า  พระ
ธรรมและพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้วในโลก  ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง  พร้อมกับบริวารจำนวนหนึ่ง  ได้เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองสาวัตถี
พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวการเสด็จมาของพระเจ้ามหากัปปินะ  จึงเสด็จไปรับที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา  ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ  ท้าวเธอพร้อมด้วยบริวารได้เสด็จเข้าไปเฝ้า  ณ  ที่นั้น  ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ  ๔  ครั้นจบพระธรรมเทศนาพระราชาพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท  ทรงให้พวกเขาอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
เมื่อบวชในพระพุทธศาสนา  และแม้จะสำเร็จพระอรหันต์แล้ว  ท่านก็ไม่สอนใคร  มีความขวนขวายน้อย  ต่อมาพระศาสดาทรงทราบ  จึงรับสั่งให้ท่านสอนผู้อื่นบ้าง  ท่านทูลรับด้วยเศียรเกล้า  ได้แสดงธรรมแก่อันเตวาสิกของท่านประมาณพันรูปให้บรรลุอรหัตผล
๕.  เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงอาศัยเหตุที่ท่านแสดงธรรมแก่อันเตวาสิกนั้น  จึงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
๖.ธรรมวาทะ
มีปัญญา  แม้ไม่มีทรัพย์  ยังพออยู่ได้  ขาดปัญญา  แม้มีทรัพย์  ก็อยู่ไม่ได้  ปัญญาเป็นตัวชีขาดศาสตร์ที่เรียนมา  ปัญญาทำให้เจริญไปด้วยเกียรติ  และความสรรเสริญผู้มีปัญญาย่อม
ได้รับความสุข  แม้ในสิ่งที่คนอื่นเขาทุกข์กัน
๗.  ปรินิพพาน
พระมหากัปปินเถระ  ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศานา  ตามสม
ควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้ปรินิพพานจากไป
*****************************
๓๔.  ประวัติ  พระสาคตเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระสาคตเถระ  นามเดิม  สาคตะ
บิดาและมารดา  เป็นพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถีทั้ง  ๒  ไม่ปรากฏนาม
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
สาคตมาณพเป็นผู้สนใจใคร่ศึกษา  ได้รับทราบข่าวพระศาสดาว่า  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง  ทรงแสดงธรรมไพเราะ  ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้าได้แจ่มแจ้ง  วันหนึ่ง  มีโอกาสจึงเข้าไปเฝ้า  ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธา  จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท  ครั้นบวชแล้ว  เจริญฌานได้สมาบัติ  ๘  มีความชำนาญในฌานสมาบัติ
๓.  การบรรลุธรรม
พระสาคตเถระได้ปราบอัมพติตถนาคราช  จนสิ้นฤทธิ์เดช  ด้วยเตโชธาตุสมาบัติของท่าน  ชาวบ้านที่เคยได้รับความทุกข์จากนาคราชนั้น  ดีใจ  เลื่อมใสท่าน  ทุกบ้านได้จัดสุราถวายเวลาท่านไปบิณฑบาต  ท่านจิบสุราบ้านละน้อย  เพื่อฉลองศรัทธา  ครั้นหลายบ้านเข้าจึงเกิดเมาสุรา  ไปล้มหมดสติที่กองขยะ  พระศาสดาทรงทราบจึงทรงให้พระมาประคองเอาไป  ทรงติเตียนและชี้โทษของสุรา  หลังจากนั้นท่านเกิดความสลดใจ  ปฏิบัติสมณธรรม  ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล
๔.  งานประกาศพระศาสนา
เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ  สามารถแสดงฤทธิ์เกี่ยวกับไฟได้หลายอย่าง  เช่นทำให้เกิดแสงสว่างในที่มืด  และทำให้เกิดความมืดในที่สว่าง  เป็นต้น  จึงทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
๕.  เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงปรารภความสามารถในการเข้าเตโชธาตุสมาบัติของท่าน  จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  พระสาคตเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเข้าเตโชสมาบัติ
๖.  ธรรมวาทะ
ต้นไม้ทุกชนิด  ย่อมงอกงามบนแผ่นดินฉันใด  สัตว์ผู้มีปัญญา  ก็ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า  ฉันนั้น  องค์พระสัพพัญญู  ผู้ทรงนำหมู่ของผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่  ทรงถอนคนเป็นอันมากออกจากทางที่ผิด  แล้วตรัสบอกทางที่ถูกให้
๗.  ปรินิพพาน
พระสาคตเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดเวลาที่เป็นภิกษุ  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานจากโลกไปตามสัจธรรมของชีวิต
****************************
๓๕.  ประวัติ  พระอุปเสนเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระอุปเสนเถระ  นามเดิม  อุปเสนมาณพ  หรือ  อุปเสนวังคันตบุตร
บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ  สารีพราหมณี
เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
อุปเสนมาณพมีพี่ชาย  ๒  คน  คือ  อุปติสสะและจุนทะ  น้องชาย  ๑ คน  คือ  เรวตะ  น้องสาว  ๓  คน  คือ  นางจาลา  นางอุปจารา  และนางสุปจารา  ครั้นเติบโตแล้วได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
อุปเสนมาณพก็เหมือนกับพระสาวกโดยมาก  คือ  ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดาจึงเข้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาแล้ว  เกิดศรัทธา  ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา  พระศาสดาทรงบวชให้ตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
ครั้นได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ยังไม่ทันได้พรรษา  คิดว่าจะสร้างพระอริยะให้พระศาสนาให้มากที่สุด  จึงบวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง  แล้วพาไปเฝ้าพระศาสดา  ถูกพระศาสดาติเตียนว่าไม่เหมาะสม  เพราะอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ได้พรรษา  สิทธิวิหาริกก็ยังไม่ได้พรรษา  ท่านคิดว่าเราอาศัยบริษัทจึงถูกพระศาสดาติเตียน แต่เราก็จะอาศัยบริษัทนี่แหละทำให้พระศาสดาเลื่อมใส จึงพากเพียรภาวนา  ในไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัตผลสมาทานธุดงค์และสอนผู้อื่นให้สมาทานด้วย  มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกมากมายคราวนี้พระศาสดาทรงสรรเสริญท่าน
๕.  งานประกาศพระศาสนา
พระอุปเสนเถระ  ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว  ได้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมด  และสอนผู้อื่นให้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมนั้นด้วย  จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะ  และพากันบวชในสำนักของท่าน
๖.  เอตทัคคะ
พระศาสดาทรงอาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้นวรรณะนั้น  จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบด้าน
๗.  ธรรมวาทะ
ในที่ชุมชน  ผู้เป็นบัณฑิต  พึงแสดงตนที่ไม่โง่  ที่ไม่ได้เป็นใบ้  เหมือนกับคนโง่และคนเป็นใบ้  ( ในบางครั้ง )  ไม่ควรพูดยืดยาวเกินเวลา  คนที่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านไป  ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน  ผู้นั้นท่านเรียกว่า  สันโดษ
๘.  ปรินิพพาน
พระอุปเสนเถระ  ได้เป็นพระขีณาสพ  อยู่จบพรหมจรรย์  เสร็จกิจส่วนตัวของท่านแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์  เพื่อประโยชน์  เพื่อความสุขแก่มหาชน  ตามสมควรแก่เวลา  แล้วได้ปรินิพพานดับไปเหมือนกับไฟที่หมดเชื้อ
*************************************

๓๖.  ประวัติ  พระขทิรวนิยเรวตเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ  แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน  จึงมีชื่อว่า  ขทิรวนิยเรวตะ
บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ  นางสารีพราหมณี
เกิดที่บ้านลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เรวตะ  เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว  เหลืออยู่คนเดียว  ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว  บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด  โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้  ๘  ขวบ
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นถึงวันแต่งงาน  บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน  นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา  ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์  ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง  ๒  ฝ่ายไปอวยพร  ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา  ซึ่งมีอายุ  ๑๒๐  ปี  เข้ามาอวยพร  คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า  ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้
เรวตะได้ฟังดังนั้น  มองดูคุณยาย  ผมหงอก  ฟันหัก  หนังเหี่ยว  หลังโกง  เนื้อตัวสั่นเทา  รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า  เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน  ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า  ขอบรรพชากับท่าน  ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้  เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า  ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย  เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔.  การบรรลุธรรม
สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ  เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเตียน บำเพ็ญเพียรภาวนา  ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕.  งานประกาศพระศาสนา
พระเรวตเถระนี้  แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม  แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน  ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น  และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา  แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่
๖.  เอตทัคคะ
เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ชอบอาศัยอยู่ในป่า  องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
๗.  ธรรมวาทะ
ตั้งแต่อาตมภาพ  สละเรือนออกบวช  ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทรามประกอบด้วยโทษ  ไม่เคยรู้จักความคิดว่า  ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน  จงถูกฆ่า  จงประสบความทุกข์  อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต  อย่างหาประมาณมิได้  ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ  สะสมมาโดยลำดับ  ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
๘.  ปรินิพพาน
พระขทิรวนิยเรวตเถระ  ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว  ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์  เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา  แล้วได้ปรินิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต
*********************************
๓๗.  ประวัติ  พระสีวลีเถระ
๑.  สถานเดิม
พระสีวลีเถระ  นามเดิม  สีวลี
บิดาไม่ปรากฏนาม
มารดา  พระนางสุปปวาสา  พระธิดาเจ้าเมืองโกลิยะ
เขาอยู่ในครรภ์มารดาถึง  ๗  ปี  ๗  เดือน  ๗  วัน  ทำให้มารดามีลาภสักการะมากและคลอดง่ายที่สุด
๒.  ชีวิตก่อนบวช
ย้อนไปถึงก่อนที่ท่านจะประสูติ  พระมารดาเสวยทุกขเวทนาหนักมาก  จึงให้พระสวามีไปบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสประทานพรให้ว่า  ขอพระธิดาแห่งโกลิยวงศ์จงมีความสุข  ปราศจากโรคาพยาธิ  ประสูติพระโอรสหาโรคมิได้เถิด  พระนางก็ประสูติพระโอรสสมพุทธพรทุกประการ  แล้วได้ถวายมหาทานตลอด  ๗  วัน
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อสีวลีกุมารประสูติ  พระมารดาและพระประยุรญาติได้ถวายมหาทาน  ๗  วัน  ในวันที่  ๗  พระสารีบุตรเถระจึงชวนเธอบวช  เธอตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช  พระมารดาทรงทราบก็ดีใจ  อนุญาตให้พระเถระบวชกุมารได้ตามประสงค์  พระเถระจึงนำกุมารไปบวชเป็นสามเณร  ตั้งแต่กุมารบวชแล้ว  ลาภสักการะได้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายมากมาย
๔.  การบรรลุธรรม
พระสีวลีได้ฟังตจปัญจกกรรมฐานจากพระสารีบุตรเถระ  แล้วบรรลุพระอรหัตผลในเวลาปลงผม  ท่านกล่าวว่า  จดมีดโกนครั้งแรกบรรลุโสดาปัตติผล  ครั้งที่  ๒  บรรลุสกิทาคามิผล  ครั้งที่  ๓  บรรลุอนาคามิผล  พอปลงผมเสร็จบรรลุพระอรหัตผล
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสีวลีนั้นเป็นพระที่มนุษย์และเทวดาเคารพนับถือบูชามาก  จึงเป็นพระที่มีลาภมาก  แต่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของบุญเก่า  แต่ถึงอย่างไรก็ตามเหตุการณ์อย่างนี้ก็ต้องถือว่าท่านมีส่วนสำคัญในการประกาศพระศาสนา  เพราะทำให้คนที่ยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเกิดศรัทธา  เพราะยากจะหาพระที่มีบุญญาธิการเหมือนท่าน
๖.  เอตทัคคะ
เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีลาภมาก  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  หรือจะไปที่ไหนช่วยให้ภิกษุทั้งหลาย  ไม่ขัดสนปัจจัยลาภไปด้วย  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
๗.  ปรินิพพาน
พระสีวลีเถระได้บรรลุประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว  ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมหาชน  จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  จึงได้ปรินิพพานดับสังขารสู่บรมสุขอย่างถาวร
**************************************
๓๘.  ประวัติ  พระวักกลิเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระวักกลิเถระ  นามเดิม  วักกลิ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เมื่อเติบโตเขาได้ศึกษาลัทธิพราหมณ์  เรียนจบเวท  ๓  แต่ไม่ได้ตั้งตัวเป็นคณาจารย์สั่งสอนใคร
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่ง  เขาเห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จดำเนินไป ในพระนคร   สาวัตถี  ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปสมบัติ  จึงติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง  ในที่สุดตัดสินใจว่าต้องบวชจึงจะได้เห็นพระศาสดาตลอดเวลา  เขาจึงขอบวช  แล้วได้บวชในสำนักพระศาสดา
๔.  การบรรลุธรรม
ตั้งแต่บวชแล้ว  พระวักกลิติดตามดูพระศาสดาตลอดเวลา  เว้นเวลาฉันอาหารเท่านั้น  พระศาสดาทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งญาณของเธอ  จึงไม่ตรัสอะไร  ครั้นทราบว่าญาณของเธอแก่กล้าแล้ว  จึงได้ตรัสแก่เธอว่า  วักกลิ  จะมีประโยชน์อะไรกับการดูร่างกายที่เปื่อยเน่า  ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเห็นธรรม  ดูก่อนวักกลิบุคคลผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา  บุคคลผู้เห็นเราชื่อว่า  ย่อมเห็นธรรม    แม้พระศาสดาตรัสอย่างนี้  ท่านก็ยังไม่เลิกดูพระศาสดา  ทรงพระดำริว่า  ภิกษุนี้ถ้าไม่ได้ความสังเวชคงไม่บรรลุธรรม  จึงทรงขับไล่ว่า  วักกลิเธอจงหลีกไป  ท่านเสียใจมากขึ้นไปบนภูเขาจะฆ่าตัวตาย  พระองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไปโปรด  ตรัสเรียกเธอว่า  วักกลิ  เธอรู้สึกปลื้มใจมาก  นึกถึงพระดำรัสของพระศาสดา  ข่มปีติได้แล้วบรรลุพระอรหัตผล
๕.  เอตทัคคะ
เพราะพระวักกลิเถระบรรลุพระอรหัตผลด้วยศรัทธาในพระศาสดา  ฉะนั้นจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นเลิศแห่งภิกษุผู้เป็นสัทธาวิมุตติ  ( พ้นจากกิเลสเพราะสัทธา )
๖.  ปรินิพพาน
พระวักกลิเถระ  ครั้นดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลาของท่าน  ก็ได้ปรินิพพานจากไป  เหลือไว้แต่ปฏิปทาที่ควรค่าแก่การศึกษาของปัจฉิมชนตาชนผู้สนใจพระพุทธศาสนาต่อไป
๓๙.  ประวัติ  พระพาหิยทารุจีริยเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระพาหิยทารุจีริยเถระ  นามเดิม  พาหิยะ  ภายหลังเขานุ่งเปลือกไม้  จึงได้ชื่อว่า  พาหิยทารุจีริยะ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวพาหิยรัฐ  วรรณะแพศย์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เมื่อเติบโต  เขามีอาชีพค้าขาย  วันหนึ่งนำสินค้าลงเรือไปขายยังจังหวัดสุวรรณภูมิ  เรืออับปาง  คนในเรือเสียชีวิตทั้งหมด  เหลือแต่เขาคนเดียว  เกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งไว้ได้  ลอยคอไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปารกะ  ผ้านุ่งผ้าห่มถูกคลื่นซัดหลุดหายไปหมด  จึงเอาใบไม้บ้าง  เปลือกไม้บ้าง ถักพอปิดร่างกาย  ถือภาชนะกระเบื้องดินเผาเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพ  คนทั้งหลายเห็นเขาแต่งตัวแปลก  ๆ  คิดว่าเป็นพระอรหันต์  จึงนำอาหารไปให้มากมาย  บางคนนำเอาผ้าไปให้  แต่เขาไม่ยอมนุ่งผ้า  คงนุ่งผ้าเปลือกไม้ต่อไป  และสำคัญผิดคิดว่าเป็นพระอรหันต์ ๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้งนั้น  เทวดาตนหนึ่ง ผู้เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาในชาติก่อน
แล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส  ได้ลงมาให้สติแก่เขาว่า  พาหิยะ  ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก  แม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผลท่านก็ยังไม่รู้เลย  ผู้เป็นพระอรหันต์และรู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผล  อยู่ที่พระวิหารเชตวัน  เมืองสาวัตถีเขาสลดใจ  ได้ไปเฝ้าพระศาสดาตามคำของเทวดา  พบพระศาสดากำลังทรงดำเนินบิณฑบาตอยู่  รีบร้อนวิงวอนจะฟังพระธรรมเทศนาให้ได้  พระศาสดาทรงปฏิเสธถึง  ๓  ครั้ง  ครั้นทรงทราบว่า  ญาณของเขาแก่กล้าแล้ว  และปีติของเขาสงบลงแล้วจึงได้ตรัสว่า  พาหิยะ  ขอให้เธอศึกษาดังนี้  เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น  ( ทิฏเฐ
ทิฏฐมตตํ  ภวิสสติ )
ในเวลาจบเทศนา  เขายืนอยู่กลางถนนนั่นเอง  ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา  ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทา  ได้ทูลขอบรรพชากับพระศาสดา  แต่มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ  จึงไปหาบาตรและจีวร  กำลังดึงท่อนผ้าเก่าจากกองขยะ  อมุนษย์คู่เวรกันเข้าสิงในร่างแห่งแม่โคตัวหนึ่ง  ทำร้ายท่านจนถึงสิ้นชีวิต  จึงไม่ทันได้บวช
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระพาหิยะรุจีริยเถระแม้ท่านจะยังไม่ได้บวชตามพิธีอุปสมบทกรรมตามพระวินัย  แต่ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  จัดเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้  และมีประวัติอยู่ในจำนวนพระอสีติมหาสาวก  พระศาสดาเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี  ทอดพระเนตรเห็นศพของพระพาหิยะล้มอยู่ในกองขยะ  จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำไปทำการฌาปนกิจ  แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ทางสี่แพร่ง ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่าท่านบรรลุมรรคอะไรเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ  พระศาสดาตรัสว่า  พาหิยะปรินิพพานแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี  ประวัติพระพาหิยะทารุจีริยเถระจึงเป็นการประกาศหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า  เมื่อปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว  จะบวชตามพระวินัยหรือ ไม่ก็ตาม  ก็จัดเป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้น  คือเป็น  อริยสงฆ์
๕.  เอตทัคคะ
เพราะพระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้บรรลุธรรมเร็วพลัน  เพียงฟังพระพุทธพจน์ว่า  ทิฏเฐ  ทิฏฐมตตํ  ภวิสสติ  ( เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น )  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน
๖.  บุญญาธิการ
แม้พระพาหิยทารุจีริยเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลเวลาแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน  จึงได้บำเพ็ญกุศลแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น  อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า  จะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า  โคดม  และก็ได้สมตามความปรารถนา  ดังพุทธวาจาทุกประการ
๗.  ธรรมวาทะ
ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร  ไม่เคยได้อาหาร  คือ  คำข้าว  เลยหรือ  ?  ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า  หรือของข้าพระองค์  ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
๘.  ปรินิพพาน
พระพาหิยทารุจีริยเถระ  ได้ถูกอมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันเข้าสิงในร่างแม่โคชนในขณะกำลังเก็บผ้าบังสุกุลในกองขยะแล้วปรินิพพาน
**************************
๔๐.  ประวัติ  พระพากุลเถระ
๑.  สถานะเดิม
พระพากุลเถระ  นามเดิม  พากุล  แปลว่า  คนสองตระกูล
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
เมื่อพระพากุละเกิดได้  ๕  วัน  มีการทำมงคล  โกนผมไฟและตั้งชื่อ  พี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำคงคา  ปลาได้กินทารกนั้น  แล้วแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ  แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ  ทางศาสนาเรียก  ปัจฉิมภวิกสัตว์  แปลว่า  ผู้เกิดในภพสุดท้าย  ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ปลานั้นว่ายไปตามแม่น้ำ  ไปติดข่ายชาวประมงในพระนครพาราณสี  ชาวประมงนั้นจึงนำเอาปลานั้นไปขาย  ในที่สุดเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง  ได้ซื้อเอาไว้  เมื่อแหวะท้องปลาก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่  เพราะเศรษฐีนั้นไม่มีบุตรและธิดา  จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมาก  ได้เลี้ยงดูไว้อย่างดี
ครั้นต่อมา  เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาเดิมได้ทราบเรื่องนั้น  จึงไปยังบ้านของเศรษฐีชาวพาราณสี  พบเด็กจำได้ว่าเป็นลูกของตน  จึงได้ขอคืน  แต่เศรษฐีชาวพาราณสีไม่ยอม  เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี  พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงเด็กนั้นคนละ  ๔  เดือน  เด็กนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยลำดับ
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดา  เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในพระนครพาราณสี  พากุลเศรษฐีพร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเฝ้า  แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระศาสดาทรงประทานให้ตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
พระพากุละ  ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ตั้งใจรับฟังพระโอวาทจากพระศาสดา  ไม่ประมาท  พากเพียรภาวนา  เจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง  ๗  วัน  ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕.  งานประกาศพระศาสนา
พระพากุลเถระ  ครั้นบรรลุพระอรหัตผลจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  ในฐานะเป็นพระเถระผู้ใหญ่  ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนที่สุด  บวชเมื่ออายุ  ๘๐  ปี  เป็นพระอีก  ๘๐  พรรษา  ตามนี้ท่านจึงต้องมีอายุ  ๑๖๐  ปี  ตำนานกล่าวว่า  ท่านไม่มีโรคภัยเบียดเบียน  ไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย  ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านได้สร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์  และได้บริจาคยาให้เป็นทาน  ท่านเป็นพระรูปหนึ่งในจำนวน  ๕๐๐  รูป  ที่เข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
๖.  เอตทัคคะ
เพราะพระพากุลเถระ  เป็นผู้ที่มีโรคน้อย และมีอายุยืนดังกล่าวมา  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย
๗.  บุญญาธิการ
แม้พระพากุลเถระนี้  ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า  เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย  อยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง  จึงได้สร้างบุญกุศลอันจะอำนวยผลให้เป็นเช่นนั้น  แล้วตั้งความปรารถนา  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า  จะสำเร็จสมปณิธานในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม  และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘.  ธรรมวาทะ
ผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง  ย่อมทำลายเหตุแห่งความสุข  และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง  บุคคลพูดอย่างไรพึงทำอย่างนั้น  อย่าเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง  เพราะบุคคลผู้พูดอย่างทำอย่าง  ผู้รู้ย่อมดูหมิ่นได้
พระนิพพานอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้  ไม่มีความโศก  ไม่มีธุลี คือ  กิเลส  เกษม  (  ไม่ถูกกิเลสรบกวน  )  ดับความทุกข์ทั้งสิ้น  เป็นสุขที่แท้จริง
๙.  ปรินิพพาน
พระพากุลเถระ  ครั้นได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว  ได้ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ แก่พระศาสนาและชาวโลกจนถึงอายุขัยของท่านแล้วได้ปรินิพพานจากไป ตามตำนานกล่าวว่าก่อนปรินิพพานได้เข้าเตโชสมาบัติ  นั่งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์  เมื่อปรินิพพานแล้วไฟได้ไหม้สรีระร่างของท่านหมดไป  ณ  ที่นั่นเอง
****************************
              ทุกกะ  คือ  หมวด  ๒
กัมมัฏฐาน  ๒
สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา
  อง.  ทุก.  ๒๐/๗๗
อธิบาย :  กัมมัฏฐานเนื่องด้วยบริกรรม  อันเป็นอุบายทำใจให้สงบ ไม่เกี่ยวกับปัญญา  จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน.  กัมมัฏฐานเนื่องด้วยทัศนะทางใจในคติของธรรมดา  ปรารภสภาวธรรมและสามัญญลักษณะ  จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ภาวนา  ๒  ก็เรียก

  กาม  ๒
กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่
วัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่.
ขุ.  มหา.  ๒๙/๑
 อธิบาย  :  กิเลสกาม  ได้แก่กิเลสให้ใคร่  คือ  ราคะ  โลภะ  คือความอยากได้  อิสสา  คือความริษยาหรือความหึง  อรติ  ความไม่ยินดีด้วย  อสันตุฏฐิ  ความไม่สันโดษ  เป็นต้น  วัตถุกาม  ได้แก่กามคุณ  ๕  คือ รูป เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ

  บูชา  ๒
อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส  ( คือสิ่งของ )
ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติตาม.
อง.  ทุก.  ๒๐/๑๑๗

ปฏิสันถาร  ๒
อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยอามิส (คือสิ่งของ)
ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารโดยธรรม
อง.  ทุก.  ๒๐/๑๑๖
          อธิบาย  :  ปฏิสันถาร  ได้แก่  การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น  อามิสปฏิสันถารได้แก่ต้อนรับด้วยให้สิ่งของ  เช่น  ให้น้ำร้อนหมากพลู  อาหารเป็นต้น  ธัมมปฏิสันถาร  แก้กันมาว่า  กล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม  ข้าพเจ้าเห็นไม่ใช่อาการรับแขก  มติของข้าพเจ้า  ได้แก่ต้อนรับโดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มา  ควรลุกรับกราบไหว้ก็ทำ  ไม่ควรทำอย่างนั้น  ก็ทำความเอื้อเฟื้อด้วยประการอื่น  แม้เจ้าถิ่นมีปรารถนาดี  แต่ทำไม่ควรแก่ฐานะของแขก  การปฏิสันถารนั้นอาจเสีย  เช่นแขกเป็นคนชั้นสูง  เจ้าถิ่นทำการต้อนรับอย่างคนสามัญ  ดูเป็นไม่สำคัญในแขกผู้นั้นเลย  อีกผ่ายหนึ่ง  แขกเป็นคนสามัญ  เจ้าถิ่นต้อนรับแข็งแรง  อย่างทำแก่แขกชั้นสูง  ดูเป็นตื่นหรือเซอะไป  ธัมมปฏิสันถาร  หมายเอาการต้อนรับที่ทำพอดีสมแก่ฐานะของแขก

สุข  ๒
กายิกสุข สุขทางกาย (สุขเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส)
เจตสิกสุข สุขทางใจ.  ( สุขเกิดจากการปฏิบัติธรรม )
อง.  ทุก.  ๒๐/๑๐๑
  
อกุศลวิตก  ๓
กามวิตก ความตริในทางกาม
พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน
อง.  ฉกก.  ๒๒/๔๙๖.
อธิบาย  :  ความตริประกอบด้วยกามราคะ  เช่นคิดแส่ไปในการทำกาเมสุมิจฉาจาร  และทำทุราจารผิดประเพณี  และประกอบด้วยอภิชฌา  เช่นคิดแส่ไปในทางหาลาภอันไม่ชอบธรรม  จัดเป็นกามวิตก  ความตริประกอบด้วยพยาบาท  มีโทสะเป็นมูล  คือคิดทำลายหรือตัดรอนผู้อื่น  จัดเป็นพยาบาทวิตก  ความตริประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น  มีโมหะเป็นมูล  เช่นใช้คนหรือสัตว์พาหนะเกินพอดี  ไม่ปรานีไม่คิดถึงความลำบากของเขา  ของมัน  หรือแสวงหาความสนุกเพื่อตนเองในทางลำบากของผู้อื่น  จัดเป็นวิหิงสาวิตก

กุศลวิตก ๓
เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม
อพยาบาทวิตก ความตริในทางไม่พยาบาท
อวิหิงสาวิตก ความตริในทางไม่เบียดเบียน
อธิบาย  :  ความตริเป็นไปเพื่อทำใจไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลสกามและไม่ติดอยู่ในวัตถุกาม  จัดเป็นเนกขัมมวิตก  แต่เนกขัมมศัพท์นี้ท่านหมายเอาออกบวช  เพราะความมุ่งหมายของผู้บวช  ย่อมเป็นไปในทางนั้น  ความตริเป็นไปด้วยอำนาจเมตตาในผู้อื่น  ปรารถนาความดีความงามเพื่อเขา  จัดเป็น อพยาบาทวิตก  ความตริเป็นไปด้วยอำนาจกรุณาในผู้อื่น  จะทำอะไร ๆ  เนื่องด้วยผู้อื่น  เป็นต้นว่าจะใช้คนหรือสัตว์  มีปรานีคิดถึงความลำบากของเขาของมัน  ไม่ใช้ตรากตรำ  ไม่ทำความลำบากให้แก่เขาแก่มันโดยไม่จำเป็น  จัดเป็นอวิหิงสาวิตก

อัคคิ  ( ไฟ )  ๓
ราคัคคิ ไฟคือราคะ
โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ.
ขุ.  อุ.  ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย  :  กิเลส  ๓  ประเภทนี้  จัดเป็นอัคคิ  เพราะเป็นสภาพเผาลนสันดานให้ร้อน.

อธิปเตยยะ  ๓
อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่
โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่
ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่.
องฺ  ติก.  ๒๐/๑๐๑.
อธิบาย  :  อัตตาธิปเตยยะนั้น  พึงเห็นเช่นคนจะทำบุญ  ปรารภภาวะของตนผู้เป็นอิสระ  ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน  ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน  หรือมุ่งความสะดวกแห่งตนก็เช่นนั้น  โลกาธิปเตยยะนั้น  พึงเห็นเช่นผู้นั้นทำบุญ  ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสรรเสริญ  หรือไม่ทำ  เกรงเขาจะนินทา  หรือทำตามความนิยมของเขาทั้งหลายธัมมาธิปเตยยะนั้น  พึงเห็นเช่นผู้ทำไม่มุ่งอย่างอื่น  เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำหรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ

                  ญาณ ๓
สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว.
สํ  มหา.  ๑๙/๕๓๐
อธิบาย  :  ปรีชาหยั่งรู้ว่า  นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  จัดเป็นสัจจญาณ  ปรีชาหยั่งรู้ว่า  ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้  ทุกขสมุทัย  เป็นสภาพที่ควรละเสีย  ทุกขนิโรธ  เป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด  จัดเป็นกิจจญาณ  ปรีชาหยั่งรู้กิจ  ๔  อย่าง  นั้นว่าทำสำเร็จแล้ว  จัดเป็นกตญาณ  ญาณ  ๓  นี้  เป็นไปในสัจจะ  ๔  อย่างละ  ๓  จึงเป็น  ๑๒  เรียกว่าอริยสัจมีอาการ  ๑๒

ตัณหา  ๓
กามตัณหา ตัณหาในกาม
ภวตัณหา ตัณหาในภพ
วิภวตัณหา ตัณหาในปราศจากภพ.
  องฺ  ฉกฺก.  ๒๒/๔๙๔.
อธิบาย  :  ความอยากได้อยากพ้นอย่างแรง  ที่เรียกว่าทะยาน  ว่าดิ้นรน  จัดเป็นตัณหา  ความอยากได้วัตถุกามอันยังไม่ได้  และความหมกมุ่นอยู่ในวัตถุกามอันได้แล้ว  จัดเป็นกามตัณหา  ความอยากเป็นอยู่ในภพที่เกิดด้วยอำนาจความอาลัย  และความอยากเกิดในภพที่ปรารถนาต่อไป  จัดเป็นภวตัณหา  ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่  สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย  ความอยากไม่เป็นอยู่ในภพที่เกิด  คือความอยากตายเสีย  ด้วยอำนาจความเบื่อหน่ายและความอยากดับสูญไม่เกิดในภพนั้น  ๆ  อีก  จัดเป็นวิภวตัณหา  ความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่  สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย

ปาฏิหาริยะ  ๓
อิทธิปาฏิหาริยะ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจเป็นอัศจรรย์
อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์.
ที.  สี.  ๒/๒๗๓.
อธิบาย  : การแสดงฤทธิ์ได้พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์  เช่นนิรมิตตัวได้ต่าง ๆ  ล่อง หนได้  ดำดินได้  เดินน้ำได้  เหาะได้  ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง  แต่หมายเอาการแสดงฤทธิ์โต้ง ๆ  อย่างนี้  หรือหมายเอาการแสดงฤทธิ์เป็นธรรมาธิษฐาน  เปรียบด้วยบุคลาธิษฐาน  ขอฝากปราชญ์ไว้เพื่อสันนิษฐาน.  การดักใจทายใจคนได้  ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง.  คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมไปตาม  ท่านจัดเป็นปาฎิหาริยะอย่างหนึ่ง.  ปาฏิหาริยะ  ๓  นี้  ท่านว่ามีในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  และยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริยะว่า  เป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า  ๒  อย่างข้างต้น

ปิฎก  ๓
พระวินัยปิฎก หมวดพระวินัย
พระสุตตันปิฎก หมวดพระสุตตันตะ ( หรือพระสูตร )
พระอภิธรรมปิฎก หมวดพระอภิธรรม.
  วิ.  ปริวาร.  ๘/๑๒๔.
 อธิบาย  :  ศัพท์ว่าปิฎก  เป็นชื่อแห่งกระจาดหรือตระกร้า  เอามาใช้ในที่นี้ ด้วยหมายเอาความว่าเป็นหมวดที่รวบรวม  ดุจกระจาดเป็นที่รวมสิ่งของต่าง ๆ มีผักต่าง ๆ  ที่ซื้อมาจากตลาดเป็นต้น.  ปาพจน์ในที่นี้ท่านแบ่งเป็น  ๓  พระวินัยคงที่  พระธรรมแบ่งออกเป็น  ๒  หมวด  ที่แสดงโดยบุคลาธิษฐาน  หรือเจือด้วยบุคลาธิษฐาน  จัดเป็นพระสุตตันตะ  ๑  หมวดที่แสดงโดยธรรมาธิษฐานล้วน  จัดเป็นพระอภิธรรม  ๑ ทั้ง  ๓  นี้  เป็นหมวดหนึ่ง ๆ ที่รวบรวมปกรณ์มีประเภทเดียวกัน  จึงจัดเป็นปิฎกหนึ่ง ๆ 

พุทธจริยา  ๓
โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก
ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ
หรือโดยฐานเป็นพระญาติ
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์ โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า.
มโน.  ปุ.  ปฐม.  ๑๐๔.
อธิบาย  :  โลกัตถจริยานั้น  ได้แก่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าสัตว์โลกทั่วไป  เช่นทรงแผ่พระญาณเล็งดูสัตว์โลกทุกเช้าค่ำ  ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณ  เสด็จไปโปรดผู้นั้น  กล่าวสั้นทรงสงเคราะห์คนทั้งหลายโดยฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  นับเข้าในข้อนี้
ญาตัตถจริยา  ได้แก่ทรงสงเคราะห์พระญาติโดยฐานเป็นพระญาติ  เช่นทรงพระอนุญาตให้พวกศากยะผู้เป็นพระญาติและเป็นเดียรถีย์  จะเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา  ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส  ๔  เดือนก่อน  เหมือนพวกเดียรถีย์อื่น  นี้เป็นญาตัตถจริยาโดยเฉพาะ  เมื่อเพ่งถึงพระพุทธจริยาอันเป็นไปเพื่อสงเคราะห์พระญาติ  การเสด็จไปเทศนาโปรดพระญาติ  ณ  นครกบิลพัสดุ์ก็ดี  การเสด็จไปห้ามพระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะผู้วิวาทกันด้วยแย่งน้ำเข้านาก็ดี  จัดเข้าในข้อนี้ก็ได้
พุทธัตถจริยานั้น  ได้แก่พระพุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก้มหาชนโดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า  เช่นทรงบัญญัติสิกขาบท  อันเป็นอาทิพรหมจรรย์บ้าง  อันเป็นอภิสมาจารบ้าง  เพื่อนิคคหะ  พวกภิกษุหน้าด้านไม่ละอาย  ซึ่งเรียกว่าทุมมังกุผู้เก้อยาก  คือผู้ไม่ค่อยรู้จักอายบ้าง  เรียกว่าอลัชชี  ผู้ไม่มียางอายบ้าง  และเพื่อวางระเบียบนำความประพฤติแห่งพวกภิกษุผู้รักดีรักงาม  ซึ่งเรียกว่าเปสละบ้าง  ผู้มีอายเรียกว่าลัชชีบ้าง  และทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา  ให้บริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรม  ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบมา  กล่าวสั้น  ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า  นับเข้าในข้อนี้

วัฏฏะ  ( วน )  ๓
กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม
วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก.
  อภิ.  สงฺ.  ๔๖.
อธิบาย  :  สภาพ  ๓  นี้  ได้ชื่อว่า  วน  เพราะหมุนเวียนกันไป  คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม  ครั้นทำกรรมแล้ว  ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม  เมื่อได้รับวิบาก  กิเลสเกิดขึ้นอีก  วนกันไปอย่างนี้  จนกว่าพระอรหัตตมรรคจะตัดให้ขาดลง  ทั้ง  ๓  นี้เรียกว่า  ไตรวัฏฏะ

สิกขา  ๓
อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลยิ่ง
อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตยิ่ง
อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญายิ่ง.
องฺ.  ติก.  ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย  :  ปฏิปทาที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา  คือฝึกหัดไตรทวารไปตามชื่อว่าสิกขา.ในเบื้องต้น  ควรหัดปฏิบัติรักษามารยาทกายวาจาให้เรียบร้อยปราศจากโทษสมควรแก่หมู่ก่อน  นี้จัดเป็นสีลสิกขา.  ในลำดับนั้น  ควรหัดรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจ  อาจทำให้แน่แน่วควรแก่การงานในคราวต้องการ  นี้จัดเป็นจิตตสิกขา  ในที่สุด  ควรหัดใช้ปัญญา ให้รอบรู้สภาวธรรม  อันเป็นไปด้วยความเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน  จัดเป็นปัญญาสิกขา.  เพ่งธรรมอันอุกฤษฏ์  เรียกว่า  อธิสีลสิกขา  อธิจิตตสิกขา  อธิปัญญาสิกขา

อบาย  ๔
นิรยะ นรก
ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต
อสุรกาย พวกอสุระ
ขุ.  อิติ.  ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย  :  ภูมิกำเนิด  หรือพวกอันหาความเจริญมิได้  จัดเป็นอบายนิรยะ  ท่านว่าเป็นภูมิที่ลงโทษคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิดขึ้น  ณ  ที่นั้น  มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำกรรมกรต่าง ๆ  ให้ได้ความเดือดร้อน  แสดงโดยบุคลาธิษฐานด้วยถูกไฟลวกและถูกประหารดุจความเข้าใจของพวกพราหมณ์ครั้งเวทิกสมัย  คือยุคถือลัทธิตามพระเวทว่า  คนบาปตายไปแล้วถูกพระยมชำระแล้วลงโทษให้ตกนรก  และต้องเสวยกรรมกรณ์ต่าง ๆ  แต่ในปูนหลังกล่าวเพียงนรกและคนทำบาปไปเกิดเองในภูมินั้น  การถูกเพลิงลวกหรือถูกประหารก็เป็นอยู่ในภูมินั้นเอง  ไม่กล่าวถึงนายนิรยบาล  เป็นกลเม็ดอยู่  กำเนิดดิรัจฉานที่ไม่มีภูมิเป็นที่ต่างหาก  ต้องอาศัยมนุษยโลก  ปรากฏแล้ว  นอกจากนี้ยังมีนาคและครุฑมีพิภพเป็นที่อยู่  มีพระราชาในพวกกันเอง  เป็นสัตว์ผู้บริบูรณ์  แม้อย่างนั้น  ท่านก็จัดเป็นอบายเพราะไม่เป็นภัพพบุคคลเหมือนมนุษย์  ศัพท์ว่า  เปรต  แปลว่า  ผู้ละไปแล้ว  หมายเอาผีผู้เคยเป็นมนุษย์มาก่อนยังไม่ได้ถือกำเนิดอื่น  ได้ในศัพท์สัมภเวสี  ผู้แสวงหาที่เกิดในเมตตสูตร  ภายหลังหมายเอาเฉพาะจำพวกทำบาปมีโทษไม่ถึงตกนรก  แต่มีรูปร่างทรวดทรงไม่สมประกอบ  ตกยาก  ได้ความอดอยากเป็นล้นเหลือ  เดือดร้อนไปในทางเป็นอยู่ของตนเอง  พวกเปรตนี้  ดูเหมือนอาศัยมนุษยโลกก็มี  พึงเห็นอย่างพวกเปรตพระญาติเก่าของพระเจ้าพิมพิสาร  ซึ่งกล่าวถึงในติโรกุฑฑสูตร  และในอรรถกถาแห่งสูตรนั้น  ดูเหมือนมีภูมิสำหรับเปรตเหล่านั้นก็มี  พึงเห็นอย่างพวกเปรตซึ่งกล่าวถึงในชาณุสโสณีสูตร  นอกจากนี้  ยังมีเปรตอีกจำพวหนึ่ง  อยู่ปลีกตามลำพังในมนุษยโลก  ได้เสวยสุขเสวยทุกข์ปนกัน  มีวิมานอยู่  มีสมบัติ ได้เสวยสุขในวิมานตลอดกลางวัน  ครั้นค่ำลง  ต้องออกจากวิมานไปรับกรรมกรเหมือนสัตว์นรกตลอดกลางคืน  พอสว่างก็กลับวิมานได้อีก  
อสุรกาย  ในบาลีไม่กล่าวถึงเลย  ในอรรถกถาก็ได้พบเพียงสักว่าชื่อ  ในปทานุกรมสํสกฤต  แก้อสุรศัพท์ว่าผู้เป็นอยู่  อธิบายว่า  ได้แก่ผีเป็นอทิสสมานกาย  ประเภทที่ชั่ว  ตรงกับผีไม่มีชื่อผู้เที่ยวหลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว  ผีแปลกจากเปรตเพราะเที่ยวหลอก  เปรตไม่หลอก  เป็นแต่คนไปพบเข้าเอง  หรือเมื่อจะร้องทุกข์แก่คน  ก็แสดงตัวให้เห็นเป็นอทิสสมานกายหรือไม่  ไม่ชัดนัก  แต่กล่าวถึงทั้ง  ๒  อย่าง  อาหารของสัตว์นรก  ท่านกล่าวว่ากรรม  อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน เป็นตามประเภทของมัน  ที่เป็นส่วนใหญ่  ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันเป็นต้นว่า  เนื้อและเลือดก็มี  ของนับเข้าในภูตคาม  เป็นต้นว่า  หญ้าและใบไม้ก็มี  อาหารของเปรต  ท่านกล่าวว่ากรรมด้วย  ผลทานอันญาติมิตรผู้ยังเป็นอยู่ในมนุษยโลกบริจาคแล้วอุทิศไปถึงด้วย  อาหารของอสุรกายไม่ได้ระบุไว้ชัด  เทียบอาหารของยักษ์เลว ๆ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันไม่เลือกว่าดีหรือเสีย  สกปรกหรือไม่  ข้าพเจ้าจักเปรียบสัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  เพื่อเป็นทางสันนิษฐาน  สัตว์นรก  เช่นคนโทษถูกรับอาญาแผ่นดิน  ต้องเสวยกรรมกรณ์อยู่ในพันธนาคาร  แต่รัฐบาลให้อาหารกินไม่อดอยากมากนัก  เปรต เช่น  คนตกทุกข์ได้ยากหากินในทางเที่ยวขอทาน  อสุรกาย  เช่น  คนอดอยากอย่างนั้นแล้ว  เที่ยวลอบทำโจรกรรมในค่ำคืน  ตลอดถึงการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น.

อปัสเสนธรรม  ๔
พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง.
ที.  ปาฏิ.  ๑๑/๒๓๖.
อธิบาย  :  ข้อต้น  เสพของอันสบาย  ต่างโดยเป็นจีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  คิลานเภสัช  บุคคลและธรรมเป็นต้น  ที่เสพเข้ากุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น  อกุศลไม่เกิด  ที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไป  ข้อที่  ๒  อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ  ต่างโดยหนาว  ร้อน  หิว  กระหาย  ถ้อยคำเสียดแทง  และทุกขเวทนาอันแรงกล้า  ข้อที่  ๓  เว้นของไม่สบาย  ต่างโดยประเภทอย่างนั้น  ที่เสพเข้า  อกุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น  กุศลไม่เกิด  ที่เกิดแล้วเสื่อมสิ้นไป  ข้อที่  ๔  บรรเทาอกุศลวิตกอันสัมปยุตด้วยกาม  ด้วยพยาบาท  ด้วยวิหิงสา

อัปปมัญญา  ๔
เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา
ที.  สี.  ๙/๓๑๐
อัปปมัญญา  แปลว่า  ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์  เพราะแผ่ไปโดยไม่เจาะจง  ไม่จำกัด  ว่าเป็นมิตรหรือศัตรูเป็นต้น
เมตตา  โดยพยัญชนะ  ได้แก่ความสนิทสนม  คือ  รักใคร่  เว้นจากราคะ  โดยอรรถ  ได้แก่ปรารถนาความสุขความเจริญเพื่อผู้อื่น.  กรุณา  โดยพยัญชนะ  ได้แก่ความหวั่นใจ  เมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์ร้อน  โดยอรรถ ได้แก่ความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา.  มุทิตา  โดยพยัญชนะ  ได้แก่ความชื่นบาน  โดยอรรถ  ได้แก่ความพลอยยินดีด้วย  ในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี.  อุเบกขาโดยพยัญชนะ  ได้แก่ความวางเฉย  โดยอรรถ  ได้แก่ความวางตนเป็นกลาง  ในเมื่อจะแผ่เมตตากรุณาไปไม่บังควร  เช่นเอาใจช่วยโจรเป็นตัวอย่าง  หรือในเมื่อจะพลอยยินดีด้วยสมบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง  จำจะยินดีด้วยวิบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง  เช่น  ๒  ฝ่ายเป็นความกัน  จะพลอยยินดีด้วยฝ่ายชำนะก็จำจะยินดีด้วยความแพ้ของอีกฝ่ายหนึ่ง.  ธรรม  ๔  อย่างนี้  ที่แผ่โดยเจาะตัวก็ดี  โดยไม่เจาะตัวแต่ยังไม่จำกัดมุ่งเอาหมู่นี้หมู่นั้นก็ดี  จัดเป็น  พรหมวิหาร  แปลว่า  ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม  โดยอธิบายว่าพรหมโดยอุบัติก็ดี  พรหมโดยสมมติ  คือ  ผู้ใหญ่ก็ดี  ย่อมอยู่ด้วยธรรมเหล่านี้.  ที่แผ่โดยไม่เจาะตัวไม่มีจำกัด  จัดเป็นอัปปมัญญา  แปลว่า  ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์  เป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

โอฆะ  ๔
กาโมฆะ โอฆะคือกาม
ภโวฆะ โอฆะคือภพ
ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ
อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา.
สํ.  มหา.  ๑๙/๘๘.
กาม  ภพ  มิจฉาทิฏฐิ  และอวิชชา  ชื่อว่า  โอฆะ  เพราะเป็นเหมือนห้วงน้ำที่ท่วมใจสัตว์ให้จมลงในวัฏฏทุกข์
อธิบาย  :  กาม  ภพ  อวิชชา  พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในอาสวะ  ๓  ทิฏฐิ  หมายเอามิจฉาทิฏฐิ   สภาพ  ๔  นี้  ได้ชื่อว่าโอฆะ  เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์  ได้ชื่อว่าโยคะ  เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ  ได้ชื่อว่าอาสวะเพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน

กิจในอริยสัจ  ๔
ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
ปหานะ ละสมุทัยสัจ
สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด.
สํ.  มหา.  ๑๙/๕๓๙.
อธิบาย  :  อริยมรรคเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจ  ๔  นี้ในขณะเดียวกัน
  
บริษัท  ๔
ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา
  อง  จตุก ก.  ๒๑/๑๗๘

บุคคล  ๔
อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมพอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง
  อง  จตุก ก.  ๒๑/๑๘๓
อธิบาย  :  บุคคลที่  ๑  เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นอย่างดี  ท่านผู้เทศนายกเพียงหัวข้อขึ้นแสดง  ก็เข้าใจแล้ว  ตัวอย่างเช่น  พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรครั้งยังเป็นปริพาชกว่า  ความเกิดและดับแห่งธรรมทั้งหลายเพราะเหตุ  พระสารีบุตรเข้าใจดีว่า  หัวใจพระพุทธศาสนาถือว่า  สิ่งนั้น  ๆ  สารพัดทุกอย่างเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน  เกิดขึ้นเพราะเหตุ  ดับก็เพราะสิ้นเหตุ  บุคคลที่  ๒  มีปฏิภาณไม่ถึงอย่างนั้น ต่อได้ฟังอธิบายความจึงเข้าใจได้  ตัวอย่างเช่น  พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระศาสดาตรัสว่า  ปัญจขันธ์  เป็น  อนัตตา  แล้วทรงอธิบายว่าถ้าปัญจขันธ์เป็นอัตตาแล้วไซร้  ปัญจขันธ์นั้นก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก  และจะพึงปรารถนาได้ตามใจว่า  ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด  อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย  ท่านเข้าใจแล้ว  บุคคลที่  ๓  ได้แก่ผู้พอจะฝึกสอนอบรมได้ต่อไป  อย่างคนสามัญ  บุคคลที่  ๔  ได้แก่บุคคลผู้สักว่าฟัง  ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเพราะการฟัง

มรรค  ๔
โสดาปัตติมรรค
สกทาคามิมรรค
อนาคามิมรรค
อรหัตตมรรค
  วิ.  ญาณทสสน.  ตติย.  ๓๑๙
อธิบาย  :  ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้เด็ดขาด  เรียกว่ามรรค  มรรคนั้นจำแนกเป็น  ๔  ด้วยอำนาจกำจัดสังโยชน์แต่เพียงเอกเทศบ้าง  สิ้นเชิงบ้าง
๑.  โสดาปัตติมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้  ๓  คือสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส
๒.  สกทาคามิมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้  ๓  เหมือนโสดาปัตติมรรค
กับทำราคะ  โทสะ  โมหะ  ให้เบาลง
๓.  อนาคามิมรรค เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง  ๕.
๔.  อรหัตตมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง  ๑๐

ผล  ๔
โสดาปัตติผล
สกทาคามิผล
อนาคามิผล
อรหัตตผล
  ที.  ปาฏิ.  ๑๑/๒๔๐
อธิบาย :  ธรรมารมณ์อันเกิดสืบเนื่องมาแต่มรรค  เสวยกำไรที่มรรคได้ทำไว้นั้น  เรียกว่าผล  ผลนั้นก็มีชื่อเป็น  ๔  ตามมรรค  จักแสดงข้ออุปมาเปรียบมรรคกับผลพอเล็งเห็น.  สังโยชน์เหมือนโรคในกาย  มรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย  ผลเหมือนความสุขสบายอันเกิดแต่ความสิ้นโรค.  อีกอุปมาหนึ่ง  สังโยชน์เหมือนโจรในป่า  มรรคเหมือนกิริยาปราบโจร  ผลเหมือนความสงบราบคาบเกิดมีเพราะหมดโจร

พระอริยบุคคล  ๔
พระโสดาบัน
พระสกทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์
ที.  สี.  ๙/๑๙๙.

อนุปุพพีกถา  ๕
ทานกถา กล่าวถึงทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม
  มหาวคค.  ปฐม.  ๔/๓๐.
อธิบาย  :  เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ  เพื่อฟอกอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ  เรียกอนุปุพพีกถา  มีนิยมเป็นพิเศษ  ๕  อย่างนี้  ท่านกล่าวว่า  เป็นพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงในคราวที่ผู้ฟังมีอุปนิสัยสามารถจะบรรลุธรรมพิเศษ  ก่อนแต่ทรงแสดงอริยสัจ  มีอรรถาธิบายว่า  ในเบื้องต้น  ทรงแสดงประโยชน์แห่งการให้  เพื่อละความเห็นแก่ตัวและความตระหนี่เสียแล้ว  มีใจเผื่อแผ่สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง  ในลำดับนั้น  ทรงแสดงประโยชน์แห่งศีล  คือความประพฤติเรียบร้อย  เพื่อเว้นจากเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่ทำภัยอันตรายให้เกิดขึ้นในหมู่ที่ตนเข้าอยู่ด้วย  และเพื่อรู้จักนับถือเขา  ในลำดับนั้น  ทรงแสดงสมบัติคือความดีความงามอันคนผู้ให้และคนผู้มีศีลจะพึงได้พึงถึงในมนุษยโลก  ตลอดขึ้นไปถึงสวรรค์  เป็นอัสสาทะ  คือรสอร่อยแห่งกาม  เพื่อเห็นอานิสงส์แห่งทานและศีลยิ่งขึ้น  ในลำดับนั้น  ทรงแสดงอาทีนพแห่งกามว่า  แม้ให้สุขโดยประการต่าง ๆ  แต่ก็ยังเจือด้วยทุกข์  ไม่ควรเพลิดเพลินโดยส่วนเดียว  ควรเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน  ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์แห่งความออกจากกาม  คือทำจิตไม่ให้หมกมุ่นอยู่ในกาม  เพื่อยังฉันทะให้เกิด  คนผู้ไม่เห็นแก่ตัว  ให้ทรัพย์ของตนเกื้อกูลผู้อื่น  มีศีลประพฤติเรียบร้อย  ไม่ทำร้ายเขา  และไม่เย่อหยิ่ง  ตั้งตนได้ในกามสมบัติแล้ว  ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นอยู่ในนั้น  ยังแลเห็นโทษและเบื่อหน่าย  มุ่งสุขอันสงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก  เป็นผู้ควรรับเทศนาอย่างสูง  คืออริยสัจ  เหมือนผ้าอันฟอกหมดจดแล้ว  ควรรับน้ำย้อมมีประการต่าง ๆ  สุดแต่ผู้ย้อมจะน้อมไปฉะนั้น

มัจฉริยะ  ๕
อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่
กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล
ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ
วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ
ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
  อง  นวก.  ๒๓/๔๘๑
อธิบาย  :  ความหวงถิ่น  ไม่พอใจให้คนต่างด้าว  ต่างชาติ  ต่างนิกาย เข้ามาอยู่แทรกแซง  จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ  ความหวงสกุลไม่ยอมให้สกุลอื่นเข้ามาเกี่ยวดองด้วย  จัดเป็นกุลมัจฉริยะ  ความหวงสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ  ไม่พอใจให้บำรุงภิกษุอื่น  คอยกีดกันเสีย  จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต  ความหวงทรัพย์พัสดุไม่ให้ผู้อื่น  จัดเป็นลาภมัจฉริยะ  ความหวงคุณความดี  ไม่ปรารถนาให้คนอื่นสู้ได้  จัดเป็นวัณณมัจฉริยะ.  อีกอย่างหนึ่ง  วัณณะแปลว่า  สีกาย  ความหวงสวยหวงงามอันเป็นกิเลสของหญิงสาว  ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ.  ความหวงธรรม  หวงศิลปวิทยา  ไม่ปรารถนาจะแสดงจะบอกแก่คนอื่นเกรงว่าเขาจะรู้เทียมตน  จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ

มาร  ๕
ขันธมาร มารคือปัญจขันธ์
กิเลสมาร มารคือกิเลส
อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร
มัจจุมาร มารคือมรณะ
เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร
  วิ.  ฉยนุสสติ.  ปฐม.  ๒๗๐
อธิบาย  :  ปัญจขันธ์  ได้ชื่อว่ามาร  เพราะบางทีทำความลำบากให้  อันเป็นเหตุเบื่อหน่าย  จนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี  กิเลสได้ชื่อว่ามาร  เพราะตกอยู่ในอำนาจแห่งมันแล้ว  มันย่อมผูกรัดไว้บ้างย่อมทำให้เสียคนบ้าง  อภิสังขารคือกรรมฝ่ายอกุศล  ได้ชื่อว่ามาร  เพราะทำให้เป็นผู้ทุรพล  มัจจุ  คือมรณะ  ได้ชื่อว่ามาร  เพราะตัดชีวิตเสีย.  เทวบุตรผู้มุ่งร้าย  ได้ชื่อว่ามาร  เพราะเป็นบุคลาธิษฐานแห่งสภาวะอันทำลายล้าง  ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรไม่ใช่เป็นมารทุกองค์  เป็นเฉพาะผู้มุ่งร้าย  โดยนัยนี้  ปัญจขันธ์ก็ดี  กิเลสก็ดี  อภิสังขารก็ดี  น่าจะหมายเอาเฉพาะส่วนอันให้ร้าย  มัจจุ  น่าจะหมายเอาในเวลาที่ชีวิตกำลังเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน  เช่นถ้ายังเป็นอยู่ต่อไปจะได้บรรลุธรรมพิเศษ  เช่นพระศาสดาทรงปรารภถึงอาฬารดาบส  และอุทกดาบส  เมื่อครั้งทรงพระดำริหาผู้สมควรรับปฐมเทศนา  หรือจักได้สั่งสอนมหาชน  เช่น  พระศาสดาทรงอธิษฐานพระชนมายุเมื่อแรกจะทรงบำเพ็ญพุทธกิจ  ข้าพเจ้าจึงแก้ไว้อย่างนี้

เวทนา  ๕
สุข  ทุกข์  โสมนัส  โทมนัส  อุเบกขา.
  สํ.  สฬ.  ๑๘/๒๘๗. 
อธิบาย  :  สุขไม่มาเป็นคู่กับโสมนัส  เช่นสุขมาในเวทนา  ๓  หมายเอาทั้งสุขกายสุขใจ สุขมาเป็นคู่กับโสมนัส  เช่นสุขในเวทนา  ๕  นี้  หมายเอาเฉพาะสุขกาย  ทุกข์ไม่มาเป็นคู่กับโทมนัส  หมายอาทั้งทุกข์กายทั้งทุกข์ใจ  ทุกข์มาคู่กับโทมนัส  หมายเอาเฉพาะทุกข์กาย  โสมนัสหมายเอาสุขใจ  โทมนัสหมายเอาทุกข์ใจ  อุเบกขาหมายเอาความเฉยแห่งใจ  เพราะอุเบกขาทางกายไม่มี  กายเป็นปกติอยู่จัดว่าเป็นสุข

จริต  ๖  
๑.  ราคจริต มีราคะเป็นปกติ
๒.  โทสจริต มีโทสะเป็นปกติ
๓.  โมหจริต มีโมหะเป็นปกติ
๔.  วิตักกจริต มีวิตกเป็นปกติ
๕.  สัทธาจริต มีศรัทธาเป็นปกติ
๖.  พุทธิจริต มีความรู้เป็นปกติ
วิ.  กมมฏฐานคคห.  ปฐม.  ๑๒๗.
อธิบาย :  คนที่  ๑  มีปกติรักสวยรักงาม  จะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ  หรืออสุภกัมมัฏฐาน
คนที่  ๒  มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย  จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา
คนที่  ๓  มีปกติเขลางมงาย  จะพึงแก้ด้วยเรียน  ถาม  ฟังธรรม  และสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู
คนที่  ๔  มีปกตินึกพล่าน  จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์  เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
คนที่  ๕  มีปกติเชื่อง่าย  จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส  เช่น  กล่าวถึงคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์
คนที่  ๖  เรียกว่าญาณจริตก็มี  มีปกติใช้ความคิด จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ  เช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์.

ธรรมคุณ  ๖
๑.  สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
๒.  สนฺทิฏฺฐโก อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง
๓.  อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
๔.  เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู
๕.  โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
  ๖.  ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
อง.  ติก.  ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย :  บทว่า  สฺวากฺขาโต  หมายความกว้าง  ท่านพรรณาว่า  ได้ใน  ๒  สัทธรรม  คือ  ปริยัติ  กับปฏิเวธ  ปริยัติ  ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะตรัสไม่วิปริต  คือตรัสได้จริง  เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกันที่ท่านเรียกว่า  ไพเราะในเบื้องต้น  ท่ามกลาง  ที่สุด  มีทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง  และเพราะประกาศพรหมจรรย์  อย่างนั้น  ปฏิเวธ  ได้ชื่ออย่างนั้น  เพราะปฏิปทากับพระนิพพานย่อมสมควรแก่กันและกัน.  ตั้งแต่บทว่า  สนฺทิฏฺฐิโก  เป็นต้นไป  ได้ในปฏิเวธอย่างเดียว
บทว่า  สนฺทิฏฺฐิโก หมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นเอง รู้เอง ไม่ต้องเชื่อตามคำผู้อื่น
บทว่า  อกาลิโก  หมายความว่า  ให้ผลในลำดับแห่งการบรรลุ ไม่เหมือน
ผลไม้อันให้ผลตามฤดู
บทว่า  เอหิปสฺสิโก  หมายความว่า เป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรป่าวร้องกันมาดูมาชม
บทว่า  โอปนยิโก  หมายความว่า ควรน้อมเข้าไว้ในใจของตน หรือควรน้อมใจเข้าไปหา.
บทว่า ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ หมายความว่า  ผู้ใดได้บรรลุ  ผู้นั้นย่อมรู้แจ้งเฉพาะตน  อันผู้อื่นไม่พลอยมาตามรู้ตามเห็นด้วยได้
มติของข้าพเจ้าว่า  พระธรรมในที่นี้ดูเหมือนท่านผู้แสดงไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค  กล่าวรวมปนกันไป  แต่เมื่อจะกล่าวแยกบทว่า  สฺวากฺขาโต  น่าจะได้ในปริยัติอย่างเดียว  และได้ชื่ออย่างนั้น  เพราะตรัสอิงเหตุและเพราะตรัสแต่พอดีเป็นกลาง ไม่หย่อนไม่ตึงด้วยก็ได้  ข้อว่าได้ในปฏิเวธนั้น  ความอธิบายอยู่ข้างมัว  แม้พรรณนามากไปอย่างไรก็ไม่พ้นมัว  และคำว่าปฏิปทากับพระนิพพานสมควรแก่กันและกันนั้น  ปฏิปทาก็ได้แก่ปฏิบัตินั้นเอง  แก้ไปข้างปฏิบัติก่อนนั่นแลจึงจะกระจ่าง  เพราะปฏิบัตินับเข้าในบทนี้ก็ได้  เพราะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาและอนุบุพพปฏิปทา  เมื่อปฏิบัติดีแล้ว  ผลแห่งปฏิบัติจึงจักปรากฏว่าดีตามกัน
 บทว่า  สนฺทิฏฺฐิโก  อาจได้ในธรรมอื่นจากปฏิเวธด้วยก็ได้เพราะปริยัติก็ต้องการความเข้าใจที่ได้เห็นเอง  ปฏิบัติก็ต้องการความรู้จักทางที่ได้เห็นเอง  ในลำดับนั้นปฏิเวธจึงเกิด  ที่ให้เจ้าตัวรู้ว่าทำให้แจ้งแล้ว
 บทว่า  อกาลิโก  ก็เหมือนกัน  เพราะผู้ฟังปริยัติย่อมได้ปสาทะและศรัทธาเป็นต้นในขณะฟังนั้นเองก็มี  ปฏิบัติย่อมเป็นที่นิยมในกาลทุกเมื่อ  ไม่เป็นไปในบางคราว  และได้อานิสงส์แห่งการปฏิบัติในทันทีก็มี
 บทว่า  เอหิปสฺสิโก  เปรียบด้วยการดูด้วยมังสจักษุ น่าจะได้ในปริยัติและปฏิบัติด้วย  เพราะปริยัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันมาฟังและเพราะปฏิบัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันให้ทำตาม  เพื่อจะได้ชมปฏิเวธด้วยน้ำใจ
 บทว่า  โอปนยิโก  น่าจะได้ในปฏิบัติด้วย  เพราะแม้ปฏิบัติก็ควรน้อมเข้ามาด้วยทำตามหรือทำให้เกิดขึ้น
 บทว่า  ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ  ก็เหมือนกัน  เพราะการปฏิบัติอันจะให้ได้ผลดี  อันผู้ปฏิบัติต้องรู้จักทำให้สมควรแก่ฐานะของตน
 เพราะอย่างนี้  ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า  พระธรรมในที่นี้  ท่านผู้กล่าวไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค  กล่าวรวมกันไป.  ไม่กล่าวถึงปฏิบัติธรรมบ้างเลย  ไม่เป็นอุบายให้เกิดอุตสาหะ  เมื่อไม่ปฏิบัติปฏิเวธจะเกิดขึ้นไฉน  ปริยัติอันแสดงเพื่อชักนำให้ปฏิบัติ  ก็หาประโยชน์มิได้

วิสุทธิ  ๗
๑.  สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒.  จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓.  ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔.  กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้าม
พ้นความสงสัย
๕.  มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็น
ว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖.  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ     ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็น
ทางปฏิบัติ
๗.  ญาณทัสสนวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
ม.  ม.  ๑๒/๒๙๐.

อธิบาย  :  การรักษาศีลตามภูมิของตนให้บริสุทธิ์  จัดเป็นสีลวิสุทธิ
สมาธิ  ทั้งที่เป็นอุปจาร  ทั้งที่เป็นอัปปนา  โดยที่สุดขณิกสมาธิ  คือสมาธิชั่วขณะพอเป็น   ปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา  จัดเป็นจิตตวิสุทธิ
การพิจารณาเห็นนามรูป  โดยปัจจัตตลักษณะ  คือลักษณะเฉพาะตน  เช่น  ธาตุดินมีลักษณะแข็งเป็นต้น  และโดยสามัญญลักษณะ  คือลักษณะที่เหมือนกันทั่วไป  ได้แก่ทุกสิ่งล้วนเป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  จัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ
การกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูปนั้นว่า  เพราะอะไรเกิดขึ้น  นามรูปจึงเกิดขึ้น  เพราะอะไรดับ  นามรูปจึงดับ  จนเป็นเหตุสิ้นสงสัยในนามรูปทั้งที่เป็นมาแล้วในอดีต  ทั้งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน  ทั้งจักเป็นในอนาคต  จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ 
ญาณอันรู้จักหยั่งลงว่า  นี้ทาง  นี้มิใช่ทาง แห่งธรรมพิเศษ จัดเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ 
วิปัสสนาญาณ  ๙  จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณในอริยมรรค  ๔  จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ.  วิสุทธิ  ๗  นี้  เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุพระนิพพาน  เหมือนรถ  ๗  ผลัด  ต่างส่งต่อซึ่งคนผู้ไปให้ถึงสถานที่ปรารถนา


อัฏฐกะ  หมวด  ๘
อวิชชา  ๘
๑.  ไม่รู้จักทุกข์
๒.  ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์
๓.  ไม่รู้จักความดับทุกข์
๔.  ไม่รู้จักทางถึงความดับทุกข์
๕.  ไม่รู้จักอดีต
๖.  ไม่รู้จักอนาคต
๗.  ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต
๘.  ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท
ขุ.  จูฬ.  ๓๑/๙.  ธมมสงคณี.  ๓๔/๑๘๐
 อธิบาย  :  ๔  อย่างข้างต้น  ได้แก่ไม่รู้แจ้งอริยสัจ  ๔  ไม่รู้จักอดีตนั้น  คือ  ไม่รู้จักสาวหลัง  เมื่อพบเห็นผลในปัจจุบัน  ไม่รู้จักสาวหาต้นเค้าว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดมีขึ้น  ไม่รู้จักอนาคตนั้น  คือ  ไม่รู้จักคาดหน้า  ไม่อาจปรารภการที่ทำ  หรือเหตุอันเกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วและคาดหน้าว่าจักมีผลเป็นอย่างนั้น ๆ  ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคตนั้น  คือไม่รู้จักโยงเหตุในอดีต  และผลในอนาคตให้เนื่องถึงกัน  ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทนั้น  คือไม่รู้จักกำหนดสภาวะนั้น ๆ  โดยความเป็นเหตุเป็นผลแห่งกันและกันเนื่องกันไป  ดุจลูกโซ่เกี่ยวกันเป็นสาย  ฉะนั้น

นวกะ  หมวด  ๙
พุทธคุณ  ๙
อิติปิ  โส  ภควา   แม้เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
๑.  อรหํ เป็นพระอรหันต์
๒.  สมฺมาสมฺพุทฺโธ   เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
๓.  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน   เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
๔.  สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
๕.  โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖.  อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ   เป็นสารถีแห่งบุรุษพึงฝึกได้  
ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
๗.  สตฺถา  เทวมนุสฺสานํ   เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย
๘.  พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้วเป็นผู้เบิกบานแล้ว
๙.  ภควา เป็นผู้มีโชค
อง.  ติก.  ๒๐/๒๖๕.

สังฆคุณ  ๙
ภควโต  สาวกสงฺโฆ   พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
๑.  สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
๒. อุชุปฏิปนฺโน   เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว.
๓.  ญายปฏิปนฺโน   เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม.
๔.  สามีจิปฏิปนฺโน   เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
   ยทิทํ นี้คือ
       จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ   คู่แห่งบุรุษ  ๔
       อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา   บุรุษบุคคล  ๘
   เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
๕.  อาหุเนยฺโย   เป็นผู้ควรของคำนับ
๖.  ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
๗.  ทกฺขิเณยฺโย   เป็นผู้ควรของทำบุญ
๘.  อญฺชลิกรณีโย   เป็นผู้ควรทำอัญชลี  (ประณมมือไหว้)
๙.  อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โกกสฺส   เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
อง.  ติก.  ๒๐/๒๖๗.
 อธิบาย  : พระสงฆ์นี้  หมายเอาจำพวกพระสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษ

ทสกะ  หมวด  ๑๐
บารมี  ๑๐
ทาน  ศีล  เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ  สัจจะ  อธิฏฐาน  เมตตา  อุเบกขา
ขุ.  จริยา.  ๓๓/๕๙๖.

 อธิบาย  :  ศัพท์ว่า  บารมี  สันนิษฐานว่าออกจากศัพท์  บารมี  แปลว่าคุณสมบัติหรือปฏิปทาอันยวดยิ่ง  ท่านพรรณนาว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์  เมื่อบารมีเหล่านี้เต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้  บารมีเหล่านี้กระจ่างแล้วโดยมาก  จักแก้เฉพาะบางประการ  เนกขัมมะ  ได้แก่การออกบวช  โดยอธิบายว่าออกจากกาม  สัจจะ  น่าจะได้แก่ความซื่อตรง  หรือความตั้งใจทำจริง  หรือการมุ่งแสวงหาความจริง  แต่ในชาดกปกรณ์จัดเอาการยกเอาความเป็นจริงอยู่อย่างไร  ขึ้นตั้งอธิษฐานเพื่อสำเร็จผลที่มุ่งหมายเป็นสัจจบารมี  อธิษฐาน  ได้แก่การตั้งใจมั่น  อุเบกขา  ได้แก่ความไม่ยินดียินร้าย  บารมีเหล่านี้  ท่านแจกออกเป็น  ๓  หมวด  คือ  บารมี  อุปบารมี  ปรมัตถบารมี  สิริเป็นบารมี  ๓๐ ทัศ  บารมี  ๓  หมวดนี้ต่างกันอย่างไร  สันนิษฐานยาก  ความเข้าใจของพระคันถรจนาจารย์  ก็ไม่แน่ลงเหมือนกัน  ท่านแก้ทานอย่างหนึ่งว่า  การให้ไม่ได้ระบุพัสดุ  จัดเป็นทานบารมี  การให้พัสดุภายนอก  จัดเป็นทานอุปบารมี  การให้อวัยวะและชีวิต  จัดเป็นทานปรมัตถบารมี  อีกอย่างหนึ่งว่า  การสละพัสดุภายนอก  จัดเป็นทานบารมี  การสละอวัยวะ  จัดเป็นทานอุปบารมี  การสละชีวิต  จัดเป็นทานปรมัตถบารมี  อุปบารมี  เป็นศัพท์ที่น่าสันนิษฐานก่อน  ตามพยัญชนะแปลว่า  บารมีใกล้หรือบารมีรอง  เรียงไว้ในระหว่างกลาง  สันนิษฐานว่า  ปรมัตถบารมีเป็นยอด  รองลงมาอุปบารมี  โดยนัยนี้ได้ความว่า  เป็นบารมีที่รองปรมัตถบารมีลงมา  พิเศษกว่าบารมีเฉย ๆ  แบ่งบารมีอย่างหนึ่งออกเป็น  ๓  จำต้องอาศัยเกณฑ์  ตามที่ท่านตั้งมาแล้ว  
ทานแบ่งง่าย  สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่คนมาก  หรือเพื่อเปลื้องทุกข์คนอื่น  จัดเป็นทาน     ปรมัตถบารมี  สละอวัยวะแห่งร่างกาย  เช่นพยายามเพื่อจะทำประโยชน์หรือเปลื้องทุกข์เขา  แต่ต้องเสียอวัยวะของตนในการทำอย่างนั้น  จัดเป็นทานอุปบารมี  สละทรัพย์เพื่อเกื้อกูลหรือเพื่อเปลื้องทุกข์เขา  จัดเป็นทานบารมี  ศีลที่รักษาเพราะต้องพร่าชีวิตร่างกายและโภคทรัพย์อาจแบ่งเป็น  ๓  ได้เหมือนกัน  ส่วนบารมีที่เหลือยังจะต้องหาเกณฑ์แบ่งอีก  ไม่ใช่ทำง่าย  แม้ทำได้แล้วยังไม่พ้นฟั่นเฝือ  ข้าพเจ้าสันนิษฐานเห็นเกณฑ์แบ่งอีกทางหนึ่ง  บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญในชาติห่างไกล  ตามที่กล่าวว่า  ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ก็มี  เป็นดิรัจฉานก็มี  สับสนกัน  จัดเป็นเพียงบารมี  ที่บำเพ็ญในชาติใกล้เข้ามา  ก่อนหน้าปัจฉิมชาติเพียง  ๑๐  ชาติ  ตามที่กล่าวว่า  ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์เป็นพื้นและเป็นมนุษย์วิสามัญ  มีลักลั่นอยู่ชาติเดียวที่ว่า  เป็นพระยานาค  จัดเป็นอุปบารมี  ที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญในปัจฉิมชาติ  ก่อนหน้าตรัสรู้พระโพธิญาณ  จัดเป็นปรมัตถบารมี  จักพรรณนาเฉพาะปัจฉิมชาติ  พระองค์น้อมพระชนม์เพื่อประโยชน์แก่คนมาก  ด้วยพระเมตตา  จัดเป็นพระทานบารมีและพระเมตตาบารมี  เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์  จัดเป็นพระเนกขัมมบารมี  ทรงสำรวมในศีล  สมควรแก่เป็นบรรพชิตจัดเป็นพระศีลบารมี  ทรงบำเพ็ญเพียรและทรงอดทนต่อความลำบากยากเข็ญ  จัดเป็น    พระวิริยบารมีและพระขันติบารมี  ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นในปฏิปทา  ตั้งพระหฤทัยจริง ๆ เพื่อแสวงหาความจริง  จัดเป็นพระอธิษฐานบารมีและพระสัจจบารมี  ทรงรักษาพระหฤทัยคงที่  ไม่ให้วิการเพราะยินดียินร้าย  จัดเป็นพระอุเบกขาบารมี  พระปรีชาทำพระองค์ให้เป็นผู้ตื่น  รู้เท่าถึงการณ์และอาจเล็งเห็นข้างหน้าไม่งมงาย  นำพระองค์ให้หลีกจากกิริยาอันมิใช่ทาง  ดำเนินในปฏิปทาอันเป็นทาง  ตลอดถึงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  จัดเป็นพระปัญญาบารมี
(เพิ่มคำอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า)
จัดตามเกณฑ์นี้  สมด้วยเค้าเรื่องที่ท่านจัดไว้เป็น  ๓  กาล  คือ  ทูเรนิทาน  เรื่องห่างไกล  ๑  อวิทูเรนิทาน  เรื่องไม่ไกลนัก  ๑  สันติเกนิทาน  เรื่องใกล้ชิด  ๑  แต่แบ่งระยะกาลต่างกันไป  ทูเรนิทาน  ท่านจัดจำเดิมแต่ตั้งปรารถนาเพื่อเป็น พระพุทธเจ้า  ณ  สำนักพระพุทธทีปังกร  จนถึงจุติจากชาติเป็นพระเวสสันดร  อุบัติขึ้นในดุสิตเทวโลก  อวิทูเรนิทาน  ตั้งแต่จุติจากดุสิตพิภพ  จนถึงตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ  ณ  ควงไม้พระมหาโพธิ  สันติเกนิทาน  ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน  ส่วนชาดก  จัดเรื่องต่าง ๆ  เป็นอันมาก  ที่กล่าวความเสวยพระชาติสับสนกัน  เป็นสามัญนิบาตอันได้แก่   ทูเรนิทาน  จัด  ๑๐  เรื่องที่กล่าวความเสวยพระชาติไม่สับสน  เว้นเรื่องหนึ่ง  เป็นมหานิบาต  อันได้แก่อวิทูเรนิทาน  โดยนัยนี้  เรื่องในปัจฉิมชาติได้แก่สันติเกนิทาน
บารมี  ท่านกล่าวว่า  พระปัจเจกพุทธะและพระอริยสาวกได้บำเพ็ญมาเหมือนกัน  อย่างเดียวกันกับของพระพุทธเจ้าหรือต่างกัน  ไม่ได้กล่าวไว้ชัด  น่าจะเป็นอย่างเดียวกัน  แต่ระยะกาลสั้นกว่า
  
กรรม  ๑๒
ให้ผลตามคราว
หมวดที่  ๑
๑.  ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพนี้
๒.  อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
๓.  อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ 
๔.  อโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว

หมวดที่  ๒
ให้ผลตามกิจ
๕.  ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
๖.  อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน
๗.  อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น
๘.  อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน

หมวดที่  ๓
ให้ผลตามลำดับ
๙.  ครุกรรม กรรมหนัก
๑๐.  พหุลกรรม กรรมชิน
๑๑.  อาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน
๑๒.  กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ
วิ.  กงขา.  ตติย.  ๒๒๓
อธิบายธรรม  ๑๒
หมวดที่  ๑  แสดงเวลาที่กรรมให้ผลว่า  กรรมที่ทำแล้วเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม  ย่อมให้ผลดังนี้คือ  กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้  เช่น  พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ  กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า  เช่นพระเทวทัตไปเกิดในนรกอเวจี.  กรรมบางอย่างให้ผลในภพต่อ ๆ  ไปไม่มีกำหนด  เช่นพระพาหิยะ  ถูกแม่โคขวิดนิพพาน.  (ตาย)  กรรมบางอย่างไม่มีโอกาสให้ผล  เพราะถูกกรรมอื่นที่แรงกว่าทำลาย  เช่น  พระองคุลิมาล  แม้จะฆ่าคนไว้มาก  แต่ได้บรรลุพระอรหัตผลนิพพานไปเสียก่อนจึงไม่ต้องไปตกนรก

 หมวดที่  ๒  แสดงหน้าที่ของกรรมว่า  กรรมที่ทำแล้วมีหน้าที่  อย่างนี้คือ  ๑  นำให้ไปเกิดในภพใหม่  เช่นเกิดเป็นมนุษย์  เทวดา  เป็นต้น  ๒.  ให้การสนับสนุนกรรมอื่นที่เป็นฝ่ายเดียวกัน  เช่น  คนที่มีบุพเพกตปุญตา  ก็จะสนับสนุนความพากเพียรพยายามในปัจจุบันนี้ให้ได้รับความสำเร็จในกิจการที่ทำ  ๓.  เบียดเบียนกรรมที่ตรงกันข้าม  เช่นคนที่ทำปาณาติบาต  เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีโรคมาก  มีอุปสรรคมากเป็นต้น  ๔.  ตัดรอนหรือทำลายกรรมที่ตรงกันข้าม  เช่นนันทมานพไปข่มขืนพระอุบลวัณณาเถรี  แล้วถูกแผ่นดินสูบ  ความจริงนันทมานพนั้นยังหนุ่มอยู่ยังไม่ถึงอายุขัย  แต่กรรมที่เขาทำนั้นหนักมาก  ไปทำลายกุศลกรรมที่รักษาชีวิตของเขา  จึงต้องตาย

 หมวดที่  ๓.  แสดงลำดับของกรรมที่ให้ผล  คือ  กรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อน  เช่นพระเทวทัตได้ทำอนันตริยกรรม  คือทำพระโลหิตพระศาสดาให้ห้อขึ้น  และทำสังฆเภท  แต่เมื่อถูกแผ่นดินสูบถึงกระดูกคาง  ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ อนันตริยกรรมหนักกว่า  การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ฉะนั้น พระเทวทัตจึงต้องตกนรกอเวจีก่อน  ต่อจากนั้นจึงจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยกุศลกรรมที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ถ้าไม่มีกรรมหนัก  กรรมที่ทำบ่อย ๆ  จนเคยชินย่อมให้ผลเหมือนนายโคฆาตคนหนึ่ง  ฆ่าโคมา  ๔๕  ปี  ครั้นใกล้ตายเขาคลานไปมาร้องเหมือนโค  ตายไปตกนรก  เมื่อไม่มีกรรมเคยชิน  กรรมที่ทำ  เมื่อเวลาใกล้ตายย่อมให้ผล  เหมือนบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งนั่งดูสุนัขของเศรษฐีกินอาหาร  เขาเกิดความคิดว่าเป็นหมาเศรษฐี  ยังดีกว่าเขาผู้เป็นมนุษย์เสียอีก.  หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง  เขาตายไปเกิดในท้องแห่งสุนัขตัวนั้นเพราะกรรมคือมโนกรรมอันเป็นอกุศลที่เขาคิดเมื่อใกล้จะตาย  เมื่อกรรมที่ทำใกล้ตายไม่มี แม้กรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา  ก็ให้ผลได้  เช่น  คนที่ทำอะไรโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียของ  หรือเสียชีวิต  ก็จะถูกคนอื่นทำตนเองให้เสียของ  หรือเสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นเดียวกัน

****************