วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(๓) ตำรานักธรรมโท ฉบับที่ ๓ วิชา อนุพุทธประวัติ กับศาสนพิธี 19-10-58


วิชา อนุพุทธประวัติ นักธรรมโท

          อนุพุทธประวัติ คือประวัติของพระสาวกที่รับฟังคำสั่งสอนจากพระศาสดาแล้วเพียรพยายามปฏิบัติฝึกหัดกาย วาจา และใจตามนั้น จนได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระอรหัตผล พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมประวัติของท่านเหล่านั้นไว้ใน
พระบาลีโดยย่อ  ๓  ด้าน  คือ
        ๑. อุปาทาน ว่าด้วยการสร้างสมความดี ตั้งแต่ได้รับการพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้า ในปางก่อนจนถึงชาติสุดท้าย แต่ละรูปใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด ๑ แสนกัปป์
        ๒. เอตทัคคะ คือความเป็นผู้เลิศเพราะมีความชำนาญในด้านนั้น ๆ เช่น  พระสารีบุตรเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายด้านมีปัญญามาก  พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านมีฤทธิ์มาก  เป็นต้น
        ๓. เถรคาถา รวบรวมคำพูดที่พระเถระเหล่านั้น ได้กล่าวไว้ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อคิดคติธรรมสำหรับ ปัจฉิมาชนตาชน จะได้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติตามกุศลฉันทะของแต่ละบุคคล
        ครั้นต่อมา พระอรรถกถาจารย์ ได้อธิบายบาลีเหล่านั้นให้กว้างขวางออกไป  จึงทำให้ได้ประวัติความเป็นมา  ของพระสาวกเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น  ซึ่งในที่นี้ได้
กำหนดเป็น  ๙  หัวข้อด้วยกัน  คือ
        ๑. สถานะเดิม หมายถึง ชื่อเดิมของแต่ละท่าน ชื่อบิดามารดา วรรณะ ประเทศที่เกิด
        ๒. ชีวิตก่อนบวช หมายถึง การศึกษา การประกอบอาชีพ การแต่งงาน และการดำเนินชีวิตอื่น ๆ เช่น เป็นนักบวช นักพรต เป็นต้น
        ๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา  หมายถึง เหตุจูงใจที่จะทำให้ท่านเหล่านั้นทิ้งอาชีพการงาน และลัทธิเดิมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
        ๔. การบรรลุธรรม หมายถึง การที่ท่านเหล่านั้นได้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่โสดาปัตติผลจนถึงอรหัตผล ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อันจะทำให้ผู้ศึกษาเห็นว่าการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีหลายวิธี จะทำให้คลายความยึดมั่น ถือมั่นที่ผิด ๆ ลงได้บ้าง
        ๕. การประกาศพระพุทธศาสนา หมายถึง พระเถระเหล่านั้นได้เป็นกำลังในการช่วยพระศาสดา ประกาศ ศาสนาอย่างไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า
การประกาศพระศาสนาของพระเถระแต่ละรูปนั้น  แบ่งออกเป็น  ๒  ภาค คือ
        ๑. ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น พระสารีบุตรเถระ สามารถนำคนเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาได้มากมาย จนพระศาสดาทรงยกย่องว่า "เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร"
        ๒. หลังจากท่านนิพพานแล้ว ประกาศด้วยปฏิปทาของท่าน เช่น พระมหากัสสปเถระ มีคนเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน แล้วบวชตามอย่างท่าน ตามตำนานกล่าวว่ามีหลายแสนรูป
        ๖. เอตทัคคะ หมายถึง ตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในด้านต่าง ๆ เช่น มีปัญญามาก มีฤทธิ์มาก มีศรัทธามาก เป็นต้น อันพระศาสดาทรงยก ย่องแต่ละท่าน ตามความเชี่ยวชาญที่ได้บำเพ็ญมาเป็นเวลานาน
        ๗. บุญญาธิการ หมายถึง ความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน และที่อุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนาตำแหน่งนั้น ๆ ที่แต่ละท่านได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งต้องบำเพ็ญเป็นเวลายาวนาน หลังจากได้รับการพยากรณ์แล้ว ต้องใช้เวลาถึง ๑ แสนกัปป์ เป็นอย่างน้อย
        ๘. ธรรมวาทะ หมายถึง คำพูดที่พระเถระแต่ละรูปได้กล่าวไว้ในโอกาสต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดความรู้สึก ถึงบาปบุญคุณโทษและผิดชอบชั่วดี แก่ผู้ที่ได้อ่านและได้ยินได้ฟัง
        ๙. นิพพาน หมายถึง การที่พระเถระเหล่านั้น ได้จากโลกนี้ไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ที่ไหน เมื่อไร และโดยวิธีใด  ในหนังสือนี้ แสดงประวัติพระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูป เฉพาะท่านที่ได้รับเอตทัคคะจากพระศาสดาเท่านั้น
การที่พระสาวกจะได้รับเอตทัคคะนั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พระศาสดาทรงใช้หลักเกณฑ์ ๔ ประการ  คือ
        ๑. อัตถุปปัตติโต ได้รับการยกย่องเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ครั้งที่พระศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์ สัตวโลกทั้งเทวดาและ มนุษย์ประชุมกันเป็นจำนวนมากในจำนวนนั้นมีทั้งปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์  พระมหาสาวกทั่วไป  พระมหาโมคคัลลานเถระ  และพระสารีบุตรเถระ  ทรงถามปัญหากับปุถุชน และอริยบุคคลเหล่านั้น ปุถุชน  แก้ปัญหาของปุถุชนได้ แต่แก้ปัญหาของพระอริยบุคคลไม่ได้ พระอริยบุคคลชั้นต่ำกว่า แก้ปัญหาของพระอริยบุคคลชั้นสูงไม่ได้ พระอริยบุคคลทั่วไป แก้ปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระไม่ได้  พระมหาโมคคัลลานเถระ แก้ปัญหาของพระสารีบุตรเถระไม่ได้  พระสารีบุตรเถระ แก้ปัญหาของผู้อื่นได้ ทั้งหมด  แต่แก้ปัญหาอันเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (อัตถุปปัตติ)  นี้ จึงทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ ว่ามีปัญญามากกว่าสาวกทั้งหลาย
        ๒. อาคมนโต ได้รับการยกย่องเพราะทำบุญมา คือแต่ละรูปที่ได้รับยกย่องว่าเลิศในทางนั้น ๆ ล้วนแต่เคยเห็นภิกษุอื่นได้รับตำแหน่ง เช่นนั้นจากพระศาสดาพระองค์ก่อน ๆ แล้วปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง   จึงได้ทำบุญอันสามารถอำนวยผลนั้น มายาวนาน  ท่านกล่าวว่าหลังได้รับพยากรณ์แล้ว  ต้องบำเพ็ญบารมีถึงแสนกัปป์ขึ้นไป
        ๓. จิณณวสิโต ได้รับการยกย่องเพราะมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยการ   ฝึกฝนเรื่องที่ตนปรารถนาอย่างเดียว เช่น พระสารีบุตรเถระปรารถนาจะมีปัญญามากกว่าใคร เกิดภพใดชาติใดก็ฝึกฝนแต่ปัญญามาตลอด  จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน ในที่สุดก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ปัญญา เป็นต้น
        ๔. คุณาติเรกโต ได้รับการยกย่องเพราะมีคุณสมบัติด้านนั้นเหนือกว่ารูปอื่น  เช่น ภิกษุที่มีฤทธิ์มีหลายรูปแต่ทุกรูปมีฤทธิ์สู้ พระมหาโมคคัลลาน เถระไม่ได้ เพราะพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านสร้างกุศลและฝึกฝนเรื่องฤทธิ์มามากกว่าภิกษุรูปอื่นทั้งหมด
        ประวัติพระสาวกนี้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประวัติของพระศาสดา  เพราะ  พระศาสดา พระธรรม และพระสาวก ต้องอิงอาศัยกันตลอดเวลา ถ้ามีแต่อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย เหมือนหมอยา และคนไข้ที่หายโรค มีแต่พระศาสดาไม่มีพระธรรมและพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมีแต่หมอ แต่ไม่มียา และไม่มีคนไข้ที่หายโรค  จะรู้ว่าหมอเก่งได้อย่างไร มีแต่พระธรรม แต่ไม่มีพระศาสดาและพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมียา แต่ไม่มีหมอผู้รู้จักยา และไม่มีคนไข้ที่หายโรคจากยาขนานนั้น หรือมีทั้งพระศาสดาและพระธรรม แต่ไม่มีพระสาวก ก็เปรียบเหมือนมีทั้งหมอและยา แต่ไม่เคยใช้รักษาใครเลย  จะเชื่อได้อย่างไรว่า หมอนั้นเก่ง และยานั้นดี  ฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า ประวัติพระสาวกมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประวัติของพระศาสดา ศึกษาประวัติพระสาวกก็เท่ากับได้ศึกษาประวัติของพระศาสดา และศึกษาพระธรรมไปในตัวด้วย
        หวังว่า เมื่อได้ศึกษาประวัติพระสาวกทั้ง ๘๐ รูปนี้แล้ว ผู้ศึกษาจะมีความรู้และความเข้าใจถึงแรงจูงใจที่ทำ ให้ท่านเหล่านั้น ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปฏิปทาที่ทำให้ท่านได้บรรลุธรรม ความเข้าใจ ความซาบซึ้งในพุทธธรรมของแต่ละท่าน ที่ถ่ายทอด ออกมาจากใจ อันพระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมเป็นเถรคาถาไว้บ้าง จากเรื่องอื่น ๆ บ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ศึกษามีทัศนคติ ที่กว้างขวาง ยอมรับฟังผู้อื่นที่มีปฏิปทาไม่เหมือนตน อันจะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง เพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และไม่ทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรมเพราะมัวแต่วิวาทะกัน.

๑.พระอัญญาโกณฑัญญะ
๑.สถานะเดิม
              พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญะ ตามโคตรของท่าน   บิดา และมารดา เป็นพราหมณ์มหาศาล ไม่ปรากฏ ชื่อเกิดที่  บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ อยู่ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์   การศึกษา  เรียนจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มารับประทานอาหาร เพื่อเป็นมงคลและทำนายลักษณะพระราชโอรสตามราชประเพณี แล้วได้   คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากจำนวน ๑๐๘ คนนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะ พระราชกุมาร โกณฑัญญะซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดได้รับคัดเลือกอยู่ในจำนวน ๘ คนนั้นด้วย พราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายพระราชกุมารว่า มีคติ ๒ อย่าง คือ
              ๑. ถ้าอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
              ๒. ถ้าเสด็จออกผนวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก
        ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ มีความมั่นใจในตำราทำนายลักษณะของตน ได้ทำนายไว้อย่างเดียวว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวชและจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ตั้งแต่นั้นมา โกณทัญญพราหมณ์ได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าตนยังมีชีวิตอยู่ พระราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไร จะออกบวชตาม ต่อมาเมื่อพระราชกุมารเสด็จออกผนวชและบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ ทราบข่าว จึงได้ชักชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ  ๑. วัปปะ  ๒. ภัททิยะ  ๓. มหานามะ ๔. อัสสชิ  ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรของพราหมณ์ในจำนวน ๑๐๘ คน ที่ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ ของพระราชกุมารทั้งสิ้น รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่ากลุ่มคน ๕ คน ได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดด้วยคิดว่า ถ้าพระองค์ ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนตนให้ได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง
๓.  บรรลุโสดาปัตติผล
        เมื่อพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปี แต่ไม่ได้ตรัสรู้ ทรงแน่พระทัยว่า นั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกการทำทุกกรกิริยา มาทำความเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า หมดความเลื่อมใสเพราะเข้าใจว่า กลับมาเป็นคนมักมากจึงพากันหนีไป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเทศนา อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร   แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์ แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
        ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ครั้นเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่าคงจะมาหาคนอุปัฏฐาก จึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์แต่ได้ปูอาสนะเอาไว้ แต่พอพระพุทธองค์เสด็จไปถึง กลับลืมกติกาที่ได้ทำกันไว้ เพราะความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์ ทั้งหมดได้ลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรม เหมือนที่เคยปฏิบัติมา แต่ยังสนทนากับพระองค์ด้วยถ้อยคำอันไม่เคารพโดยการออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ใช้คำพูดอย่างนั้น และตรัสบอกว่า เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง และปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่ช้าจะได้บรรลุอมตธรรมนั้นปัญจวัคคีย์ได้ปฏิเสธพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งว่า  พระองค์เลิกความเพียรแล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตือนสติพวกเขาว่า เมื่อก่อนนี้ท่านทั้งหลายเคยได้ฟังคำที่เราพูดนี้บ้างไหม ทำให้พวกเขาระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยอมฟังพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปป์ปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาแก่พวกเขา ในเวลาจบพระธรรมเทศนา
โกณฑัญญะเกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา (ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาสุดท้ายต้องดับไป) ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะเกิดธรรมจักษุนี้ พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ  ท่านจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะรู้ธรรมก่อนใครๆ
๔.  วิธีอุปสมบท
        เมื่อโกณฑัญญะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรมหมดความสงสัยในคำสอนของพระศาสดาแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านได้เป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
๕.  การบรรลุอรหัตตผล
        ครั้นพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาบันแล้ว ทรงประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน  วันหนึ่ง ตรัสเรียกทั้ง ๕ รูปมาตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอนัตตาไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะถ้า เป็นอัตตา แล้วไซร้ ก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ (เจ็บป่วย) และต้องได้ตามปรารถนาว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น แต่เพราะทั้ง ๕ นั้น เป็นอนัตตา ใคร ๆ จึงไม่ได้ตามปรารถนาของตนว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๕ รูปได้เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวของเรา จึงเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อหน่ายย่อมหมดกำหนัด ครั้นหมด กำหนัดย่อมหลุดพ้น  ทั้ง ๕ รูปจึงได้บรรลุอรหัตตผล ด้วยพระเทศนานี้ ๆ ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร
๖.  งานประกาศศาสนา
        พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการช่วยประกาศพระศาสนา เพราะอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกด้วยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ สุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
        ผลงานที่สำคัญของท่านคือ ทำให้นายปุณณะบุตรของนางมันตานี ผู้เป็นหลานชายได้บวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา มีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านจำนวนมาก
๗.  เอตทัคคะ
        พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรีหมายความว่า รู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด
๘.  บุญญาธิการ
        ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อนใคร ๆ จึงปรารถนาฐานันดรนั้น แล้วได้ทำบุญมีทาน เป็นต้น พระปทุมุตตรศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จแน่นอน จึงได้พยากรณ์วิบากสมบัติของเขา จนมาถึงศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี เขาได้เกิดเป็นกุฏุมพี ชื่อว่ามหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ด้วยบุญญาธิการดังกล่าว จึงได้รับเอตทัคคะนี้จากพระบรมศาสดา
๙.  ธรรมวาทะ
        ในอรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ชื่อวิสุทธชนวิลาสินี กล่าวไว้ว่า พระเถระได้แสดงธรรมแก่ ท้าวสักกะ อันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบ ประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์จึงได้ทรงสรรเสริญว่า    เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสยิ่งใหญ่ จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระแสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง
๑๐.  ปรินิพพาน
        พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาอยู่ระยะหนึ่ง   บั้นปลายชีวิต ได้ทูลลาเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ จำพรรษาอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพาน แล้วกลับไปยังที่นั้น ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

๒. พระวัปปเถระ
เป็นบุตรพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ บิดาเป็นผู้หนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่ทำนายพระลักษณะของมหาบุรุษเป็น ๒ ประการ กลับมาจึงได้สั่งลูกชายไว้ว่า ถ้าพระมหาบุรุษออกบวช เจ้าจงบวชตามเพราะตนเองหมดหวังที่จะมีชีวิตอยู่ทันพระมหาบุรุษออกบวช วัปป มาณพรับคำสั่งของพ่อโดยความเพราะ เมื่อโกณฑัญญพราหมณ์ ได้ทราบข่าวว่า มหาบุรุษออกบวชจึงมาชักชวน และพร้อมกันกับมาณพอีก ๓ คน รวมเป็น ๕ ออกบวช ตาม เรื่องราวต่อไปเหมือนกับประวัติท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อตนเองได้รับการอบรม สั่งสอนจากพระพุทธ องค์ด้วยปกิณณกเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมและทูลขอบวชในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตร ก็ได้บรรลุอรหัตผล ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เป็นกำลังอันสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา ท่านดำรงอายุอยู่พอสมควรแก่กาลเวลาก็ดับขันธ ปรินิพพาน

๓. พระภัททิยเถระ
มีชาติภูมิอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์เป็นบุตรพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์  ๘ คน บิดาของตนสั่งไว้เหมือนกับวัปปมาณพ จึงได้ออกบวชพร้อมกัน ๕ คน เรื่องราวต่อไปเหมือนท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อวันแรม  ๒ ค่ำ ได้ฟังปกิณกะเทศนาก็ได้ ดวงตาเห็นธรรม จึงทูลขออุปสมบท และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตรก็ได้สำเร็จอรหัตผล ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่เป็นกำลังอันสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา เมื่อดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน

๔.. พระมหานามเถระ
เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นบุตรของพราหมณ์ คนหนึ่ง ในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน เมื่อฟังคำสั่งของบิดาเหมือนภัททิยมาณพ จึงออกบวชพร้อมกันทั้ง ๕ คน เรื่องราวต่อไปเหมือนกันกับท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ในวันแรม  ๓ ค่ำเดือน ๘ ได้ฟังปกิณณกเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล จึงทูลขอบวช เมื่อได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ก็ได้บรรลุอรหัตผลเป็นอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นกำลังสำคัญองค์หนึ่ง ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ครั้งแรกยังนานา ชนบท สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดศรัทธาปสาทะ ในพระพุทธศาสนาให้ได้รับผลตามสมควร แก่อุปนิสัย ท่านดำรงอยู่พอสมควรแก่กาลก็ปรินิพพาน

๕. พระอัสสชิเถระ
เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในกบิลพัสดุ์นคร เป็นบุตรของพราหมณ์ คนหนึ่ง ในจำนวน ๘ คน เช่นกัน ได้รับคำบอกเล่าของบิดาและเกิดความเลื่อมใสในพระมหาบุรุเช่นเดียวกับมหานามมาณพ จึงออกบวชพร้อมกันทั้ง ๕ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์ เป็นหัวหน้า เรื่องราวต่อไป  เช่นเดียวกับประวัติท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ในวันแรม ค่ำ เดือน ๘ ได้ฟังปกิณกะเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงทูลขออุปสมบท ได้รับอุปสมบท โดยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นเดียวกัน ณ วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป มีอินทรีย์แกล้า พอจะรับพระธรรมเทศนา อันเป็นทางอบรมวิปัสสนาเพื่อวิมุตติได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร พอจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ชั้นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา
          ครั้งเมื่อ พระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาคราวแรก ท่านเป็นองค์หนึ่ง อยู่ในจำนวนนั้นด้วย ปรากฏว่าท่านเป็นผู้เฉลียวฉลาดรู้จักประมาณตน ไม่โอ้อวด เย่อหยิ่ง กิริยามารยาทน่าเลื่อมใส ครั้งหนึ่งเมื่อท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่เวฬุวันมหาวิหาร เช้าวันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกได้เห็นท่านเข้าเกิดความเลื่อมใส จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ  เราเป็นคนใหม่ บวชได้ไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจสามารถแสดงธรรมแก่เธอโดยกว้างขวางได้ เราจักกล่าวโดยย่อ พอได้ความ แล้วท่านก็แสดงว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ อุปติสสปริพาชกได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงนับว่าท่านได้เป็นอาจารย์องค์แรกของพระอัครสาวกฝ่ายขวา คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่กาลก็ปรินิพพาน

๖. ประวัติพระนันทเถระ

๑. สถานะเดิม
        พระนันทเถระ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติทรงขนานให้ เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ  พระบิดา ทรงพระนามว่า สุทโธทนะ พระมารดา ทรงพระนามว่า มหาปชาบดีโคตมี ประสูติในพระราชวังแห่งกบิลพัสดุ์นคร
๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
        นันทกุมาร เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ รูปร่างสง่างามสูงใหญ่คล้ายพระมหาบุรุษ ทรงได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาเยี่ยงโอรสของมหาราชาทั่วไป ครั้นเจริญวัยพระราชบิดาได้จัดพิธีอาวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณีที่พระราชนิเวศน์อย่างยิ่งใหญ่
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ โดยทรงอนุมัติตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายีเถระ
วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ (ฝนเหมือนน้ำตกบนใบบัวไม่เปียกใคร) ให้เป็นอัตถุปบัตติเหตุ คือต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก
วันที่ ๒ ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบันมั่นในพระศาสนา ด้วยพระคาถาว่า บรรพชิตไม่พึงประมาทในบิณฑบาตอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แล้วได้เสด็จไปยัง พระราชนิเวศน์เทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็น สกทาคามี ด้วยพระอนุศาสนีว่า บุคคล  พึงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
          ในวันที่ ๓ ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของนันทกุมาร ให้เธอรับบาตร ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้ว ไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหารให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรนคิดถึงคนที่ตนรัก ถึงสำนักนิโครธาราม ได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือนันทะ พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระศาสดา จึงทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวช
๔.  วิธีบวช
        ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า พระศาสดาทรงนำนันทกุมารไปสู่วิหารด้วยการให้ถือบาตรตามไป ครั้นถึงวิหารแล้ว ตรัสว่า นันทะ เธออยากบวชไหม นันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่บวช ทูลว่า จะบวชพระเจ้าข้า พระศาสดารับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงบวชให้นันทะเถิด จึงสันนิษฐานว่า พระนันทเถระบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา เพราะท่านบวชด้วยความจำใจ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา จึงไม่ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ทุกคืนและวัน มีแต่ความเบื่อหน่ายทุรนทุรายเหมือนสัตว์ป่าถูกขังกรง พระพุทธองค์ทรงใช้อุบายอันแยบคาย ทำลายความรู้สึกนั้น ให้หันมาบำเพ็ญวิปัสสนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุอรหัตผล หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้วคงช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาเหมือนกับ พระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย แม้ตำนานจะไม่ได้กล่าวไว้ว่าท่านมีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกและศิษยานุศิษย์ อยู่ที่ไหนบ้างก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็ควรแก่การศึกษา และนำมาเป็นตัวอย่างของคนผู้เกิดมา ในภายหลังว่า คนเรานั้นจะอยู่ในสภาพอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ประมาท มีความเพียร เอาจริงเอาจัง ก็สามารถชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้กระทั่งกิเลสในใจของตนเอง
        อนึ่ง ปฏิปทาของพระนันทเถระ ยังเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า เปือกตมคือกามใคร ข้ามได้ หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว ผู้นั้นสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์
๖.  เอตทัคคะ
              พระนันทเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร จึงคิดว่า ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง ดังนี้แล้ว เกิดความอุตสาหะมีหิริและโอตตัปปะเป็นกำลัง ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด พระศาสดาทรงทราบดังนั้น จึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์
 ๗.  บุญญาธิการ
        แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดา ทรงสถาปนาพระเถระรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายในด้านความสำรวมอินทรีย์ จึงมีกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง ได้ก่อสร้าง บุญกุศล พระทศพลทรงพยากรณ์ว่า จะได้สมใจหวัง จึงได้ตั้งใจทำแต่ความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัย แห่งตำแหน่งนั้น ลุถึงกาลแห่งพระโคดม จึงได้สมความปรารถนา ใช้เวลาหนึ่งแสนกัปป์
๘.  ธรรมวาทะ
        เพราะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงความจริงของชีวิต คนเราจึงติดอยู่กับร่างกาย ขวนขวายแต่ การแต่งตัว ลุ่มหลงเมามัวในกามารมณ์ แต่พระโคดม ทรงสอนให้รู้ซึ้งถึงชีวิตเราจึงเปลื้องจิตจากพันธนาการ พ้นสถานแห่งภพสาม (สู่ความสุขอย่างแท้จริง)
๙. นิพพาน
        พระนันทเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตามความสามารถ เป็นแบบอย่างแห่งผู้สำรวมอินทรีย์ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส และคิดนึกต่าง ๆ สุดท้ายได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารอย่างหมด เชื้อแห่งกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง

๗.พระราหุลเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระราหุลเถระ นามเดิม ราหุล เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของพระสิทธัตถะ พระราชบิดา ที่ตรัสว่า ราหุลํ  ชาตํ เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว เมื่อทรงทราบข่าวว่า พระกุมารประสูติ พระบิดา ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ พระมาร ทรงพระนามว่า ยโสธรา หรือ พิมพา ประสูติที่พระราชวังในนครกบิลพัสดุ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
        หลังจากราหุลกุมารประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะพระราชบิดาได้เสด็จออกบรรพชา พระกุมารเจริญ ด้วยสมบัติทั้ง ๒ คือ ชาติสมบัติ เกิดในวรรณกษัตริย์ และปฏิบัติสมบัติ มีความประพฤติดีงาม จึงทรงเจริญด้วยขัตติยบริวารเป็นอันมาก และได้รับการเลี้ยงดูอย่างพระราชกุมารทั้งหลาย
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันที่ ๓ ทรงบวชให้นันทกุมาร ในวันที่ ๗ พระมารดา พระราหุลทรงให้พระกุมารไปทูลขอมรดกกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า กุมารนี้อยากได้ทรัพย์ของบิดา แต่ว่าทรัพย์นั้นพันธนาใจให้เกิดทุกข์ไม่สุขจริง เราจะให้ทรัพย์ประเสริฐยิ่ง ๗ ประการ ที่เราชนะมารได้มา จึงรับสั่งหาท่านพระสารีบุตร มีพุทธดำรัสว่า สารีบุตร เธอจงจัดการให้ราหุลกุมารนี้บรรพชา
๔.  วิธีบวช
        พระเถระรับพุทธบัญชา แต่ว่าพระกุมารนั้นยังเล็กเกินไป อายุได้ ๗ ปี ไม่ควรที่จะเป็นสงฆ์ จึงทูลถามพระพุทธองค์ถึงวิธีบรรพชา พระศาสดาตรัสให้ใช้ตามวิธีติสรณคมนูปสัมปทา เปล่งวาจาถึง พระรัตนตรัย ให้พระกุมารบวช วิธีนี้ได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกว่า บวชเณร
        พระราหุลเถระนี้จึงได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ครั้นเวลาพ้นผ่านอายุกาลครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม
        ในสมัยเป็นสามเณร ท่านสนใจใคร่ศึกษาพระธรรมวินัย ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายได้เต็ม แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระศาสดาหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์จดจำ และเข้าใจให้ได้จำนวนเท่าเม็ดทรายในกอบนี้
        วันหนึ่งท่านอยู่ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จเข้าไปหา แล้วตรัสจูฬราหุโลวาทสูตร แสดงโทษของการกล่าวมุสา อุปมาเปรียบกับน้ำที่ทรงคว่ำขันเททิ้งไปว่า ผู้ที่กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ความเป็นสมณะ ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในขันนี้ แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ไม่มีบาปกรรมอะไร ที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่รู้จะทำไม่ได้
        ต่อมาได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตรใจความว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๕ ประการ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ตัดความยึดถือว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้วตรัสสอน ให้อบรมจิตคิดให้เหมือนกับธาตุแต่ละอย่างว่า แม้จะมีสิ่งที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ถูกต้อง ก็ไม่มีอาการพอใจรักใคร่ หรือ เบื่อหน่ายเกลียดชัง
        สุดท้ายทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท เจริญกรุณาภาวนา เพื่อละวิหิงสา เจริญมุทิตาภาวนา เพื่อละความริษยา เจริญอุเบกขาภาวนา เพื่อละความขัดใจ เจริญอสุภภาวนา เพื่อละราคะ เจริญอนิจจสัญญาภาวนา เพื่อละอัสมิมานะ ท่านได้พยายามฝึกใจไปตามนั้น ในที่สุดได้สำเร็จพระอรหัตผล
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระราหุลเถระนี้ ถึงแม้จะไม่มีในตำนานว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง แต่ปฏิปทาของท่าน ก็นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแก่บุคคลผู้ได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลัง ว่า ท่านนั้นพร้อม ด้วยสมบัติ ๒ ประการ คือ ชาติสมบัติ และปฏิปัตติสมบัติ เป็นผู้ไม่ประมาทรักษา ศีล เหมือนนกต้อยตีวิด รักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง สนใจใคร่ศึกษา เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์ ปัญญารู้ทั่วถึงธรรม มีความยินดีในพระศาสนา
๖.  เอตทัคคะ
        พะราหุลเถระนี้ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับยกย่องจาก พระศาสดาว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา
๗.  บุญญาธิการ
        พระราหุลเถระนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานนานแสนนานหลาย พุทธกาล ผ่านมาในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้บังเกิดในเรือนผู้มีสกุล ครั้นรู้เดียงสาแล้ว ได้ฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง แล้วได้สร้างความดีมากมาย มีการทำความสะอาดเสนาสนะ และการทำประทีปให้สว่างไสวเป็นต้น ผ่านพ้นไปอีกหลายพุทธันดร สุดท้ายได้รับพร ที่ปรารถนาไว้ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของ เราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา
๘.  ธรรมวาทะ
        สัตว์ทั้งหลาย เป็นดังคนตาบอด เพราะไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือ ตัณหาปกปิดไว้ ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูก คือความประมาท เหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบ เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เยือกเย็น ดับแล้ว
 ๙.  นิพพาน
        พระราหุลเถระ ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอด อายุไขยของท่าน สุดท้ายได้นิพพานดับสังขาร เหมือนกับไฟที่เผาเชื้อหมดแล้วก็ดับไป ณ แท่นกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับของท้าวสักเทวราช

๘.พระภัททิยเถระ
๑. สถานะเดิม
              พระภัททิยเถระ พระนามเดิม ภัททิยะ พระบิดา ไม่ปรากฎพระนาม พระมารดา พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี เป็นพระนางศากยกัญญาในนครกบิลพัสดุ์  เกิดที่พระนครกบิลพัสดุ์ ในวรรณกษัตริย์
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระภัททิยเถระ ก่อนบวชเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง มีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ
๓. การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเจ้าชายภัททิยะ เจริญเติบโตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาถูกเจ้าชายอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช จึงได้ทูลลาพระมารดา สละราชสมบัติเสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ พระองค์ คือ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต รวมทั้งนายภูษามาลา นามว่า อุบาลีด้วย จึงเป็น ๗ คน ได้ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกษัตริย์ทั้ง ๖ จะได้ทำความเคารพกราบไหว้ เป็นการทำลายมานะ คือความถือตัวเพราะชาติซึ่งมีอยู่มาก สำหรับศากยกษัตริย์ทั้งหลาย
        พระภัททิยะ บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียรพยายามบำเพ็ญ สมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษาที่บวชนั่นเอง
๔.  งานประกาศพระศาสนา
        พระภัททิยเถระนี้ แม้ในตำนานจะไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นศิษย์ก็ตาม แต่ชีวประวัติของท่าน ก็นำพาให้อนุชนสนใจพระพุทธศาสนาได้มากทีเดียว ในสมัยเป็นคฤหัสถ์ท่านเป็นราชา เมื่อมาบวช ท่านสำเร็จพระอรหันต์ ท่านจะอยู่ตามโคนไม้ ป่าช้า และเรือนว่าง จะเปล่งอุทานเสมอว่า สุขหนอ ๆ ภิกษุทั้งหลายได้ ยินเช่นนั้นเข้าใจผิดคิดว่า ท่านเบื่อหน่ายพรหมจรรย์ เรียกหาความสุขในสมัยเป็นราชา จึงกราบทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสเรียกท่านมา แล้วตรัสถามว่า จริงหรือภัททิยะที่เธอเปล่งอุทาน อย่างนั้น ท่านกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า เธอมีความรู้สึกอย่างไรจึงได้เปล่งอุทานเช่นนั้น ท่านได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายใน และภายนอกทั่วอาณาเขต แม้ข้าพระองค์จัดการอารักขาอย่างนี้ก็ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยอยู่เป็นนิตย์ แต่บัดนี้ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ป่า โคนต้นไม้ หรือในเรือนว่าง ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งต่อภัยใด ๆ เลย อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพวันละมื้อ จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะใด ๆ ข้าพระองค์มีความรู้สึก อย่างนี้ จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้นพระเจ้าข้า พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงชมเชยท่าน เรื่องนี้ ให้ข้อคิดว่า อาวุธรักษา สู้ธรรมรักษาไม่ได้
๕.  เอตทัคคะ
        พระภัททิยเถระนี้ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นราชาแล้ว ได้สละราช สมบัติออกบวชด้วยเหตุนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ  ทั้งหลาย ผู้เกิด ในตระกูลสูง
๖.  บุญญาธิการ
         แม้พระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็น อุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ ด้วยสมบัติ เจริญวัย ได้ภรรยาและบุตรธิดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำเสด็จมาสู่เรือนของตนได้ถวายภัตตาหารแล้วได้ถวายอาสนะที่ ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันงดงาม ต่อมาได้ทำบุญ มีทาน ศีล และภาวนาเป็นประธาน ตลอดกาลยาวนาน จนได้บรรลุสาวกบารมีญาณ ในชาติสุดท้าย ฆราวาสวิสัยได้เป็นราชา ออกบรรพชาได้สำเร็จพระอรหันต์
๗.  ธรรมวาทะ
        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนโน้น ข้าพระองค์ครองราชสมบัติ ได้จัดการอารักขาไว้อย่างดี ในที่ทุกสถาน ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ด้วยความกลัวภัย หลับไม่สนิทมีจิตคิดระแวง แต่บัดนี้  ข้าพระองค์บวชแล้ว อยู่อย่างไม่มีภัย หลับได้สนิท ไม่มีเรื่องให้ต้องคิดระแวง
๘.  นิพพาน
        พระภัททิยเถระนี้ ท่านได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นชาติ สิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ กิจส่วนตัวของท่านไม่มี มีแต่หน้าที่ประกาศพระศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่สังคม สุดท้ายท่านได้ นิพพานตามธรรมดาของสังขารที่เกิดมาแล้วต้องดับไป

๙.พระอนุรุทธะเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระอนุรุทธะเถระ พระนามเดิม เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้พระบิดา พระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ประสูติที่พระราชวังนครกบิลพัสดุ์ เป็นวรรณะกษัตริย์
๒. ชีวิตก่อนบวช
            เจ้าชายอนุรุทธะ มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ คือ ๑. พระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ  ๒. พระกนิษฐภคินี พระนามว่า โรหิณี อนุรุทธะ เป็นผู้มีบุญญาธิการสูง เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง และเป็นผู้มีปัญญามาก ไม่รู้จักแม้ แต่คำว่า ไม่มี
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการสงเคราะห์พระญาติ ตามหน้าที่แล้วได้ให้พระราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนักทรงจาริกออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปยังมัลลรัฐ แล้วประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน
        ทางฝ่ายพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเรียกเจ้าศากยะทั้งหลายมาประชุมกัน ตรัสว่า บัดนี้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มีกษัตริย์เป็นอันมากเป็นบริวาร ท่านทั้งหลายจงให้ เด็กชายจากตระกูลหนึ่ง ๆ บวชบ้าง ขัตติยกุมารชาวศากยะเป็นอันมากได้ออกบวชตามพระศาสดา
        สมัยนั้น เจ้าชายมหานามะ เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ ตรัสว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย เธอหรือพี่จะต้องบวช ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเอง จึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก ๕ พระองค์คือ ภัททิยะอานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกำจัดขัตติยมานะ
๔.  การบรรลุธรรม
        พระอนุรุทธเถระนี้ ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดี แล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ คือ
              ๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
              ๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
              ๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
              ๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
              ๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
              ๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
              ๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา
            พระศาสดาทรงทราบว่า ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้น ตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสมหาปุริสวิตก ข้อที่ ๘ ให้ บริบูรณ์ว่า ๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์ มีวิชา ๓
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระอนุรุทธเถระ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา เพราะท่านชำนาญในทิพพจักษุญาณ จึงเป็นพระที่เทวดาและมนุษย์เคารพนับถือ ท่านมีอายุอยู่มานาน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะ มีสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกมาก แม้ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ ก็ยังมีศิษย์ที่สืบเชื้อสายจากท่านเข้าร่วมด้วยที่ปรากฎชื่อ คือ พระอาสภคามีและพระสุมนะ
        ชีวประวัติของท่านก็น่าศรัทธาเลื่อมใส จากผู้ที่เป็นสุขุมาลชาติที่สุด ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มี ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม โดยไม่มีความรังเกียจ กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ ปฏิบัติตามนิสัย คือที่พึ่งพาอาศัยของภิกษุ ๔ ประการ
๖.  เอตทัคคะ
        ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น นอกนั้นท่านจะพิจารณา ตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพพจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแล ทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้ทิพพจักขุญาณ
๗.  บุญญาธิการ
        พระอนุรุทธเถระนี้ ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารทพระสถูปเจดีย์ ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้ บรรลุทิพยจักษุญาณ สมกับปณิธานที่ตั้งไว้
๘.  ธรรมวาทะ
        ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธเถระพร้อมกับพระนันทิยะและพระกิมพิละไปจำพรรษา ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๓ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างตั้งเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น ข้าพระองค์ทั้ง ๓ แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตใจเสมือนเป็นอันเดียวกัน
๙.  นิพพาน
        พระอนุรุทธเถระ ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ สิ้นชาติสิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จหน้าที่ส่วน ตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน ก็ได้ร่วมอยู่ใน เหตุการณ์นั้นด้วย เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร อย่างไร สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารนิพพาน ไปตามสัจธรรม

๑๐.พระอานนท์เถระ
๑. สถานะเดิม
              พระอานนทเถระ นามเดิม อานนท์ มีความหมายว่า เกิดมาทำให้พระประยูรญาติต่างยินดี  พระบิดา พระนามว่า สุกโกทนะ พระกนิฏฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ (แต่อรรถกถาส่วนมาก กล่าวว่า เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ)  พระมารดา พระนามว่า กีสาโคตมี เกิดที่นครกบิลพัสดุ์ วรรณะกษัตริย์ เป็นสหชาติ กับพระศาสดา
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระอานนทเถระนี้ เป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่ในสมัยนั้นจะพึงทำได้ เป็นสหายสนิทของเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต
๓. การบวชในพระพุทธศาสนา
        พระอานนทเถระนี้ ได้บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชปรารภของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ประสงค์ จะให้ศากยกุมารทั้งหลายบวชตามพระพุทธองค์   จึงพร้อมด้วยพระสหายอีก ๕  พระองค์ และนายอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา มุ่งหน้าไปยังอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ เฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
 ๔.  การบรรลุธรรม
        พระอานนทเถระ บวชได้ไม่นานก็บรรลุโสดาปัตติผล แต่ไม่สามารถจะบรรลุ  พระอรหัตได้ เพราะต้องขวนขวายอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนทำปฐมสังคายนา ๑ คืน หลังพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหวังจักสำเร็จ พระอรหันต์ก่อนการสังคายนา แต่ก็หาสำเร็จไม่เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน จึงหยุดจงกรม นั่งลงบนเตียง เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อน พอยกเท้าพ้นจากพื้นที่ ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ตอนนี้เอง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากสรรพกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน นับเป็นการบรรลุพระอรหันต์ แปลกจากท่านเหล่าอื่น เพราะไม่ใช่ เดิน ยืน นั่ง นอน
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระอานนทเถระนี้ เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนาแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงเลื่อมใสท่าน ตามตำนานเล่าว่า ครั้งปฐมโพธิกาลเวลา ๒๐ ปี พระศาสดาไม่มีพระผู้อุปัฏฐากเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า บัดนี้เราแก่แล้ว ภิกษุบางพวกเมื่อเราบอกว่าจะไปทางนี้ กลับไปเสียทางอื่น บางพวกวางบาตรและจีวร ของเราไว้ที่พื้น ท่านทั้งหลายจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา
        ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ ตั้งแต่พระสารีบุตรเถระเป็นต้นไป ต่างก็กราบทูลว่า จะรับหน้าที่นั้น แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ คงเหลือแต่พระอานนทเถระเท่านั้นที่ยังไม่ได้กราบทูล
         ภิกษุทั้งหลายจึงให้พระอานนทเถระรับตำแหน่งนั้น พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
                        ๑. จะไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์
                        ๒. จะไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
                        ๓. จะไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน
                        ๔. จะไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์
                        ๕. จะเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้
                        ๖. ข้าพระองค์จะนำบุคคลผู้มาจากที่อื่นเข้าเฝ้าได้ทันที
                        ๗. เมื่อใดข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น
                        ๘. ถ้าพระองค์จะทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์
        เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า  การปฏิเสธ ๔ ข้อข้างต้นก็เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนว่า อุปัฏฐากพระศาสดาเพราะเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนตัว การทูลขอ ๔ ข้อหลัง เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนว่า แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดา และเพื่อจะทำขุนคลังแห่ง ธรรมให้บริบูรณ์
        พระศาสดาทรงรับท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจึงเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามพระศาสดาไปทุกหนทุกแห่ง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ แม้พระศาสดาก็ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นพหุสูตร คือรู้พระธรรมวินัยทุกอย่าง เป็นผู้มีสติ คือมีความรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากการทูลขอพร ๘ ประการ มีคติ คือเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ (มีเหตุผล) ไม่ใช้อารมณ์ มีธิติ คือมีปัญญา และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
          งานประกาศศาสนาที่สำคัญที่สุดของท่าน คือ ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๕๐๐ รูป ให้เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรก ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาจนถึงสมัยแห่งเราทั้งหลายทุกวันนี้
๖.  เอตทัคคะ
        เพราะพระอานนทเถระ เป็นผู้ทรงธรรมวินัยมีความรอบคอบ หนักในเหตุผล มีปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ และอุปัฏฐากพระศาสดา โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน หวังให้เกิดผลแก่พระพุทธศาสนา ในอนาคตกาลภายภาคหน้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญท่านโดยอเนกปริยาย และตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหุสูตร มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็น พุทธอุปัฏฐาก
๗.  บุญญาธิการ
        แม้พระอานนทเถระนี้ ก็ได้ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระสุมนเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้สามารถจัดการให้ตนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ดังประสงค์ จึงเกิดความพอใจอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ผ่านมาหลายพุทธันดร จนมาถึงกาลแห่งพระโคดมจึงได้สมความปรารถนา
 ๘.  ธรรมวาทะ
              ผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรทำความเป็นสหายกับคนส่อเสียด คนมักโกรธ คนตระหนี่ และคนชอบ เห็นความวิบัติของคนอื่น การคบกับคนชั่วนั้นเป็นความต่ำช้า ผู้เป็นบัณฑิต ควรทำความเป็นสหายกับคนมีศรัทธา มีศีล มีปัญญา และเป็นคนสนใจใคร่ศึกษา การคบกับคนดีเช่นนั้น เป็นความเจริญแก่ตน
๙.  นิพพาน
          พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรจะนิพพาน จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศนิพพาน อธิษฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ อีกส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย

๑๑.พระภัคคุเถระ
เกิดในศากยราชสกุล ในกรุงกบิลพัสดุ์ ออกบวชพร้อมกับราชกุมารทั้ง ๕ และอุบาลี เมื่อบวชแล้วไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล ท่านดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่อายุขัยก็ดับขันธปรินิพพาน

๑๒. พระกิมพิลเถระ
เกิดในศากยราชสกุล ในกรุงกบิลพัสดุ์ ได้รับชักชวนจากอนุรุทธะจึงออกบวชพร้อมกับราชกุมารและอุบาลีเป็น ๗ ด้วยกัน เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จอรหัตผล ท่านดำรงอยู่ตามสมควรแก่อายุขัยก็ดับขันธปรินิพพาน

๑๓.พระปุณณมันตนีบุตร
๑. สถานะเดิม
        พระปุณณมันตานีเถระ ชื่อเดิม ปุณณะ เป็นชื่อที่ญาติทั้งหลายตั้งให้ แต่เพราะเป็นบุตรของนางมันตานี คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ปุณณมันตานีบุตร บิดา ไม่ปรากฎชื่อ มารดาชื่อนางมันตานี เป็นน้องสาวพระอัญญาโกณฑัญญะ ทั้งสองเป็นคน วรรณะพราหมณ์ เกิดที่บ้านพราหมณ์ ชื่อโทณวัตถุ อยู่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์
๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
        ก่อนบวชในพระพุทธศาสนา ปุณณมาณพได้ศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ และช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพที่เป็นของตระกูล และเป็นที่นิยมของ วรรณะนั้น ๆ
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อพระศาสดาทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันยิ่งใหญ่ เสด็จเข้าไปอาศัยราชคฤห์ราชธานีเป็นที่ประทับ พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ และพระมหาสาวกอีกจำนวนมาก ปุณณมาณพปรารภจะไปเยี่ยมหลวงลุง ได้มุ่งไปยังราชคฤห์มหานคร ด้วยบุญในชาติปางก่อนเตือนใจ จึงได้บรรพชาอุปสมบทตามกฎพระวินัย ได้พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์ บวชมาไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์อันเป็นคุณขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
 ๔.  งานประกาศพระศาสนา
        พระปุณณมันตานีเถระ ครั้นบวชแล้วได้กลับยังกบิลพัสดุ์ราชธานี อาศัยอยู่ที่ชาติภูมิอันร่มเย็น ได้บำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้สัมฤทธิ์ผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา แล้วได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรให้เป็นพุทธสาวกมิใช่น้อย นับจำนวนได้ห้าร้อยองค์ ล้วนมุ่งตรงกถาวัตถุสิบประการที่อุปัชฌาย์อาจารย์สอนสั่ง เพียรระวังเคร่งครัดปฏิบัติตามโอวาท ก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหารพ้นพันธนาการแห่งทุกข์ บรรลุสุขอย่างแท้จริง
        พระเถระเหล่านั้นครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์แจ้งความประสงค์ว่า ปรารถนาจะเฝ้าพระทศพล พระเถระจึงนิมนต ์ให้ล่วงหน้าไปก่อน แล้วได้บทจรตามไปในภายหลัง
        พระบรมศาสดา ทรงทราบว่า พระเหล่านั้นล้วนปฏิบัติมั่นในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ทรงกระทำปฏิสันถารอันไพเราะเหมาะกับวิมุตวิสัย ตรัสถามว่า พวกเธอมาจากที่ไหน ได้ทรงสดับว่ามาจากชาติภูมิประเทศ เขตสักชนบท อันเป็นสถานที่ตถาคตอุบัติ จึงได้ตรัสถามถึงพระเถระผู้เป็นพระปฏิบัติกถาวัตถุสิบประการ ว่าท่านนั้นชื่ออะไร พระทั้งหลายทูลว่า ปุณณมันตานี ท่านรูปนี้มักน้อย สันโดษ โปรดปรานการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย
        ท่านพระสารีบุตรเถระได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้น มีความประสงค์จะพบพระเถระ จากนั้น พระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองสาวัตถี พระปุณณมันตานีได้ไปเฝ้าพระทศพลจนถึงพระคันธกุฎี พระชินสีห์ได้ทรงแสดงธรรมนำให้ให้เกิดปราโมทย์ จึงได้กราบลาพระตถาคตไปยังอันธวัน นั่งพักกลางวัน สงบกายใจ  ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง  พระสารีบุตรเถระได้คมนาการเข้าไปหา  แล้วสนทนาไต่ถามข้อความในวิสุทธิเจ็ดประการ พระเถระบรรหารวิสัชชนาอุปมาเหมือนรถเจ็ดผลัด จัดรับส่งมุ่งตรงต่อ พระนิพพาน ต่างก็เบิกบานอนุโมทนาคำภาษิตที่ดื่มด่ำฉ่ำจิตของกันและกัน
๕.  เอตทัคคะ
        เพราะพระปุณณมันตานีเถระ มีวาทะในการแสดงธรรมลึกล้ำด้วยอุปมา ภายหลัง พระศาสดา ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุบริษัท จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ปุณณะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นพระธรรมถึก
๖.  บุญญาธิการ
        แม้พระปุณณมันตานีเถระนี้ ก็ได้มีบุญญาธิการที่สร้างสมมายาวนานในพุทธกาลมากหลาย ล้วนแต่เป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน ได้ทัศนาการเห็นพระปทุมุตตรศาสดา  มีพุทธบัญชาตั้งสาวกผู้ฉลาดไตรปิฎก ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้านการเป็นพระธรรมกถึก จึงน้อมนึกจำนงหมายอยากได้ตำแหน่งนั้น พระศาสดาจารย์ทรงรับรองว่าต้องสมประสงค์ จึงมุ่งตรงต่อบุญกรรม ทำแต่ความดี มาชาตินี้จึงได้ฐานันดรสมดังพรที่ขอไว้
๗.  ธรรมวาทะ
        บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษผู้ฉลาด ชี้แจงให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ประมาท เห็นแจ้งด้วยปัญญา จึงได้บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม เห็นได้ยาก
๘.  นิพพาน
        พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั่วไป ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตแล้วได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีภพใหม่ อีกต่อไป.

๑๔. ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระกาฬุทายีเถระ ชื่อเดิม อุทายี เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน แต่เพราะเขามีผิวพรรณค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า  กาฬุทายี บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อในตำนาน แต่บอกว่า บิดาเป็นอำมาตย์รับราชการในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ อันผู้ที่เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า สหชาตินั้นมี ๗ คือ ๑. ต้นโพธิพฤกษ์ ๒. มารดาของพระราหุล  ๓. ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง  ๔. พระอานนท์  ๕. ม้ากัณฐกะ  ๖. นายฉันนะ   ๗. กาฬุทายีอำมาตย์
๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
        พระกาฬุทายีเถระนั้น เติบโตมาพร้อมกันกับพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นสหายรักใคร่ ชอบใจ คุ้นเคยกัน ฉลาดในทางนิติบัญญัติ ต่อมาได้เป็นอำมาตย์ในราชสำนักของกรุงกบิลพัสดุ์
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
        หลังจากที่พระมหาสัตว์เสด็จมหาเนษกรรมพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงคอยสดับข่าวตลอดเวลา จนมาทราบว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กำลังประดิษฐานพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรพระโอรส จึงได้โปรดให้อำมาตย์พร้อมบริวาร นำข่าวสารไปกราบทูล พระศาสดา เพื่อเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ แต่อำมาตย์เหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์ บวชในพระพุทธศาสนา มิได้กลับมาตามรับสั่งถึง ๙ ครั้ง สุดท้ายทรงมุ่งหมายไปที่กาฬุทายี ผู้จงรักภักดีมั่นคงนัก ทั้งยังรักใคร่สนิทสนมกับพระบรมศาสดา คงจะอาราธนาจอมมุนีกลับมาที่กบิลพัสดุ์ได้ จึงส่งไปพร้อมบริวารสู่สถาน กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ ด้วยเกียรติยศยิ่งใหญ่ เธอได้ไปเฝ้าพระชินสีห์ที่พระเวฬุวันวิหาร ทรงประทานพระธรรมเทศนาให้เกิดปัญญาบรรลุ พระอรหันต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร แล้วทูลขอการบรรพชา
๔.  วิธีบวช
        เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมกับบริวารทูลขอการบรรพชาอุปสมบท ตามกฏพระวินัยว่า ขอข้า พระองค์ทั้งหลายพึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงยื่นพระหัตถ์ตรัสพระวาจาว่า เธอทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด การบวชวิธีนี้เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        กาฬุทายีอำมาตย์ เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ครั้นถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา เห็นว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ จึงได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา ๖๐ คาถา เป็นต้นว่า
        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้กำลังผลัดใบ ใบเก่าล่องไป ใบใหม่เกิดแทน ดูแล้วแสนเจริญตา สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง น่ารื่นเริงทั่วพนาวัน ไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน บ้างก็บาน บ้างยังตูม เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมร กลิ่นเกษรหอมกระจายไปทั่วทิศ ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น ไม้ผลก็ออกผล ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าชีวิตใคร อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคไม่เบียดเบียน ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์ เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ ประกาศ ญาตัตถจริยา ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าข้า
    เมื่อพระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาว่าจะเสด็จกบิลพัสดุ์นคร พระเถระได้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อถวายพระพรให้ทรงทราบ จอมกษัตริย์ทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต มิได้ขาดทุกๆ วัน พร้อมกันนั้นพระประยูรญาติก็ศรัทธาเลื่อมใส เคารพพระรัตนตรัยโดยทั่วกัน สิ้นเวลา ๖๐ วัน พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถิงกบิลพัสดุ์ โปรดจอมกษัตริย์และพระประยูรญาติ ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม
๖.  เอตทัคคะ
        พระกาฬุทายีเถระ ได้ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนพระศาสดาจะเสด็จไปถึง ได้แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริษัท ทำให้ชาวกบิลพัสดุ์เป็นอันมากเกิดศรัทธาเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย วันหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกที่ทำตระกูลให้เลื่อมใสของเราแล้ว กาฬุทายีนับว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหมด
 ๗.  บุญญาธิการ
        พระกาฬุทายีเถระนี้ ได้สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพุทธกาลเป็นอันมาก ในกาล แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่ง ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงเร่งกระทำบุญกรรมสะสมไว้เพื่อได้ตำแหน่งนั้นแล้ว ได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เวลาผ่านไปหนึ่งแสนกัปป์ ความปรารถนาของเขาได้สำเร็จในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมาแล้ว
๘.  ธรรมวาทะ
ชาวนาหว่านพืชบ่อย ๆ ฝนตกลงมาบ่อย ๆ  ชาวนาไถนาบ่อย ๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อย ๆ
พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อย ๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้ทานบ่อย ๆ ครั้นให้ทานบ่อย ๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
        ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำสกุลให้บริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า นักปราชญ์
 ๙.  นิพพาน
        พระกาฬุทายีเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้ช่วยพระศาสดา ประกาศพระศาสนาตามความสามารถในที่สุดก็ได้นิพพานละสังขารไปตามกฎของธรรมดา คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

๑๕.พระอุบาลีเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระอุบาลีเถระ นามเดิม อุบาลี เป็นนามที่ญาติทั้งหลายตั้งให้ หมายความว่า ประกอบด้วย กายและจิตใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้งหลาย เพราะออกไปบวชพร้อมกัน บิดา และมารดาไม่ปรากฎนาม เกิดในเรือนของช่างกัลบก ของศากยกษัตริย์ในนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวช
        อุบาลีนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น จึงได้รับ แต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์
๓. การบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อพระโอรสของศากยกษัตริย์ทั้งหลายบวชกันเป็นจำนวนมาก เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์เหล่านี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต ยังไม่ได้ออกบวช จึงสนทนากันว่า คนอื่นเขาให้ลูก ๆ บวชกัน คนจากตระกูลเรายังไม่ได้ออกบวชเลย เหมือนกับไม่ใช่ญาติของพระศาสดา ในที่สุดกษัตริย์ทั้ง ๖ จึงตัดสินพระทัยออกบวช โดยมีนายอุบาลีภูษามาลาตามเสด็จไปด้วย เมื่อเข้าสู่แว่นแคว้นกษัตริย์อื่น จึงให้นายอุบาลีกลับ นายอุบาลีกลับมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ตัดสินใจบวชบ้าง แล้วได้ร่วมเดินทางไปกับ กษัตริย์ทั้ง ๖ นั้น จึงรวมเป็น ๗ คนด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยอัมพวัน กษัตริย์ทั้ง ๖ ได้กราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดบวชให้อุบาลีก่อน ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ทำสามีจิกรรม มีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา วิธีนี้จะทำให้มานะของพวกข้าพระองค์สร่างสิ้นไป พระศาสดาได้ทรงจัดการบวชให้พวกเขาตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
        พระอุบาลีเถระนั้น ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้ข้า พระองค์อยู่ป่า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระจะบริบูรณ์ พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นแก่พระอุบาลีนั้นด้วยพระองค์เอง ท่านจึงเป็นผู้ทรงจำ และชำนาญในพระวินัยปิฎก ครั้นพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนา พระธรรมวินัยครั้งแรกโดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระสงฆ์ได้เลือก ท่านเป็นผู้วิสัชชนา พระวินัยปิฎก ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
๖.  เอตทัคคะ
        ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอุบาลีเถระ ได้เรียนพระวินัยปิฎกทั้งหมดจากพระโอษฐ์ของพระศาสดา โดยตรง จึงมีความชำนาญในพระวินัย ท่านได้วินิจฉัยเรื่องภารุกัจฉะ เรื่องอัชชุกะ และเรื่องกุมารกัสสปะ ได้ถูกต้องตามธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระศาสดาประทานสาธุการ และทรงถือเรื่องนั้นเป็นอัตถุปัตติเหตุ (เป็นต้นเรื่อง) แล้วทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นวินัยธร (ผู้ทรงพระวินัย)
๗.  บุญญาธิการ
        พระอุบาลีเถระนั้น ได้กระทำบุญญาธิการอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระนิพพานมานานแสนนาน จนกระทั่งถึงสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งไปฟังธรรมของพระศาสดาได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระวินัย ศรัทธา เลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงสร้างสมบุญกุศลตลอดมาหลายพุทธันดร สุดท้ายได้สมปรารถนาในพระศาสนาของพระสมณโคดม ศาสดาแห่งพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้
๘.  ธรรมวาทะ
        ข้าแต่พระธีรเจ้า ในนครธรรมของพระองค์นั้นมีศีลเป็นดังกำแพง มีพระญาณเป็นดังซุ้มประตู ศรัทธาเป็นดังเสาระเนียด สังวรเป็นดังนายประตู สติปัฏฐานเป็นดังป้อม ปัญญาเป็นดังทางสี่แพร่ง อิทธิบาทเป็นดังทางสามแพร่ง
        พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙ ทั้งสิ้น เป็นดังธรรมสภา ในนครธรรมของพระองค์ ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก ยาพิษร้ายของบุคคลบางพวก เป็นยารักษาโรคของบุคคลบางพวก ใคร ๆ เห็นผ้ากาสาวพัสด์อันเขาทิ้งไว้ที่หนทาง เปื้อนของไม่สะอาด เป็นธงชัยของฤาษี พึงประนม มือไหว้ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนั้น
๙.  นิพพาน

        พระอุบาลีเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และ หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ร่วมทำสังคายนาครั้งแรก โดยเป็นผู้วิสัชชนาพระวินัย สุดท้ายได้นิพพาน ดังประทีปที่โชติช่วงชัชวาลเต็มที่แล้วค่อย ๆ มอดดับไป

๑๖.พระนาลกเถระ
           เป็นบุตรน้องสาวของอชิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ๆ กาฬเทวิลดาบสไปเยี่ยม เห็นพระลักษณะแล้ว เชื่อแน่ตามตำราพยากรณ์ว่าพระองค์จะเสด็จออกบวช และจักเป็นศาสดาเอกของโลก จึงแนะนำนาลกะให้บวชด้วย นาลกะก็ทำตามคำแนะนำ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าทูลถามปัญหาเกี่ยวกับโมเนยยปฏิบัติ พระองค์ทรงพยากรณ์โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสข้องแค้นใจเมื่อถูกด่า เมื่อจบคำพยากรณ์ท่านเกิดความเลื่อมใสทูลขอบวชเมื่อได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาไปอยู่ป่าบำเพ็ญเพียรในโมเนยยปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล เมื่อท่านพระนาลกเถระ เป็นพระสาวก องค์เดียวเท่านั้นที่บำเพ็ญ โมเนยยปฏิบัติ เพราะเหตุที่ท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึง ดำรงชนมายุอยู่ได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้นนับแต่ได้บรรลุอรหัตผลก็ยืนดับขันธปรินิพพาน เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา

๑๗.พระสีวลีเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระสีวลีเถระ  นามเดิม  สีวลี บิดาไม่ปรากฏนาม มารดา  พระนางสุปปวาสา  พระธิดาเจ้าเมืองโกลิยะ
เขาอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน  ๗ วัน ทำให้มารดามีลาภสักการะมาก และคลอดง่ายที่สุด
๒.ชีวิตก่อนบวช
              ย้อนไปถึงก่อนที่ท่านจะประสูติ พระมารดาเสวยทุกขเวทนาหนักมาก จึงให้พระสวามีไปบังคมทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสประทานพรให้ว่า ขอพระธิดาแห่งโกลิยวงศ์จงมีความสุข  ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระโอรสหาโรคมิได้เถิด พระนางก็ประสูติพระโอรสสมพุทธพรทุกประการ  แล้วได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อสีวลีกุมารประสูติ พระมารดาและพระประยุรญาติได้ถวายมหาทาน ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระสารีบุตรเถระจึงชวนเธอบวช เธอตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระมารดาทรงทราบก็ดีใจ อนุญาตให้พระเถระบวชกุมารได้ตามประสงค์ พระเถระจึงนำกุมารไปบวชเป็นสามเณร  ตั้งแต่กุมารบวชแล้ว ลาภ สักการะได้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายมากมาย
 ๔.การบรรลุธรรม
              พระสีวลีได้ฟังตจปัญจกกรรมฐานจากพระสารีบุตรเถระ แล้วบรรลุพระอรหัตผลในเวลาปลงผม 
ท่านกล่าวว่า     จดมีดโกนครั้งแรก บรรลุโสดาปัตติผล 
ครั้งที่ ๒  บรรลุสกิทาคามิผล 
ครั้งที่ ๓ บรรลุอนาคามิผล 
พอปลงผมเสร็จบรรลุพระอรหัตผล
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระสีวลีนั้นเป็นพระที่มนุษย์และเทวดาเคารพนับถือ บูชามาก จึงเป็นพระที่มีลาภมาก  แต่มักจะถูกมองว่า เป็นเรื่องของบุญเก่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามเหตุการณ์อย่างนี้ ก็ต้องถือว่าท่านมีส่วนสำคัญในการประกาศพระศาสนา เพราะทำให้คนที่ยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดศรัทธา  เพราะยากจะหาพระที่มีบุญญาธิการเหมือนท่าน
๖.เอตทัคคะ
              เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีลาภมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหนช่วยให้ภิกษุทั้งหลายไม่ขัดสนปัจจัยลาภไปด้วย พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
๗.บุญญาธิการ
          แม้พระสีวลีเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระศาสดาตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภ จึงทำบุญมีประการต่าง ๆ แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนเองได้เป็นเช่นภิกษุรูปนั้นบ้าง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า  จะได้สำเร็จในสมัยแห่งพระสมณโคดม
๘.ธรรมวาทะ
              ข้าพเจ้าไปสู่กระท่อม  เพื่อจะทำความดำริเหล่าใดให้สำเร็จ  ความดำริเหล่านั้นของข้าพเจ้าสำเร็จแล้ว  ข้าพเจ้าถอนมานานุสัยได้  จึงได้บรรลุวิชาและวิมุตติ
๙. นิพพาน
              พระสีวลีเถระได้บรรลุประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมหาชน  จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  จึงได้นิพพานดับสังขารสู่บรมสุขอย่างถาวร

๑๘.พระยสะเถระ
เป็นบุตรของเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสี มีเรือนเป็นที่อยู่อาศัย  ๓ หลัง คืนหนึ่งในฤดูฝนมีสตรีสวยๆ ขับกล่อมประโคมตนตรีหลับไป ตื่นขึ้นในยามดึก มองเห็น กิริยาของสตรีที่กำลังหลับ เป็นเหมือนซากศพที่ตั้งอยู่ในป่าช้าก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงเปล่งอุทานว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอแล้วก็เดินลงจากเรือนออกประตูบ้านไป เดินไปพลางบ่นไปพลาง จนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ ทรงได้ยินจึงคง ตรัสว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญมาที่นี่เถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอเมื่อ ยสกุลบุตรเข้าไป ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ๕
  ฟอกจิตใจให้ห่างไกล จากความยินดี ในกามแล้วจึงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม
ภายหลังเมื่อบิดามาตาม ได้ฟังเทศนที่พระองค์แสดงแก่บิดา ก็ส่งกระแสจิตพิจารณาภูมิธรรมไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้ บรรลุอรหัตผล เมื่อบิดาได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป จึงทูลขอบวชพระองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยพระดำรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด  เมื่อรุ่งเช้า พระบรมศาสดากับพระยสะเถระ ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านเศรษฐี บิดายสะ มารดาและภรรยากำลังฟังเทศนาก็ได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสิกา
          การบวชของท่านเป็นเหตุชักจูงให้ผู้อื่นมาบวชอีกเป็นอันมาก เช่น สหาย  ๕๔ คน และท่านได้ช่วยเป็นกำลังใหญ่ในการปะกาศพระศาสนา คราวแรก เมื่อดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลก็ปรินิพพาน

๑๙. พระวิมลเถระ
เป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นสหายของพระยสะ ได้ทราบข่าวว่ายสะ ออกบวชจึงคิดว่า พระธรรมวินัย ที่ ยสะออกบวชคงจะไม่เลวทรามคงประเสริฐ อำนวยประโยชน์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ คิดดังนั้นแล้วจึงไปชวนสหายอีก ๓ คือ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ พากันไปหาพระยสะ พระยสะ พาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  พระองค์ทรงสั่งสอนจนได้บรรลุธรรมพิเศษแล้วประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา และทรงสั่งสอนจนได้บรรลุธรรมพิเศษแล้วประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาและทรงสั่งสอนจนบรรลุอรหัตผล ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ถูกส่งไปประกาศพระศาสนาคราวแรก ยังกุลบุตร ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส เมื่อท่านดำรงอยู่ตามสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน

๒๐.พระสุพาหุเถระ
          เป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครพาราณสี เป็นสหายกับพระยสเถระ ได้ทราบข่าวว่ายสะผู้สหายออกบวช จึงมีความคิดเช่นเดียวกับพระวิมลเถระ จึงพร้อมกับท่าน วิมละ ปุณณชิ ควัมปติ ไปหาพระยสะ ได้ฟังเทศน์จากพระบรมศาสดา ได้ดวงตาเห็นธรรมจึงทูลขอบวช ได้สำเร็จอรหัต ผล ช่วย
ประกาศพระศาสนา เช่นเดียวกับพระวิมลเถระ ท่านดำรงอยู่ตามสมควรแก่อายุขัยก็ดับขันธปรินิพพาน

๒๑. พระปุณณชิเถระ
      เป็นของเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสี เป็นสหายของพระยสเถระ ได้ทราบข่าวการบวชของพระยสะผู้สหายจึงออกบวชด้วยได้สำเร็จอรหัตผล ช่วยประกาศพระศาสนา เช่นเดียวกับพระสุพาหุเถระ ท่านดำรงอยู่ตามสมควรแก่อายุขัยก็ดับขันธปรินิพพาน

๒๒.พระควัมปติเถระ
        เป็นบุตรของเศรษฐีขาวเมืองพาราณสี เป็นสหายของพระยสเถระ ประวัติ ต่อไปของท่านก็เช่นเดียวกับประวัติ ของท่านปุณณชิเถระ ท่านดำรงอัตภาพอยู่ตามสมควรแก่อายุขัยก็ดับขันธปรินิพพาน

๒๓. พระอุรุเวลกัสสปะ
๑. สถานะเดิม
        พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านมีชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ ต่อมาบวชเป็นฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไม่ปรากฎชื่อในตำนาน เกิดที่ กรุงพาราณสี ก่อนหน้าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติการศึกษา เรียนจบไตรเพท
        อุรุเวลกัสสปะมีน้องชาย ๒ คน ชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ เหมือนกันทั้ง ๒ คน  แต่ต่อมา เมื่อออกบวชเป็นฤาษี คนกลางได้ตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา จึงได้นามว่านทีกัสสปะ คนเล็กได้ ตั้งอาศรมอยู่ที่ ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ
        อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน นทีกัสสปะมีบริวาร ๓๐๐ คน คยากัสสปะมีบริวาร ๒๐๐ คน ต่างสอนไตรเพทแก่บริวารของตน ต่อมาคนทั้ง ๓ นั้นตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ทั้งหมดของตน ได้เห็นแต่เพียงประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น เกิดความยินดีในการบวช จึงชักชวนกันออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศ  พระศาสนายังแคว้นต่าง ๆ แล้วพระองค์ได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียวมุ่งสู่แคว้นมคธ ทรงทราบดีว่า ท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีอายุมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ จึงทรงมุ่งหมายไปที่ท่าน เพราะถ้าสามารถโปรดท่านได้แล้ว จะได้ชาวมคธอีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทางได้ทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตรัสขอที่พักกับอุรุเวลกัสสปะ ๆ ไม่เต็มใจต้อนรับ จึงบอกให้ไปพักในโรงไฟ ชึ่งมีนาคราชดุร้าย มีฤทธิ์มีพิษร้ายแรง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้ เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง นาคราชไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ จนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ อุรุเวลกัสสปะก็ยังคิดว่า ถึงอย่างไรพระมหาสมณะนี้ก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่
        พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับเขาว่า กัสสปะ เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก และแม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นอรหันต์ของเธอก็ยังไม่มีเลย อุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงที่พระบาทแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธอเป็นนายก เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน อุรุเวลกัสสปะจึงเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ชาวเราเอ่ย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตาม ที่เข้าใจเถิด พวกชฎิลกล่าวว่า แม้พวกเราทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะนั้นด้วยเหมือนกัน ได้พากันปล่อยบริขารและเครื่องบูชาไฟลอยไปในน้ำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา และอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
๓.  วิธีอุปสมบท
        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบท ของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น
๔.  การบรรลุอรหัตตผล
เมื่ออุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขารและเครื่องบูชาไฟไปในแม่น้ำ น้องชายทั้งสองทราบ  จึงมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมกับบริวารทั้งหมด ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ แล้วทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปยังคยาสีสะตำบล ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วย
อาทิตตปริยายเทศนา ใจความย่อแห่งอาทิตตปริยายเทศนาว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ตามตำนานเล่าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปถึงเมืองราชคฤห์ ประทับที่สวนตาลหนุ่ม ชื่อลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม จึงตรัสสั่งให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิของท่านไม่มีแก่นสาร ท่านได้ทำตามพระพุทธดำรัส คนเหล่านั้นสิ้นความสงสัย ตั้งใจฟังพระเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เวลาจบเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาปัตติผลอีก ๑ ส่วน ดำรงอยู่ในสรณคมน์
๖.  เอตทัคคะ
        พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เพราะท่านสามารถอบรมสั่งสอนเขา ด้วยคุณต่าง ๆ ได้ และเพราะท่านได้ทำบุญเอาไว้ใน พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
๗.  บุญญาธิการ
        ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในโลก พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชาวเมืองหังสวดี ได้ไปฟังธรรมของพระองค์ และได้เห็นพระองค์ทรงตั้งพระสาวกในตำแหน่ง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เกิดความพอใจ อยากได้ฐานันดรนั้นบ้าง จึงได้ทำบุญมีทานเป็นต้น กับพราหมณ์อีก ๑๐๐๐ คน แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นว่า ความปราถนาของเขาจะสำเร็จ จึงได้พยากรณ์ว่าต่อไปนี้อีกแสนกัปป์ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาทรง พระนามว่าโคดม และได้ฐานันดรนั้น ท่านได้บำเพ็ญบารมีตลอดมาถึงสมัยของพระศาสดาทรงพระนาม ว่าผุสสะ ทั้ง ๓ พี่น้อง ได้เป็นราชอำมาตย์ในพระนครพาราณสี ได้บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ และอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธาและความเคารพ ชาติสุดท้ายจึงได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มีความสุข สมบูรณ์ในพระนครพาราณสี และได้รับฐานันดรตามที่ปรารถนาไว้
๘.  ธรรมวาทะ
การบูชายัญ ล้วนแต่มุ่งหมายรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลายเพราะฉะนั้น จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชายัญ
๙.  ปรินิพพาน
        พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป

๒๔.พระนทีกัสสปะเถระ
                 เป็นน้องชายของอุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายคนหนึ่งชื่อคยากัสสปะ เดิมเขาเรียกกันว่า กัสสปะ  ตามโคตรทั้ง ๓ พี่น้อง เหตุที่ได้ชื่อนทีกัสสปะ เพราะเมื่อบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชราตอนใต้อาศรมของพี่ชาย (นทีแปลว่าแม่น้ำ) มีบริวาร ๓๐๐ คน เมื่อพี่ชายลอยบริขารของชฎิลแล้วบวชในพระพุทธศาสนา ตนเองได้เห็นบริขารลอยมาเข้าใจว่า คงจะเกิดอันตรายแก่พี่ชายพร้อมด้วยบริวารรีบไปอาศรม ของพี่ชายเห็นพี่ชายนพร้อมทั้งบริวารอุปสมบทเป็นบรรพชิต ถามท่านว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารชฎิล พร้อมทั้งบริวารทูลขออุปสมบท เมื่อได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูต ที่ตำบลคยาสีสะ ก็ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลพร้อมทั้งบริวาร ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่หน้าที่ ดำรงชนมายุอยู่ได้ตามสมควรแก่กาลเวลาก็ดับขันธปรินิพพาน



๒๕. พระคยากัสสปะเถระ
                    เป็นน้องชายของอุรุเวลกัสสปะและนทีกัสสปะ เดิมเรียกกันว่า กัสสปะ ตามโคตรทั้ง ๓ พี่น้อง เหตุที่ได้ชื่อ คยากัสสปะ เพราะบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่คยาสีสะ ประเทศหรือที่หัวคุ้ง แม่น้ำคยา ตอนใต้ อาศรม ของพี่ชายทั้งสอง มีบริวาร ๒๐๐ คนได้เห็นบริขารของพี่ชายทั้งลอยน้ำมา สำคัญว่าอันตรายคงเกิดแก่พี่ชายทั้งสอง จึงพร้อมด้วยบริวารพากันรีบมา เมื่อเห็นพี่ชายทั้งสองพร้อมกับรบริวารถือเพศเป็นบรรพชิต ถามได้ความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐจึงพากันลอยบริขารของตนเสียพร้อมกับบริวารทูลขออุปสมบท  เมื่อได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตรที่คยาสีสะประเทศ ก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วยคนทั้ง ๑๐๐๓ องค์ ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนา ตามสติกำลัง ตามกาลเวลาอันสมควร ก็ดับขันธปรินิพพาน

๒๖. พระสารีบุตรเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระสารีบุตรเถระ ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูล ผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม บิดา ชื่อ วังคันตพราหมณ์  มารดา ชื่อ นางสารี หรือ รูปสารี เกิดที่อุปติสสคาม ไม่ไกลพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย
        การศึกษา ได้สำเร็จศิลปศาสตร์หลายอย่าง เพราะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ศึกษาได้รวดเร็ว อุปติสสะมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารีบุตร เพราะเป็นบุตรของนางสารี แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อนสพรหมจารีเรียกท่านว่า พระสารีบุตร อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
        อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมด ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลาย ควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชก ได้มีลาภและยศอันเลิศ
 ๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        อุปติสสะและโกลิตะปริพาชก ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า เป็นบัณฑิตในที่นั้น ๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาของสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป จึงได้ทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง
        วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม เห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียด  น่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา
        ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ได้ยังโอกาสอันเหมาะสมเพื่อจะฉันอาหาร ปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวายเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมี
วาทะอย่างไร พระเถระตอบว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้
        อุปติสสปริพาชก ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
 ๓.  วิธีบวช
        พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย เมื่อทั้งสองบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียก อุปติสสะว่า สารีบุตร เรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ
๔.  บรรลุพระอรหัต
        พระสารีบุตร บวชได้กึ่งเดือน (๑๕ วัน) อยู่ในถ้ำสุกรขตะ (ส่วนมากเรียกสุกร-ขาตา) กับพระศาสดาเมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น

        พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้ พระศาสดาทั้งคู่ คือ พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลคาม
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระสารีบุตรเถระ นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา มีคำเรียกท่านว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่า พระธรรมราชา ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเสพ จงคบ สารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิดโมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป
        ครั้งที่พระเทวทัตประกาศแยกตนจากพระพุทธเจ้า พาพระวัชชีบุตรผู้บวชใหม่ มีปัญญาน้อย ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ไปนำพระ เหล่านั้นกลับมา ท่านทั้งสองได้ทำงานสำเร็จตามพุทธประสงค์
        ท่านได้ทำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเกิดความเลื่อมใส และผู้ที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว มีความเลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการชักนำ และการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี เช่นชักนำน้องชาย และน้องสาวของท่านให้เข้ามาบวชโปรดบิดาและมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอุปัชฌาย
์บวชสามเณร และภิกษุจำนวนมาก ซึ่งต่อมาหลายท่านมีชื่อเสียง นับเข้าจำนวนอสีติมหาสาวก เช่น สามเณรราหุล สามเณรสังกิจจะ พระราธะพระลกุณฑกภัททิยะ เป็นอาทิ
ด้านการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดีนั้น พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่ง ท่านได้บรรลุโสดาบัน และได้บวชในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ของท่าน ทำการเคารพกราบไหว้เสมอ ทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด จะยกมือไหว้และนอน ผินศีรษะไปทางทิศนั้น
        อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ขัดสนชื่อราธะ ได้เคยแนะนำคนให้ใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ภายหลัง พราหมณ์นั้นศรัทธาจะบวช พระศาสดาตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า ใครระลึกถึงอุปการะที่พราหมณ์นี้ ทำได้บ้าง พระสารีบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ พราหมณ์นี้ เคยแนะนำคนให้ถวายภิกษาข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง พระศาสดาประทานสาธุการแก่ท่านแล้วตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที แล้วตรัสสอนให้คนอื่นได้ถือเป็นแบบอย่าง และมอบให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์บวช พราหมณ์นั้น
๖.  เอตทัคคะ
        พระสารีบุตรเถระ ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรม ได้ใกล้เคียงกับพระศาสดาและสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้าน พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก
๗.  บุญญาธิการ
        เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ได้เห็นพระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา อาสนะดอกไม้ แก่ดาบสทั้งหลาย มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็น พระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระนิสภเถระนี้ จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จโดย ไม่มีอันตรายจึงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ไป จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าสารีบุตรท่านได้บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น มาตลอดมิได้ขาด จนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ
 ๘.  ธรรมวาทะ
คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา ต้องลำบากด้วยภาระ ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็ฉันนั้น เราถูกไฟ ๓ กอง เผาอยู่ เป็นผู้แบกภาระคือภพ เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวไปในภพคนผู้มีใจต่ำ เกียจคร้าน ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย ไม่มีมรรยาท อย่าได้สมาคมกับเรา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ส่วนคนผู้มีสุตะมาก มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา  ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า จะเป็นธรรมเสนาบดีในศาสนา ของพระศากยบุตรตั้งแต่วันนี้เป็นตันไป
๙.  ปรินิพพาน
        พระสารีบุตรเถระปรินิพพานก่อนพระศาสดา โดยได้กลับไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ก่อนจะนิพพาน ท่าน
ได้ไปทูลลาพระศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วนิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติ พี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้ว เก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น

๒๗. พระโมคคัลลานะเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระโมคคัลลานเถระ  ชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของ ตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม บิดา ไม่ปรากฎชื่อ กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม  มารดา ชื่อโมคคัลลี หรือมุคคลี ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์   เกิดที่ บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทั้งหลาย (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)
        โกลิตะ มีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเกิดโดยโมคคัลลีโคตร อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้อาจ คือสามารถในการได้ ในการถือเอา ในการรู้แจ้งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เขามีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่ออุปติสสะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหนัาในอุปติสสคาม ไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ
        อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้มีลาภและยศอันเลิศ
๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        โกลิตะพร้อมกับสหาย เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้สหาย และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
๓.  วิธีบวช
        พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด
๔.  การบรรลุพระอรหัต
        ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ ๗ วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคามในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธอ อย่าได้ ไร้ผลเสียเลย แล้วสอนธาตุกรรมฐาน ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ ความอบอุ่น ในร่างกายเป็นธาตุไฟ ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้วส่งใจไปตามกระแสเทศนา ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบนโดย ลำดับแห่งวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะ ได้บรรลุผลอันเลิศ คือ อรหัตผล
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระโมคคัลลานเถระ เป็นกำลังสำคัญของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา เพราะท่าน มีฤทธิ์มาก จนทำให้เจ้าลัทธิอื่น ๆ เสื่อมลาภสักการะ โกรธแค้นคิดกำจัดท่าน ดังคำปรึกษากันของ เจ้าลัทธิเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุไร ลาภสักการะจึงเกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม เป็นจำนวนมาก พวกเดียรถีย์ที่รู้ตอบว่า พวกข้าพเจ้าทราบ ลาภสักการะเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ รูปหนึ่งชื่อ มหาโมคคัลลานะ เพราะพระเถระนั้นไปยังเทวโลก ถามกรรมที่พวกเทวดาทำแล้ว กลับมาบอกกับพวกมนุษย์ว่า ทวยเทพทำกรรมชื่อนี้ ย่อมได้สมบัติอย่างนี้ ท่านไปยังนรกถามกรรม ของหมู่สัตว์ผู้เกิดในนรกแล้วกับมาบอก พวกมนุษย์ว่า พวกเนริยกสัตว์ทำกรรมชื่อนี้ ย่อมเสวยทุกข์ อย่างนี้ พวกมนุษย์ได้ฟังคำของพระเถระนั้นแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงนำลาภสักการะเป็นอันมากไปถวาย นี้นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสดา
        อนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ยังทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป
 ๖.  เอตทัคคะ
        พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้ ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย เช่น นันโทปนันทนาคราชเป็นต้นได้ จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์
๗.  บุญญาธิการ
        ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัปป์ ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อสิริวัฒนกุฏุมพี มีสหายชื่อสรทมาณพ
              สรทมาณพ ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑       ในศาสนาของพระสมณโคดม ได้รับพยากรณ์ คือ การรับรองจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า จะสำเร็จแน่แล้ว จึงไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่งสาวกที่ ๒ สิริวัฒน-กุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา แล้วได้พยากรณ์ว่า อีกหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปป์ จะได้เป็นสาวกที่ ๒ ของพระโคดมพุทธเจ้า มีนามว่าโมคคัลลานะ เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา จนถึงชาติสุดท้าย เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณีมีชื่อว่าโมคคัลลานะออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้
 ๘.  ธรรมวาทะ
        ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา  คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเผาตัวของท่านเอง เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร (บาปแล้วยังโง่อีก)
๙.  นิพพาน
        พระมหาโมคคัลลานเถระ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ นิพพานก่อน  พระศาสดา แต่นิพพานภายหลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว ให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์ บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร

๒๘. พระมหากัสสปเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระมหากัสสปเถระ ชื่อเดิมว่า ปิปผลิ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ แต่มักเรียกกันตามโคตรว่า กัสสปะ  บิดาชื่อ กปิละ มารดาไม่ปรากฎชื่อ เป็นวรรณะพราหมณ์ตระกูลมหาศาลเชื้อสายกัสสปโคตร  ท่านเกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อมหาติตถะ ตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ ภายหลังพระมหาบุรุษเสด็จอุบัติ
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระมหากัสสปเถระ เป็นลูกพราหมณ์มหาศาล บิดาและมารดาจึงต้องการผู้สืบเชื้อสายวงค์ตระกูล ได้จัดการให้แต่งงานกับหญิงสาวธิดาพราหมณ์มหาศาลเหมือนกัน ชื่อภัททกาปิลานี ในขณะท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี นางภัททกาปิลานีมีอายุได้ ๑๖ ปี แต่เพราะทั้งคู่จุติมาจากพรหมโลก และบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมา จึงไม่ยินดีเรื่องกามารมณ์ เห็นโทษของการครองเรือนว่า ต้องคอยเป็นผู้รับบาปจากการการะทำของผู้อื่น ในที่สุดทั้งสองได้ตัดสินใจออกบวชโดยยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและบริวาร พวกเขาได้ไปซื้อผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตรดินจากตลาด ต่างฝ่ายต่างปลงผม ให้แก่กันเสร็จแล้ว ครองผ้ากาสาวพัสตร์สะพายบาตร ลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีความอาลัย
 ๓.  การบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อปิปผลิและภัททกาปิลานีเดินทางไปด้วยกันได้ระยะหนึ่งแล้วปรึกษากันว่า การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ ผู้พบเห็นติเตียนได้ เป็นการไม่สมควรจึงได้แยกทางกัน นางภัททกาปิลานีไปถึงสำนักนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วบวชเป็นนางภิกษุณีภายหลังได้บรรลุพระอรหัตตผล
        เมื่อทั้งสองคนแยกทางกัน พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฏี วัดเวฬุวัน ทรงทราบถึงเหตุนั้น จึงได้เสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เพื่อรอรับการมาของเขา ต้นนิโครธนั้นมีลำต้นสีขาว ใบสีเขียว ผลสีแดง ปิปผลิเห็นพระองค์แล้วคิดว่า ท่านผู้นี้ จักเป็นศาสดาของเรา เราจักบวชอุทิศพระศาสดาองค์นี้ จึงน้อมตัวลงเดินเข้าไปหา ไหว้ ๓ ครั้ง แล้ว กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ ถ้าเธอพึงทำความเคารพนับถือนี้แก่แผ่นดิน แผ่นดินนั้นก็ไม่สามารถจะรองรับได้ ความเคารพนับถืออันเธอผู้รู้ความที่ตถาคต เป็นผู้มีคุณมากอย่างนี้กระทำแล้ว ย่อมไม่ทำแม้ขนของเราให้ไหวได้ เธอจงนั่งลงเถิด กัสสปะ ตถาคตจะให้ทรัพย์มรดกแก่เธอ
๔.  วิธีบวช
                   ลำดับนั้น พระศาสดาได้บวชให้ท่านด้วยทรงประทานโอวาท ๓ ข้อ คือ
        ๑. ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็น เถระ ปานกลาง และบวชใหม่
        ๒. ธรรมใดเป็นกุศล เราจักเงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความนั้น (ของธรรมนั้น)
        ๓. เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์ (อยู่เสมอ)
              วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท
        ครั้นบวชให้ท่านเสร็จแล้ว พระศาสดาทรงให้ท่านเป็นปัจฉาสมณะเสด็จไปตามทางได้หน่อยหนึ่ง ทรงแวะข้างทาง แสดงอาการจะประทับนั่ง พระเถระทราบดังนั้น จึงปูผ้าสังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าผืนเก่าของตน เป็น ๔ ชั้นที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่งบนสังฆาฏินั้น เอาพระหัตถ์ลูบผ้าพลาง ตรัสว่า กัสสปะ สังฆาฏิอันเป็นแผ่นผ้าเก่าผืนนี้ของเธอ อ่อนนุ่ม พระเถระรู้ความประสงค์จึงกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงห่มผ้าสังฆาฏินี้เถิด พระเจ้าข้า แล้วเธอจะห่มผ้าอะไร พระศาสดาตรัสถาม พระเถระกราบทูลว่า เมื่อได้ผ้าสำหรับห่มของพระองค์ ข้าพระองค์จักห่มได้พระเจ้าข้า พระศาสดาได้ทรงประทานผ้าห่มของพระองค์แก่พระเถระ ๆ ได้ห่มผ้าของพระศาสดา มิได้ทำความถือตัวว่า เราได้จีวรเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า (ปฏปิโลติกสงฺฆาฏึ) แต่คิดว่า ตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้อีก จึงได้สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักพระศาสดา หลังจากบวชได้ ๘ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระมหากัสสปเถระ เป็นพระสันโดษมักน้อย ถือธุดงค์เป็นวัตร ธุดงค์ ๓ ข้อ ที่ถืออยู่ตลอดชีวิต คือ
๑. ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 
๒. เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 
๓. อยู่ป่าเป็นวัตร
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านจึงไปในทางเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังมากกว่าการแสดงธรรม ท่านได้แสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ของท่านแก่พระศาสดา ๒ ประการคือ
              ๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
              ๒. เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลัง จะได้ถือปฏิบัติตาม
        พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วตรัสว่า เธอได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตนแก่ชนเป็นอันมาก ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
        ๑. กัสสปะ เข้าไปสู่ตระกูล ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยอยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น เพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
        ๒. กัสสปะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
        ๓. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ โดยยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง
        แต่งานประกาศพระศาสนาที่สำคัญที่สุดของพระมหากัสสปเถระ คือ เป็นประธานการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้ปรารภถ้อยคำ ของสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า  พวกเราพ้นพันธนาการจากพระสมณโคดมแล้ว ต่อจากนี้ไป อยากทำอะไรก็ทำไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านได้แจ้งเรื่องนั้นให้พระสงฆ์ทราบ แล้วตกลงกันว่าต้องสังคายนาพระธรรมวินัยเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดอันจะทำให้พระศาสนาดำรงมั่นคงอยู่ได้ชั่วกาลนาน พระสงฆ์ได้มอบให้ท่านเป็นประธานคัดเลือกพระภิกษุผู้จะเข้าร่วมสังคายนา ท่านคัดเลือกพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป ล้วนแต่บรรลุอภิญญา๖ และปฏิสัมภิทา ๔ จากนั้นได้เดินทางไปยังถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างภูเขาเวภาระ โดยได้รับราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธปฐมสังคายนานี้ มีความสำคัญมากได้ช่วยรักษาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงมั่นคงมาจวบถึงทุกวันนี้
๖.  เอตทัคคะ
        พระมหากัสสปเถระ ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นต้นว่า เปรียบเสมือนด้วยพระจันทร์ เข้าไปยังตระกูลทั้งหลายไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่เย่อหยิ่ง วันหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์ว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะนี้ เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์
๗.  บุญญาธิการ
        นับย้อนหลังไปแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เสด็จอุบัติในโลก พระมหากัสสปเถระนี้ได้เกิดเป็นกุฎุมพีนามว่า เวเทหะ ในพระนครหังสวดีนับถือรัตนตรัยได้เห็น พระสาวกผู้เลิศทางธุดงค์นามว่า มหานิสภเถระ เลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน จึงนิมนต์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พร้อมพระสงฆ์มาถวายภัตตาหาร แล้วตั้งความปรารถนาตำแหน่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยพุทธญาณเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จแน่นอน จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลประมาณแสนกัปป์พระพุทธเจ้า พระนามว่าโคดม จักอุบัติขึ้น ท่านจักเป็น
สาวกที่ ๓ ของพระพุทธเจ้านั้น มีชื่อว่า มหากัสสปเถระ อุบาสกนั้น ได้ฟังคำนั้นแล้ว รู้สึกเหมือนว่าสมบัตินั้น ตนเองจะได้ในวันพรุ่งนี้ ได้กระทำบุญกรรมต่าง ๆ มาตลอดหลายพุทธันดร ในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสปเถระตามคำพยากรณ์ทุกประการ

๘.  ธรรมวาทะ
        ดูก่อนนางเทพธิดา เธอจงหลีกไป เธออย่าทำให้เราต้องถูกพระธรรมกถึกทั้งหลายในภายหน้า นั่งถือพัดอันวิจิตรพูดว่า เขาว่า นางเทพธิดาผู้หนึ่ง มาทำวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ถวายพระมหากัสสปเถระ ตั้งแต่นี้ไปเธออย่ามา ณ ที่นี้อีก จงกลับไปเสีย
        ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้นั้นย่อมอยู่ห่างพระสัทธรรม เหมือนแผ่นดินที่อยู่ห่างจากฟ้า
        ผู้ที่มีหิริและโอตตัปปะประจำใจตลอดเวลา ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมงอกงาม     ภพใหม่ย่อมไม่มี
        ภิกษุผู้ฟุ้งซ่านง่อนแง่น ถึงจะห่มผ้าบังสุกุลก็ไม่งาม ไม่ต่างจากลิงห่มหนังเสือ
       ภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่านมั่นคง มีปัญญา สำรวมอินทรีย์ห่มผ้าบังสุกุล ย่อมงามเหมือนราชสีห์ บนยอดขุนเขา
๙.  นิพพาน
        พระมหากัสสปเถระ เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวนาราม มีอายุประมาณ ๑๒๐ ปี จึงนิพพาน ณ ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาต-บรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์

๒๙. พระราธเถระ
๑. สถานะเดิม
พระราธเถระ ชื่อเดิม ราธมาณพ  บิดามารดาตั้งให้ บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่ปรากฎชื่อในตำนาน เกิดที่บ้านพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์
๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
        พระราธเถระ ในสมัยเป็นฆราวาส ยังไม่แก่เฒ่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง แต่พอแก่เฒ่าลง บุตรและภรรยาไม่นับถือ ไม่เลี้ยงดู จึงเข้าวัดตั้งใจว่าจะบวชแล้วอยู่รอวันตายไปวัน ๆ หนึ่ง ได้ขอบวชกับพระเถระทั้งหลาย แต่ไม่มีใครบวชให้ เพราะรังเกียจว่า เป็นคนแก่ บวชแล้วจะว่ายากสอนยาก เขาจึงได้แต่อยู่วัด ช่วย พระกวาดวัด ดายหญ้า ตักน้ำเป็นต้น ภิกษุทั้งหลายก็ได้สงเคราะห์เขาด้วยอาหารไม่ขาดแคลนแต่อย่างไร
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
        วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งอันเป็นพุทธกิจอย่างหนึ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นั้นเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณได้เสด็จไปโปรดตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านกำลังทำอะไร เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์กำลังทำวัตรปฏิบัติภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า ตรัสถามต่อว่า เธอได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุเหล่านั้นหรือ เขาทูลว่าได้พระเจ้าข้า  ได้เพียงอาหาร  แต่ท่านไม่บวชให้ข้าพระองค์
        พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วตรัสถามว่า ใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้แนะนำให้คนถวายข้าวท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่านแล้ว ตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที และได้ทรงเล่าถึงอดีตชาติที่พระเถระมีความกตัญญูกตเวทีให้ภิกษุทั้งหลายฟังด้วย แล้วทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์นั้น
๔.  วิธีบวช
        การบวชให้ราธพราหมณ์นี้ ตรัสให้ยกเลิกวิธีอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ที่ทำเฉพาะพระอุปัชฌาย์ กับผู้มุ่งบวชเท่านั้นมาเป็นการบวชโดยสงฆ์รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำที่สุด ๕ รูปประชุมกันจึง บวชได้ โดยแบ่งกันทำหน้าที่ ๓ ฝ่าย คือ ๑. เป็นพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป ๒. เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์อย่างละ๑ รูป  ๓. นอกนั้นร่วมรับรู้ว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่   การบวชวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ หมายความว่า มีการตั้งญัตติ คือการประกาศให้สงฆ์ทราบ ๑ ครั้ง มีอนุสาวนา คือการบอกให้สงฆ์ตรวจสอบว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ ๓ ครั้ง พระราธเถระ เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บวชด้วยวิธีนี้
        พระราธเถระ ครั้นบวชแล้ว ถึงแม้จะเป็นพระผู้เฒ่า เป็นหลวงตา แต่ก็เป็นผู้ว่าง่ายใคร่ศึกษา ใครแนะนำสั่งสอนอย่างไรไม่เคยโกรธ ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ แต่เพราะท่านมีบุญน้อย ทั้งอาหาร ทั้งที่อยู่อาศัย จึงมักไม่พอแต่การดำรงชีวิต จึงตกเป็นภาระของพระอุปัชฌาย์ ต้องช่วยสงเคราะห์ตลอดมา วันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ พอให้ท่านเกิดกำลังใจยินดีในวิเวก ไม่ประมาทและมีความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์
        พระศาสดาตรัสว่า ราธะ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นมาร เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย ท่านรับพุทธโอวาทแล้วจาริกไปกับพระอุปัชฌาย์พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทนั้นไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระราธเถระบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านเป็นผู้เฒ่าแก่มากแล้ว คงช่วยงาน  พระศาสนาด้วยกำลังกาย กำลังวาจาเหมือนรูปอื่นไม่ได้ แต่ท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาที่ดีงามของท่าน ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ใครแนะนำสั่งสอนอะไรยินดีรับฟังด้วยความเคารพ ไม่เคยโกรธ เป็นเหตุให้พระศาสดานำท่านมาเป็นอุทาหรณ์ สั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควร เป็นผู้ว่าง่ายเหมือน ราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษ กล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้
๖.  เอตทัคคะ
        เพราะพระราธเถระ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายใคร่การศึกษา ทำให้พระศาสดาและพระอุปัชฌาย์ เป็นต้น มีความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ จึงทำให้ท่านมีปฏิภาณ คือปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา เพราะได้รับฟังบ่อย ๆ พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณคือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา
๗.  บุญญาธิการ
        ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์ ได้เห็น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งซึ่งมีปฏิภาณแตกฉานไว้ในเอตทัคคะ ได้เกิดกุศลฉันทะในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ทำสักการะบูชาพระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ กราบลงแทบพระบาท ปรารถนาฐานันดรนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว ได้ทำบุญกุศลมากมายหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณดังกล่าวแล้ว
๘.  ธรรมมวาทะ
        ในเวลาเราแก่เฒ่า เราอาศัยวัดอยู่ ใคร ๆ ไม่ยอมบวชให้เราผู้ชราหมดกำลังเรี่ยวแรง เพราะฉะนั้น เราผู้เป็นคนยากเข็ญ จึงเป็นผู้ปราศจากผิวพรรณ เศร้าโศก พระโลกนาถผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงตรัสถามเราว่า ไฉนลูกจึงเศร้าโศก จงบอกถึงโรคที่เกิดในใจเราได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ไม่ได้บวชในศาสนาของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงมีความเศร้าโศก
๙.  นิพพาน

        พระราธเถระ ได้พากเพียรพยายามจนได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา และได้ปฏิบัติตนให้เป็นทิฏฐานุคติของประชุมชนที่เกิดมาในภายหลังแล้ว สุดท้ายก็ได้นิพพาน พันจากวัฏสงสาร อย่างสิ้นเชิง

๓๐.  พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
๑. สถานะเดิม
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ นามเดิม  ภารทวาชะ บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน แต่ไม่ปรากฎนาม  มารดา ไม่ปรากฎนาม เกิดในแคว้นวังสะ วรรณะพราหมณ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระปิณโฑลภารวาชเถระ  ครั้งก่อนบวช ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา ครั้นเจริญวัย ได้ศึกษาแบบพราหมณ์จบไตรเพท แล้วได้เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน ต่อมาถูกศิษย์ทอดทิ้งเพราะกินจุ จึงไปยังเมืองราชคฤห์ส


๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อปิณโฑลภารทวาช ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระมหาสาวกมีลาภมาก มีความปรารถนาจะได้ลาภเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงบวชให้เขาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔.  การบรรลุธรรม
        พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ เนื่องจากฉันอาหารจุจึงถูกขนานนามเพิ่มว่า ปิณโฑลภารทวาชะ (ปิณโฑละ ผู้แสวงหาก้อนข้าว) พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงใช้อุบายวิธีแนะนำท่านให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ท่านค่อย ๆ ฝึกฝนตนเองไปจึงกลายเป็นผู้รู้ประมาณ ต่อจากนั้นไม่นานได้พยายามบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมอภิญญา ๖
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งของพระศาสดา ได้รับคำท้าประลองฤทธิ์ กับพวกเดียรถีย์ที่บ้านของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ โดยเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่เศรษฐีนั้น แขวนเอาไว้ในที่สูงพอประมาณ เพื่อทดสอบว่ามีพระอรหันต์ในโลกจริงหรือไม่

        เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านไปยังแคว้นวังสะ นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบ และได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระหนุ่ม ๆ ในพระพุทธศาสนา บวชอยู่ได้อย่างไร ท่านได้ทูลว่าพระเหล่านั้น ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา คือระวังอินทรีย์ไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ยึดถืออะไรที่ผิดจากความจริง พระเจ้าอุเทนทรงเข้าใจ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศพระวาจานับถือพระรัตนตรัย
๖.  เอตทัคคะ
        พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ครั้นได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมได้อภิญญา ๖ แล้ว มีความมั่นใจตนเองมาก เมื่ออยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้แต่หน้าพระพักตร์ของพระศาสดา ก็จะเปล่งวาจาบันลือสีหนาทว่า  ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท
๗. บุญญาธิการ
        พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ ในพุทธุปบาทกาลของพระปทุมุตตระ ได้เกิดเป็นราชสีห์อยู่ในถ้ำแห่งภูเขาแห่งหนึ่ง เวลาออกไปหาเหยื่อ พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งในถ้ำของเขา แล้วทรง เข้านิโรธสมาบัติ ราชสีห์กลับมาเห็นดังนั้น ทั้งร่าเริงและยินดี บูชาด้วยดอกไม้ ทำใจให้้เลื่อมใส ล่วง ๗ วันไป พระพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติ เหาะขึ้นสู่อากาศกลับไปยังวิหาร ราชสีห์นั้นหัวใจสลายแตกตายไป เพราะความพลัดพรากจากพระพุทธเจ้า ได้บังเกิดเป็นลูกเศรษฐีในพระนครหังสวดี ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทำบุญ คือทาน ศีล ภาวนา ตลอดมา เขาได้ทำบุญอย่างนั้นอีกนับภพและชาติไม่ถ้วน สุดท้ายได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณในพุทธุปมาทกาลแห่งพระโคดม ดังได้กล่าวมา
๘. ธรรมวาทะ
              การแสวงหาที่ไม่สมควร ทำให้ชีวิตอยู่ไม่ได้ อาหารไม่ใช่สร้างความสงบให้จิตใจเสมอไป  แต่ก่อนข้าพเจ้าเข้าใจว่า ร่างกายอยู่ได้เพราะอาหารจึงได้ แต่แสวงหาอาหาร    การไหว้และการบูชาจากผู้คนในตระกูลทั้งหลาย นักปราชญ์ กล่าวว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศร ที่เล็กนิดเดียว แต่ถอนได้ยากที่สุด  คนชั้นต่ำ ยากที่จะละสักการะได้
 ๙.  นิพพาน
        แม้พระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้ ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อได้บรรลุพระอรหัตผล แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วได้นิพพานดับไป ตามวิสัยของพระอรหันต์ที่ว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว 

๓๑. พระมหาปันถกเถระ
๑. สถานเดิม
พระมหาปันถกเถระ  นามเดิม  ปันถกะ  เพราะเกิดในระหว่างทาง  ต่อมามีน้องชายจึงเติมคำว่า  มหาเข้ามา  เป็นมหาปันถกะ บิดาเป็นคนวรรณะศูทร  ไม่ปรากฏนาม มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์  เป็นลูกสาวเศรษฐี  ไม่ปรากฏนามเช่นกัน ตระกูลตาและยายเป็นชาวเมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ
๒. ชีวิตก่อนบวช
พระมหาปันถกเถระ  เพราะบิดาของท่านเป็นทาส  มารดาเป็นธิดาของเศรษฐี  จึงอยู่ในฐานะจัณฑาล  เพราะการแบ่งชั้นวรรณะของคนอินเดียในสมัยนั้น ครั้นรู้เดียงสาจึงรบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตระกูลของคุณตา มารดาจึงส่งไปให้คุณตาและคุณยาย จึงได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญเติบโตในบ้านของธนเศรษฐี
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
คุณตาของเด็กชายปันถกะนั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นประจำ และได้พาเขาไปด้วย เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าพร้อมกับการเห็นครั้งแรก ต่อมามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียนให้คุณตาทราบ คุณตาจึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบพระพุทธองค์จึงสั่งให้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งบรรพชาให้แก่เด็กคนนั้น
 ๔. การบรรลุธรรม
สามเณรปันถกะนั้น  เรียนพุทธพจน์ได้มาก ครั้นอายุครบจึงได้อุปสมบท  ได้ทำการพิจารณาอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน ๔  เป็นพิเศษ  ออกจากอรูปฌานนั้นแล้วเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา คือ เปลี่ยนอรูปฌานจิตให้เป็นวิปัสสนา
๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระมหาปันถกเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็คงช่วยพระศาสดาประกาศ    พระพุทธศาสนาเหมือนพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย แต่ตำนานไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง
          อนึ่ง หลังจากอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ท่านคิดว่าสมควรจะรับการธุระรับใช้สงฆ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลรับอาสาทำหน้าที่เป็นพระภัตตุทเทศก์จัดพระไปในกิจนิมนต์ พระทศพลทรงอนุมัติตำแหน่งนั้นแก่ท่าน และท่านได้ทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
๖. เอตทัคคะ
พระมหาปันถกเถระ  ก่อนสำเร็จพระอรหันต์ ท่านได้อรูปฌานซึ่งเป็นฌานที่ไม่มีรูปมีแต่นามคือสัญญาที่ละเอียดที่สุด ออกจากอรูปฌานนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนามีอรูปฌานเป็นอารมณ์จนได้สำเร็จพระอรหัตผล วิธีนี้เป็นวิธีที่ยาก เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการพลิกปัญญา
 ๗. บุญญาธิการ
แม้พระมหาปันถกเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนสัญญา (จากอรูปฌานให้สำเร็จวิปัสสนาญาณ) จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น  แล้วได้ทำกุศลอันอุดหนุนเกื้อกูลความปรารถนานั้นมาอีก ๑ แสนกัปป์ ในที่สุดจึงได้บรรลุผลนั้นตามความปรารถนา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้
๘. ธรรมวาทะ
เมื่อข้าพเจ้าเห็นพระศาสดาครั้งแรก เพราะได้เห็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลกนั้น ข้าพเจ้าเกิดความสังเวชใจ  คือเกิดญาณพร้อมทั้งโอตตัปปะว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เฝ้าพระศาสดา ไม่ได้ฟังธรรมตลอดเวลานานถึงเพียงนี้ (น่าเสียดายจริง ๆ) ผู้ที่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป โดยไม่สนใจโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เปรียบเหมือนคนตบตีหรือกระทืบสิริที่เข้ามาหาตนถึงบนที่นอน  แล้วขับไล่ไสส่งออกไป


๗. นิพพาน
        พระมหาปันถกเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลทำประโยชน์ตนให้บริบูรณ์แล้ว ก็ได้ช่วย พระศาสดาประกาศพระศาสนา  รับการธุระของสงฆ์  เมื่อถึงอายุขัยก็ได้นิพพานจากโลกไปเป็นที่น่าสลดใจสำหรับบัณฑิตชน

๓๒ .พระจูฬปันถกเถระ
๑. สถานเดิม
               พระจูฬปันถกเถระ นามเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดาและเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ จึงมีชื่อว่าจูฬปันถกะ บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ไม่ปรากฏนาม มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์  หรือไวศยะ เกิดระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับมายังบ้านของเศรษฐีซึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์
๒. ชีวิตก่อนบวช
เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์ แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก เพราะบิดาและมารดายากจนมาก  แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย  ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น เป็นความสุขชั้นสูงสุด อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชายมาบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา
 ๔. การบรรลุธรรม
                    พระจูฬปันถกะนั้นครั้นบวชแล้ว  พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน  แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บท  ใช้เวลา ๔ เดือน  ยังท่องไม่ได้  จึงถูกขับไล่ออกจากวัด  ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู
        พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า  รโชหรณํ  รโชหรณํ (ผ้าเช็ดธุลี)  พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไป สุดท้ายก็ดำสีเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว  ท่านเกิดญาณว่า  แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ ถึงจิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไปจนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌานแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อ ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระจูฬปันถกเถระ หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า  ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง  ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร จิตใจแน่วแน่ ไม่ย่นย้อท้อถอย ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้  เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่  แต่ควรคิดว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า
 ๖. เอตทัคคะ
          พระจูฬปันถกเถระ  เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ  สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้  และฉลาดในการพลิกแพลงจิต (จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา) ดังเรื่องที่ท่านเนรมิตรภิกษุเป็นพันรูป ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาได้เหมือนกัน เมื่อคนที่หมอชีวกใช้มารับถามว่า พระรูปไหนชื่อจูฬปันถกะ ทั้งพันรูปก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อาตมาชื่อปันถกะ ในที่สุดพระศาสดาทรงแนะนำวิธีให้ว่า รูปไหนพูดก่อนว่า อาตมาชื่อปันถกะ  ให้จับมือรูปนั้นมานั่นแหละคือพระจูฬปันถกะองค์จริง พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้พลิกแพลงจิต


๗. บุญญาธิการ
แม้พระจูฬปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน  จนในการแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต  จึงได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  จึงได้ก่อสร้างบุญกุศล สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
              เมื่อก่อนญาณคติ (ปัญญา) ของเราเกิดช้าไปจึงถูกใคร ๆ เขาดูหมิ่น พระพี่ชายก็ขับไล่ให้กลับไปอยู่บ้าน เรานั้นเสียใจไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะความอาลัยในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงประทานผ้าให้แก่เราแล้วตรัสว่าเธอจงภาวนาให้ดี เรารับพระดำรัสของพระชินสีห์ ยินดีในพระพุทธศาสนา ภาวนาสมาธิ เพื่อเป็นพื้นฐานการบรรลุประโยชน์อันสูงสุด จึงได้บรรลุวิชชา ๓  ตามลำดับ
๙. นิพพาน
              พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง

๓๓. พระจุนทะ
เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในบ้านตำบลนาลันทา(ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ ชื่อว่า สารีจักร ต.นาลันทา) แคว้นมคธ เป็นน้องชายท่านพระสารีบุตร ตระกูลนี้มีพี่น้องร่วมท้องกัน ๗ คน ชาย ๔ คน คือ ๑. อุปติสสะ ๒. จุนทะ ๓. อุปเสนะ ๔. เรวัตตะ หญิง ๓. คน คือ ๑. จาลา ๒. อุปจาลา ๓. สีสุปจาลา
เมื่อบวชในพระพุทธศาสนา แล้วภิกษุทั้งหลายมักเรียกท่านว่า พระมหาจุนทะ และเรียกว่า จุนทสมณุทเทศก็มี ท่านฟังธรรมอะไร จากใคร จนได้สำเร็จอรหัตผล เมื่อไร ที่ไหน ไม่ปรากฏชัด ปรากฏว่าท่านเป็นพุทธอุปฐากองค์หนึ่ง ในคราวที่พระบรมศาสดา เสด็จไป ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ท่านก็เป็นผู้อุปัฎฐากติดตามไปด้วย ในคราวที่ท่านพระสารีบุตรไปนิพพานที่บ้านเดิมเพื่อโปรดมารดาท่านก็ได้ติดตามไปด้วย ได้ทำฌาปนกิจและรวบรวมอัฐิธาตุพร้อมทั้งบาตรจีวร ของท่านพระสารีบุตร นำมาถวายพระบรมศาสดาที่พระเชตวันด้วย เมื่อท่านดำรงพระชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

๓๔.พระอุปเสนเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระอุปเสนเถระ  นามเดิม  อุปเสนมาณพ  หรือ อุปเสนวังคันตบุตร บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ  สารีพราหมณี เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒.ชีวิตก่อนบวช
       อุปเสนมาณพมีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะและจุนทะ น้องชาย ๑ คน คือเรวตะ น้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจารา และนางสุปจารา ครั้นเติบโตแล้วได้ศึกษาไตรเพท ตามลัทธิพราหมณ์
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              อุปเสนมาณพก็เหมือนกับพระสาวกโดยมาก คือ ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดา   จึงเข้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธา ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนาพระศาสดาทรงบวชให้ตามประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
              ครั้นได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังไม่ทันได้พรรษา คิดว่าจะสร้างพระอริยะให้พระศาสนาให้มากที่สุด จึงบวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง แล้วพาไปเฝ้าพระศาสดา ถูกพระศาสดาติเตียนว่าไม่เหมาะสม เพราะอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ได้พรรษา สิทธิวิหาริกก็ยังไม่ได้พรรษา ท่านคิดว่าเราอาศัยบริษัทจึงถูกพระศาสดาติเตียน แต่เราก็จะอาศัยบริษัทนี่แหละทำให้พระศาสดาเลื่อมใส จึงพากเพียรภาวนา ในไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัตผล สมาทานธุดงค์และสอนผู้อื่นให้สมาทานด้วย มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกมากมาย  คราวนี้พระศาสดาทรงสรรเสริญท่าน
๕.งานประกาศพระศาสนา
            พระอุปเสนเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมด และสอนผู้อื่นให้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมนั้นด้วยจึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะและพากันบวชในสำนักของท่าน
๖.เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงอาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้นวรรณะนั้น จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบด้าน
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระอุปเสนเถระนี้ ก็ได้เห็นพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้าน จึงบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนา อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสำเร็จแน่นอนในกาลแห่งพระสมณโคดม
 ๘.ธรรมวาทะ
              ในที่ชุมชน ผู้เป็นบัณฑิต พึงแสดงตนที่ไม่โง่ ที่ไม่ได้เป็นใบ้ เหมือนกับคนโง่และคนเป็นใบ้ ในบางครั้งไม่ควรพูดยืดยาวเกินเวลา คนที่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านไป ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ผู้นั้นท่านเรียกว่า สันโดษ
๙.นิพพาน
              พระอุปเสนเถระ ได้เป็นพระขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจส่วนตัวของท่าน  แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน ตามสมควรแก่เวลาแล้วได้นิพพานดับไปเหมือนกับไฟที่หมดเชื้อ

๓๕.พระขทิรวนิยเรวตเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน  จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ  นางสารีพราหมณี  เกิดที่บ้านนาลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว  บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด  โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์  ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้
              เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้  เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า  ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔.การบรรลุธรรม
              สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น  และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่
๖.เอตทัคคะ
              เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้  ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า  สนใจอยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง  จึงได้สร้างกุศลมีทานเป็นต้น อันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จแน่นอน ในกาลแห่งพระสมณโคดม จึงได้สร้างสมความดีอีกช้านาน แล้วได้สมดังปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ 
๘.ธรรมวาทะ
              ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทราม ประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้  ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆสะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
๙.นิพพาน
              พระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน ตามสมควรแก่เวลา  แล้วได้นิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต 36-50  มาณพทั้ง ๑๖ คน เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เมื่อเจริญวัย บิดามารดาได้นำไปฝากไว้ในสำนักพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิพราหมณ์ ตั้งอาศรม อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ณ พรมแดน แห่งเมือง อัสสกะ และอาฬกะ ต่อกันเป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ มาณพทั้ง ๑๖ คน ได้ออกบวชติดตามและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักพราหมณ์พาวรีนั้น  ต่อมาพราหมณ์พาวรี ได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา ได้ปฏิญาณพระองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้เอง โดยชอบก็คิดหลากใจ ใคร่จะสอบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพทั้ง ๑๖ คนมาผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามทดลองดู มาณพทั้ง ๑๖ มี อชิตะเป็นหัวหน้า พร้อมทั้งบริวาร ลาอาจารย์และพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาวาลเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรง พยากรณ์โสฬสปัญหาจบลง มาณพทั้ง ๑๕ พร้อมทั้งบริวาร ได้สำเร็จพระอรหัตผล ส่วนปิงคิยะได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล  เพราะเหตุที่ตนมีจิตไม่เป็นสมาธิเนื่องจากคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้ทั้งลุงทั้งอาจารย์ว่า หาได้ฟังธรรมเทศนาอันไพเราะอย่างนี้ไม่ แล้วทั้งหมดจึงทูลขออุปสมบท ครั้นได้รับอุปาสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว ท่านพระปิงคิยะ ได้ทูลลาพระบรมศาสดากลับไปแจ้ง ข่าวแก่พราหมณ์พาวรี แล้วแสดงธรรมเทศนาโสฬสปัญหาให้ฟัง พอจบโสฬสปัญหา พราหมณ์พาวรีได้สำเร็จอนาคามิผลภายหลังท่านพระปิงคิยะ  ได้สดับพระพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล
          ในภิกษุ ๑๖ องค์นี้ ท่านพระโมฆราช เมื่อได้อุปสมบทแล้วท่านยินดีในจีวรเศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ท่านเป็นผู้ได้รับเอตทัคคะเพียงองค์เดียวเท่านั้น ทั้งหมดดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.

๕๑. พระโมฆราชเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระโมฆราชเถระ ชื่อเดิม โมฆราช เป็นวรรณะกษัตริย์ เป็นชาวโกศล บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อ เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แม้จะเป็นคนใหญ่โตและมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า โมฆราช แปลว่า ราชาผู้หาความสุขไม่ได้

๒.  ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
        เพราะท่านได้เห็นโทษของร่างกาย จึงออกบวชเป็นฤาษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี พราหมณ์พาวรีนั้นมีศิษย์เป็นจำนวนมาก ท่านกล่าวว่ามีถึง ๑๖,๐๐๐ คน แต่ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่มีอยู่ ๑๖ คน คือ อชิตะ ติสสะ เมตเตยยะ ปุณณกะ เมตตคู โธตกะ อุปสีวะ นันทะ เหมกะ โตเทยยะ กัป์ปะ ชาตุกัณณี ภัทราวุธ อุทยะ โปสาละ โมฆราช ปิงคิยะ
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สนใจใคร่จะสอบสวนหาความจริง จึงเรียกศิษย์ทั้ง ๑๖ คน มีอชิตะเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ส่งไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ เพื่อทูลถามปัญหา  ศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ได้ปฏิบัติตามคำของอาจารย์เมื่อพระศาสดาแก้ปัญหาของพวกเขาจบลง ๑๕ คน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนปิงคิยมาณพได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะจิตใจสับสนไม่แน่วแน่ ห่วงแต่พราหมณ์พาวรี ผู้ที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์ ไม่ได้ส่งญาณตามเทศนาโดยตลอด
        เฉพาะโมฆราชมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
๔.  วิธีอุปสมบท
        เมื่อโมฆราชมาณพฟังพระศาสดาแก้ปัญหาจบลง จิตของเขาก็หลุดพ้นจากอาสวะ  ทั้งปวง ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระศาสดาตรัสแก่เขาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
๕.  งานประกาศพระศาสนา
        พระโมฆราชเถระ เพราะท่านมีร่างกายเป็นแผลที่รักษาไม่หาย จึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าอยู่ในเสนาสนะของสงฆ์ ท่านจึงอยู่ตามโคนไม้และที่แจ้ง ไปเก็บผ้าตามกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม ทำให้เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลประเภทลูขัปปมาณิกา คือผู้ศรัทธาเลื่อมใสหนักไปทางใช้ชีวิตปอน ๆ
        นับว่าท่านได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาปอน ๆ ของท่านทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นทิฏฐานุคติแก่คนที่เกิดมาภายหลัง เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว
 ๖.  เอตทัคคะ
        พระโมฆราชเถระนี้ ตั้งแต่บวชในพระพุทธศาสนา ได้ใช้จีวรที่ปอนมาตลอด ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงตั้งพระเถระทั้งหลายไว้ในฐานันดรต่าง ๆ ได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองในศาสนาของพระองค์
๗.  บุญญาธิการ
        พระโมฆราชเถระ ได้สร้างสมคุณความดีที่เป็นเหตุแห่งนิพพานมาสิ้นกาลนาน ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรบังสุกุล จึงได้สร้างสมคุณความดีแลัวปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญมาตลอดหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายได้ถือกำเนิดเกิดในเรือนพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ก่อนที่พระทศพลของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติ และได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณตามปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้ดังกล่าวแล้ว
๘.  ธรรมวาทะ
              เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เบิกบานใจ ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้าทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงเอาไว้  เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะกรรมคือการเอาไฟเผาลนพื้นหอฉัน เราจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียน ไหม้ในนรกพันปี ด้วยเศษกรรมนั้นที่ยังเหลือ เราเกิดเป็นมนุษย์ ต้องมีรอยตำหนิในร่างกายถึง ๕๐๐ ชาติ เพราะอำนาจของกรรมนั้น เราเป็นโรคเรื้อนอย่างหนัก เสวยมหันตทุกข์ถึง ๕๐๐ ชาติ


๙.  นิพพาน
        พระโมฆราชเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประธาน และได้ช่วยพระศาสดาประกาศพุทธศาสนาตามความสามารถแล้ว ก็ได้นิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต           

๕๒. พระลกุณฏกภัททิยะ
๑.สถานะเดิม
              พระลกุณฏกภัททิยะ นามเดิม ภัททิยะ แต่เพราะร่างกายของเขาเตี้ยและเล็ก จึงเรียกว่า ลกุณฏกภัททิยะ ศัพท์ว่า ลกุณฏกะแปลว่า เล็ก” “เตี้ย บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นคนวรรณะแพศย์ มีทรัพย์มาก เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เพราะบิดาและมารดาของเขาเป็นคนมีทรัพย์มาก จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีตามที่จะหาและทำได้ในสมัยนั้น
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน ลกุณฏกภัททิยะเติบโตแล้วได้ไปยังวิหารฟังธรรมเทศนา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชใน  พระพุทธศาสนา จึงทูลขอบวชกับพระศาสดา ซึ่งก็ทรงบวชให้ตามประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
              เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐาน พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนา  ใช้ปัญญาพิจารณาสังขารโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระลกุณฏกภัททิยะ แม้ร่างกายของท่านจะเล็กมาก แต่ท่านก็มีสติปัญญาและความเพียรปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ภิกษุทั้งหลายที่ไม่รู้จักท่านมาเฝ้าพระศาสดา คิดว่าเป็นสามเณร บ้างก็ล้อเล่น ลูบศีรษะ จับใบหู  ถามว่า พ่อเณรยังไม่กระสันอยากสึกดอกหรือ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ถูกตรัสถามว่า ก่อนเข้ามาพบพระเถระไหม จึงพากันทูลว่าไม่พบ พบแต่สามเณรตัวน้อย ๆ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า นั่นเป็นพระเถระไม่ใช่สามเณร จึงทูลว่า ท่านตัวเล็กเหลือเกินพระเจ้าข้า
              พระศาสดาตรัสว่า เราไม่เรียกภิกษุว่าเป็นเถระ เพราะเขาเป็นคนแก่ นั่งบนอาสนะของพระเถระ ส่วนผู้ใดบรรลุสัจจะทั้งหลาย ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียนมหาชน  ผู้นี้จึงจะชื่อว่าเป็นพระเถระ
๖.เอตทัคคะ
              พระลกุณฏกภัททิยะนี้ เป็นผู้มีเสียงไพเราะ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงอันไพเราะ
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระลกุณฏกภัททิยะเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาช้านาน  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระศาสดา
ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ จึงเกิดกุศลฉันทะว่า ไฉนหนอ ในอนาคตกาลเราพึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะเหมือนภิกษุรูปนี้บ้าง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง  แล้วได้ทำบุญต่าง ๆมากมาย และได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่าโคดม จึงได้สร้างความดีตลอดมาแล้วได้สมปรารถนาตามประสงค์ ดังคำของพุทธองค์ทุกประการ


๘. ธรรมวาทะ
              ภิกษุชื่อภัททิยะ ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากเหง้าหมดแล้ว เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา  อันเป็นโลกุตตระ  เข้าฌานอยู่ในชัฏแห่งป่านามว่า  อัมพาฏการามอันประเสริฐ คนบางพวกเขารื่นเริงกันด้วยเสียงตะโพน พิณ และบัณเฑาะว์ ส่วนเรายินดีในพระพุทธศาสนา  จึงรื่นรมย์อยู่ที่โคนต้นไม้    ถ้าพระพุทธองค์ จะทรงประทานพรแก่เรา และเราก็สามารถได้พรนั้นสมมโนรถ  เราจะเลือกเอาการว่า  ขอให้ชาวโลกทั้งหมดเจริญกายคตาสติกัน
๙.นิพพาน
              พระลกุณฏกภัททิยะ ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกตามสมควรแก่เวลา ก็ได้นิพพานหยุดการหมุนเวียนของวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง

๕๓. พระสุภูติเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระสุภูติเถระ นามเดิม สุภูติ เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรืองผุดผ่องอย่างยิ่ง บิดานามว่า  สุมนเศรษฐี  ชาวเมืองสาวัตถี มารดาไม่ปรากฏนาม เกิดที่เมืองสาวัตถี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒.ชีวิตก่อนบวช
              พระสุภูติเถระ ในสมัยก่อนบวชตั้งแต่เป็นเด็กมา ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่จะพึงหาได้ในสมัยนั้น  เพราะบิดาของท่านเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก
๓.มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์  เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา  อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี  ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวัน แล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถีได้สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
              ในวันฉลองมหาวิหาร  สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา  เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช  พระศาสดาจึงทรงบวชให้ตามประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
              เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำเมตตาฌานให้เป็นบาท  แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน
๕.งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม กำหนดที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน  ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต ทำอย่างนี้ทุก ๆ เรือน ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก ประกอบร่างกายของท่านสง่างามและผิวพรรณผุดผ่อง จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก
๖.เอตทัคคะ
              พระสุภูติเถระ อยู่อย่างไม่มีกิเลส แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะเที่ยวไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว  เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้ พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระสุภูติเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ  อรณวิหาร อรณ แปลว่า กิเลสการอยู่อย่างไม่มีกิเลส  และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมาย  แล้วได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอนจึงทรงพยากรณ์ว่า จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา
๘.ธรรมวาทะ
              ผู้ต้องการจะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พยายามในสิ่งที่ไม่ควรพยายาม คงไม่ได้รับประโยชน์อะไร การประพฤติอย่างนั้น  เป็นการกำหนดความเคราะห์ร้ายของเขา  หากทิ้งความไม่ประมาท  ซึ่งเป็นธรรมชั้นเอก ก็จะเป็นเหมือนคนกาฬกิณี  หากทิ้งอินทรียธรรม สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  และปัญญาเสียทั้งหมด  ก็จะปรากฏเหมือนคนตาบอดควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้  ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้  ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้  ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา
๙.นิพพาน
              พระสุภูติเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน สุดท้ายได้ดับ
ขันธปรินิพพาน  เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้

๕๔.พระกังขาเรวตเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระกังขาเรวตเถระ นามเดิม  เรวตะ แต่เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ สมควรมากเป็นพิเศษจึงได้รับขนานนามว่า กังขาเรวตะ  แปลว่า  เรวตะผู้มีความสงสัย บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  มีฐานะดี  วรรณะแพศย์  เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เนื่องจากเป็นลูกของผู้มีฐานะดีมีทรัพย์สินเงินทอง  จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่สมัยนั้นจะพึงหาได้และทำได้
๓.มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีเป็นเวลาถึง ๒๕ พรรษา ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน วันหนึ่งเรวตะได้ไปยังพระเชตวันพร้อมกับมหาชน ยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรมกถาของพระทศพล เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท ทรงบวชให้เขาตามปรารถนา
๔.การบรรลุธรรม
              ครั้นได้บวชแล้ว ทูลขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน ทำบริกรรมในฌาน ครั้นได้ฌานแล้ว ทำฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนา พิจารณาฌานนั้น ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นความสุขอันเกิดจากฌานนั้น ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ซึ่งเป็นผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระกังขาเรวตเถระ  ท่านมักจะเข้าฌานทั้งกลางวันและกลางคืน บรรดาสมาบัติที่พระศาสดาพึงเข้าส่วนมากท่านเข้าได้ มีส่วนน้อยที่เว้นไว้ไม่เข้า จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้ที่สนใจแสวงหาพระผู้ได้ฌาน ได้อภิญญา ต่างก็มาสักการะ เคารพ นับถือ บูชากันเป็นจำนวนมาก
๖.เอตทัคคะ
              เพราะพระกังขาเรวตเถระ  เป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน  พระศาสดาจึงทรงถือเอาคุณข้อนี้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระกังขาเรวตเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน จึงได้บำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่ แล้วตั้งความปรารถนาโดยมีพระศาสดาเป็นพยานว่า ที่ทำบุญนี้ข้าพระองค์มิได้ประสงค์สมบัติอื่น หวังจะได้ตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ยินดีในการเข้าฌาน ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายหน้า พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา จึงได้พยากรณ์ว่าจะสำเร็จในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม และเขาก็ได้สมปรารถนาตามพระพุทธวาจาทุกประการ
๘.ธรรมวาทะ
              เชิญดูพระปัญญาคุณของพระตถาคตเถิด พระตถาคตทรงให้แสงสว่าง ทรงให้ดวงตา  ทรงกำจัดความสงสัยของคนผู้มาหา  เหมือนแสงไฟที่เจิดจ้า  กำจัดความมืดในยามราตรี
๙.นิพพาน
              พระกังขาเรวตเถระ ถึงแม้จะเชี่ยวชาญเรื่องเข้าฌาน ก็หนีมัจจุมารไม่พ้น สุดท้ายก็ได้นิพพานเหลือเพียงชื่อไว้ในตำนานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา

๕๕.พระวักกลิเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระวักกลิเถระ  นามเดิม  วักกลิ บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อเติบโตเขาได้ศึกษาลัทธิพราหมณ์ เรียนจบเวท๓ แต่ไม่ได้ตั้งตัวเป็นคณาจารย์สั่งสอนใคร
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              วันหนึ่ง เขาเห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จดำเนินไปในพระนครสาวัตถี ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปสมบัติ จึงติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง ในที่สุดตัดสินใจว่าต้องบวชจึงจะได้เห็นพระศาสดาตลอดเวลา เขาจึงขอบวช แล้วได้บวชในสำนักพระศาสดา
๔.การบรรลุธรรม
              ตั้งแต่บวชแล้ว พระวักกลิติดตามดูพระศาสดาตลอดเวลา  เว้นเวลาฉันอาหารเท่านั้น พระศาสดาทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งญาณของเธอ จึงไม่ตรัสอะไร ครั้นทราบว่าญาณของเธอแก่กล้าแล้ว จึงได้ตรัสแก่เธอว่า วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรกับการดูร่างกายที่เปื่อยเน่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ดูก่อนวักกลิ บุคคลผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา  บุคคลผู้เห็นเราชื่อว่า  ย่อมเห็นธรรม
              แม้พระศาสดาตรัสอย่างนี้ ท่านก็ยังไม่เลิกดูพระศาสดา ทรงพระดำริว่า ภิกษุนี้ถ้าไม่ได้ความสังเวชคงไม่บรรลุธรรม จึงทรงขับไล่ว่า วักกลิเธอจงหลีกไป ท่านเสียใจมาก ขึ้นไปบนภูเขาจะฆ่าตัวตาย พระองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไปโปรด ตรัสเรียกเธอว่า วักกลิ เธอรู้สึกปลื้มใจมาก  นึกถึงพระดำรัสของพระศาสดา  ข่มปีติได้แล้วบรรลุพระอรหัตผล
๕.เอตทัคคะ
              เพราะพระวักกลิเถระบรรลุพระอรหัตผลด้วยศรัทธาในพระศาสดา ฉะนั้นจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นเลิศแห่งภิกษุผู้เป็นสัทธาวิมุตติ พ้นจากกิเลสเพราะสัทธา
๖.บุญญาธิการ
              แม้พระวักกลิเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในสมัยพระ
ปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สัทธาวิมุตติ จึงได้บำเพ็ญกุศลปรารถนาผลเช่นนั้นบ้าง พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระโคดม จึงสร้างสมความดีอีกยาวนานนับได้แสนกัปจึงสมปรารถนา ดังได้กล่าวมา
๗.ธรรมวาทะ
              ข้าพระองค์จะแผ่ปีติและสุขไปให้ทั่วร่างกาย จะอดกลั้นปัจจัยอันเศร้าหมอง เจริญสติปัฏฐาน ๔  อินทรีย์ ๕  พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ จะไม่เกียจคร้านระลึกถึง พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลชั้นเลิศ ฝึกพระองค์แล้วพระทัยตั้งมั่นตลอดทั้งกลางคืนและกลางวัน


๘.นิพพาน
              พระวักกลิเถระ ครั้นดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลาของท่าน ก็ได้นิพพานจากไป เหลือไว้แต่ปฏิปทาที่ควรค่าแก่การศึกษาของปัจฉิมชนตาชนผู้สนใจพระพุทธศาสนาต่อไป

๕๖.พระโกณฑธานเถระ
๑.สถานะเดิม
         พระโกณฑธานเถระนามเดิมธานะ ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านเพราะผลบาปในชาติก่อนภิกษุและสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อท่านเพิ่มว่า กุณฑธานะคำว่ากุณฑะ แปลว่า เหี้ย บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นคนวรรณะพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              ธานมานพ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา ต่อมาครั้นเติบโตควรแก่การศึกษา จึงได้ศึกษาตามลัทธิพราหมณ์ เขาเรียนจบไตรเพท หลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่ได้ตั้งตัวเป็นอาจารย์สอนใคร
๓.มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำเกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์ ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี เข้าบ้านเช่น ไปบิณฑบาตก็ดี จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย เวลาคนใส่บาตรบางคนก็บอกว่าส่วนนี้ของท่าน ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย
              พระภิกษุและสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน  พูดเยาะเย้ยว่า  พระธานะมีเหี้ยเกิดแล้ว ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า  พวกท่านก็เป็นเหี้ย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า ๆ ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า ย่อมด่าตอบเธอบ้าง จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป สุดท้ายก็จะมีการทำร้ายกัน
              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ  และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเวรกรรมของท่าน ๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา ๖
๔.งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระโกณฑธานเถระนี้บวชเมื่อมีอายุมากแล้ว คงไม่มีกำลังช่วยประกาศพระศาสนาได้มากนัก แต่บาปกรรมที่ท่านได้ทำเอาไว้ในชาติหนึ่ง น่าจะเป็นคติสอนใจคนในภายหลังได้ จะกล่าวพอได้ใจความดังนี้
              ในกาลแห่งพระกัสสปทศพล เขาได้เกิดเป็นภุมเทวดาเห็นพระเถระ ๒ รูปรักใคร่กันมาก อยากจะทดลองว่ารักกันจริงแค่ไหน ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ทั้งสองรูปนั้นเดินทางไปลงอุโบสถ ระหว่างทางรูปหนึ่งเข้าไปทำธุระส่วนตัว ณ พุ่มไม้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็เดินออกมา เทวดานั้นได้แปลงกายเป็นหญิงสาวสวยเดินตามหลังออกมา พร้อมทำท่านุ่งผ้า เกล้าผม และปัดฝุ่นตามตัว  พระเถระผู้สหายเห็นเช่นนั้นก็โกรธด่าว่าต่างๆ นานา แม้อีกรูปจะชี้แจงว่าผมไม่รู้ไม่เห็นอะไรอย่างที่ท่านพูดเลย ก็ไม่ยอมรับฟัง ตัดขาดไมตรีต่อกัน ไม่ยอมลงอุโบสถร่วมกัน
              เทวดารู้สึกสลดใจ จึงแปลงเป็นอุบาสกเข้าไปเล่าเหตุการณ์ให้ฟังทั้งหมด ทำให้   พระเถระผู้สหายเข้าใจหายโกรธ แล้วกลับสามัคคีรักใคร่กันเหมือนเดิม เทวดานั้นได้ทำบาปนั้นไว้ จะไปเกิดในชาติใด ที่เป็นมนุษย์กรรมไม่ดีทั้งหลายก็จะตกมาถึงตน โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย ในชาติสุดท้ายเกิดเป็นมนุษย์บวชในพระพุทธศาสนา ก็มีภาพลวงตาเป็นสตรีคอยติดตาม สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ดังกล่าวแล้ว เรื่องนี้ให้ความคิดทั้งแก่ผู้ทำกรรม และผู้จะลงโทษใครควรพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงค่อยทำและค่อยลงโทษผู้อื่น


๕.เอตทัคคะ
              พระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์ ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน
๖.บุญญาธิการ
              แม้พระโกณฑธานเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าก่อน ๆ หลายพระองค์ ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเขาได้ไปฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง  ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญอันสมควรแก่ฐานันดร แล้วได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพุทธองค์พระนามว่าโคดม  จึงได้สร้างสมบารมีตลอดมา  ชาติสุดท้ายเขาได้สมปรารถนาตามพุทธวาจาทุกประการ
๗.ธรรมวาทะ
              ผู้เห็นภัย ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า ๕ อย่าง  สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕  แก้บ่วงผูกคอ ๕ อย่าง  สังโยชน์เบื้องสูง เจริญธรรม ๕ อย่าง  สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา พ้นกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง  ราคะ  โทสะ  โมหะ  มานะ  ทิฏฐิท่านเรียกว่า  ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส
๘.นิพพาน
              พระโกณฑธานเถระ ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย  แล้วได้นิพพานจากไป  เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป

๕๗.พระวังคีสเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระวังคีสเถระ นามเดิม วังคีสะ เพราะเกิดในวังคชนบท และเพราะเป็นใหญ่ในถ้อยคำบิดาเป็นพราหมณ์  ไม่ปรากฏนาม  มารดาเป็นปริพาชิกา ไม่ปรากฏนาม ทั้ง ๒ เป็นคนวรรณะพราหมณ์ เกิดที่วังคชนบท  เมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              วังคีสมานพครั้นเจริญวัยสมควรจะได้รับการศึกษาเล่าเรียน จึงเรียนลัทธิพราหมณ์จบไตรเพท เขาเป็นที่รักของอาจารย์ จึงได้เรียนมนต์พิเศษโดยใช้เล็บดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายภายในเวลา  ๓  ปี แล้วสามารถรู้ได้ว่า ไปเกิดที่ไหน พราหมณ์ทั้งหลายเห็นอุบายจะหาทรัพย์ได้  จึงพาเขาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายแล้ว ให้กะโหลกนั้นบอกแก่ญาติของตนว่าไปเกิดที่ไหน พวกเขาได้ลาภเป็นอันมาก
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              วันหนึ่งเขาได้สดับพระคุณของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสอยากจะไปเฝ้า  พราหมณ์ทั้งหลายคัดค้านเขา กลัวจะเปลี่ยนใจไปนับถือพระศาสดา แต่เขาไม่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้น ไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน ทรงทำปฏิสันถารอย่างดี ตรัสถามถึงความสามารถของเขา ครั้นทรงทราบแล้ว จึงทรงนำเอากะโหลกศีรษะคนตายมา ๔ กะโหลก ให้วังคีสะดีดดู เขาดีดกะโหลกที่ ๑ บอกว่าไปเกิดในนรก ที่ ๒ บอกว่าไปเกิดเป็นมนุษย์ ที่ ๓ บอกว่าไปเกิดเป็นเทวดา ทรงประทานสาธุการแก่เขา พอดีดกะโหลกที่ ๔ ซึ่งเป็นของพระอรหันต์  เขาไม่ทราบว่าไปเกิดที่ไหนนั่งเหงื่อไหล  พระศาสดาตรัสถามว่า  เธอลำบากใจหรือวังคีสะ เธอยอมรับว่าพระพุทธเจ้าข้า แล้วทูลถามว่าพระองค์ทรงทราบมนต์นี้หรือ ตรัสว่าทราบเขาจึงขอเรียน  แต่ทรงปฏิเสธว่าสอนให้ไม่ได้ จะสอนได้เฉพาะแก่คนที่มีเพศเหมือนเราเท่านั้น เขาจึงทูลขอบวชกับพระศาสดา ตรัสให้พระนิโครธกัปปเถระเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้
๔.การบรรลุธรรม
              วังคีสะ ครั้นบวชแล้ว ทรงบอกกรรมฐานคือ อาการ ๓๒ และวิปัสสนากรรมฐานแล้ว  เมื่อท่านกำลังสาธยายอาการ ๓๒ และเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ พวกพราหมณ์เข้าไปถามว่า  เรียนมนต์ของพระโคดมจบหรือยัง ท่านตอบว่าจบแล้ว พวกพราหมณ์พูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปได้แล้ว ท่านตอบว่า อาตมาไม่ไปแล้ว พวกพราหมณ์ไม่สามารถจะทำอย่างไรได้จึงไปตามกรรมของตน พระวังคีสะเจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล จบกิจบรรพชิตของตน

๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระวังคีสเถระ แม้จะไม่มีบันทึกการประกาศพระพุทธศาสนาของท่านไว้ในตำนาน  แต่ความสามารถของท่านก่อนบวช และหลังจากบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็น่าจะเป็นหลักประกันได้ว่า ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่คนผู้ที่ยังไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้นแก่คนที่ศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้ว
 ๖.เอตทัคคะ
              พระวังคีสเถระ เป็นผู้มีปฏิภาณสามารถกล่าวเป็นคำประพันธ์ ฉันท์สรรเสริญคุณพระศาสดา เวลาท่านเข้าไปเฝ้าได้ทุกครั้ง พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณ
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระวังคีสเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญกุศลมานานในกาลแห่งพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ในสมัยพระปทุมุตตรศาสดาขณะกำลังฟังธรรม ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ มีฉันทะมั่นในใจอยากจะได้ตำแหน่งนั้น  จึงได้บำเพ็ญกุศลอันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่า จะได้ในกาลแห่งพระศาสดาพระนามว่าโคดม ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกประการ
๘.ธรรมวาทะ
พระพุทธเจ้าทรงแกล้วกล้าเป็นอย่างดีในฐานะ  ๔ คือ
              ๑.ในธรรมอันมีอันตราย
              ๒.ในธรรมเครื่องนำออกจากวัฏฏะ
              ๓.ในความเป็นพระพุทธเจ้า
              ๔.ในการทำอาสวะให้สิ้นไป
              วาจาที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน วาจาที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นควรพูดวาจาเช่นนั้น  เพราะวาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิต พระพุทธเจ้าตรัสวาจาอันเกษมเพื่อบรรลุพระนิพพาน วาจานั้นแหละเป็นวาจาสูงที่สุดแห่งวาจาทั้งหลาย  เพราะทำให้สิ้นทุกข์
๙.นิพพาน
              พระวังคีสเถระ ครั้นถึงที่สุดประโยชน์ส่วนตนคือบรรลุพระอรหัตผลแล้วได้ช่วย   พระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอายุของท่าน  แล้วได้นิพพานดับไปตามสัจธรรมของชีวิต
                  
๕๘.พระกุมารกัสสปเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระกุมารกัสสปเถระ นามเดิมว่า กัสสปะ เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้ ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อกัสสปะ จะถูกทูลถามว่ากัสสปะไหน  จึงตรัสว่า กุมารกัสสปะ  เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช เธอจึงบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน พระเทวทัตตัดสินว่า เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง  ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ๆ ทรงมอบหมายให้อุบาลีเถระตัดสิน พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ ๆ ชาวสาวัตถีและนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช ศีลของนางบริสุทธิ์
๒.ชีวิตก่อนบวช
              นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย หน้าตาน่ารัก ผิวพรรณดุจทองคำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้ และทรงตั้งชื่อให้ว่า กัสสปะ อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า กุมารกัสสปะ  เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
๔.การบรรลุธรรม
              ครั้งนั้น สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา จึงผูกปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วบอกว่า นอกจากพระศาสดา ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระศาสดาทรงแก้ให้ท่าน จนถึงพระอรหัต พระเถระเรียนเองตามที่พระศาสดาตรัส เข้าไปยังป่าอัมพวัน เจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ที่จัดว่าเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล  เช่น การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริงเป็นต้น
              พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก  พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร
              พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ ครั้นขึ้นมาได้ ชำระร่างกายสะอาดแล้ว คงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก
              พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็นให้คนช่วยดูรอบ ๆ หม้อ ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป
              พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจครั้นเขาตายแล้ว ทรงตรวจดู ไม่พบว่าทั้ง ๖ นั้น
รู้สึกอะไรเลย พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนเป่าสังข์ คนโง่ได้ยินเสียงสังข์ จึงมาขอดูเสียงของสังข์ ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบเสียงในตัวสังข์ จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง
              ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปเถระในการอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี  จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา
๖.เอตทัคคะ
เพราะพระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมาและเหตุผล พระทศพลจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร (กล่าวถ้อยคำที่ไพเราะ)
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระกุมารกัสสปเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวถ้อยคำอันวิจิตร จึงได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น  ได้สร้างสมความดีที่สนับสนุนเกื้อกูลแก่ความปรารถนามาตลอดเวลา แล้วได้มาสมความปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลายดังกล่าวแล้ว
๘.ธรรมวาทะ
              เปรียบเหมือนชาย ๒ คน ชวนกันไปหาทรัพย์ ไปพบตะกั่วจึงห่อผ้านำไป ครั้นไปพบทอง ชายคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งตะกั่วเพราะถือว่าหอบ
หิ้วมานานแล้ว อีกคนหนึ่ง ทิ้งตะกั่วเพราะรู้ว่ามีราคาน้อย  แล้วห่อเอาทองไปเพราะรู้ว่ามีราคามาก  เมื่อกลับไปถึงบ้าน คนที่นำห่อทองไปย่อมเป็นที่ชื่นชอบยินดีของครอบครัวและญาติมิตรมากว่าคนที่นำห่อตะกั่วไป  ขอพระองค์ได้โปรดสละความเห็นผิดเดิมเสียเถิด
๙.นิพพาน
              พระกุมารกัสสปเถระ ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา  อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้นิพพานจากโลกไป

๕๙.พระมหาโกฏฐิตเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระมหาโกฏฐิตเถระ นามเดิม โกฏฐิตะ มีความหมายว่า ทำให้คนหนีหน้า เพราะเขาเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ต่าง ๆ จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน บิดาชื่อ  อัสสลายนพราหมณ์ มารดาชื่อ  จันทวดีพราหมณี  ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เขาเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปของพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดในเวทางคศาสตร์ ตักกศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตรถกฏุภศาสตร์ ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมด เขาชอบพูดหักล้างคนอื่น ใครพบเขาจึงพากันหลบหน้า ไม่อยากสนทนาด้วย
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              โกฏฐิตมานพ ถึงแม้จะเป็นผู้มีความรู้มาก แต่ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ได้พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้ให้เห็นประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าได้ชัดเจน เขาจึงเข้าไปเฝ้าและฟังธรรม แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ๆ ทรงบวชให้เขาตามประสงค์
 ๔.การบรรลุธรรม
              ตั้งแต่เขาได้บวชแล้ว ก็พากเพียรศึกษาพระธรรมวินัย และตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาสังขาร  โดยความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และเป็นอนัตตา  ไม่ช้าก็ได้สำเร็จ พระอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทา ๔  มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาญาณ  กล้าหาญ แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือแต่พระศาสดาก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ จึงมีนามเพิ่มอีกว่า มหาโกฏฐิตะ
๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระมหาโกฏฐิตเถระ เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่น ในมหาเวทัลลสูตร ท่านได้ซักถามพระสารีบุตรเถระเพื่อเป็นการวางหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะนำมาเฉพาะบางเรื่อง ดังนี้
              ผู้มีปัญญาทราม  คือ  ผู้ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
              ผู้มีปัญญา  คือ  ผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
              วิญญาณ  คือ  ธรรมชาติที่รู้แจ้ง  ได้แก่รู้แจ้ง  สุข  ทุกข์  และไม่ทุกข์ไม่สุข
              ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ การประกาศของผู้อื่นปรโตโฆสะ๑ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย โยนิโสมนสิการ๑
              การเกิดในภพใหม่มีได้ เพราะความยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นนิวรณ์ เครื่องกั้นมีตัณหาเป็นสังโยชน์ เครื่องผูกมัดการไม่เกิดในภพใหม่มีได้ เพราะเกิดวิชาและเพราะดับตัณหา
              คนตายกับผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกัน คือ คนตายสิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ อายุสิ้น ไออุ่นดับ และอินทรีย์แตก ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ่งปรุงแต่งกาย  วาจา จิตดับ แต่อายุยังไม่สิ้น ไออุ่นยังไม่ดับ อินทรีย์ผ่องใส
๖.เอตทัคคะ
       เพราะอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างท่านกับพระสารีบุตรเถระ ในมหาเวทัลลสูตรนี้  พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระมหาโกฏฐิตเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมตตรพุทธเจ้า เขาได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ปรารถนา จะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงก่อสร้างความดีตลอดมา แล้วได้สมปรารถนาในสมัยแห่งพระศาสดาของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา
๘.ธรรมวาทะ
               ผู้มีอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันสงบ ไม่รับเอาสิ่งผิดมาใส่ตนเป็นผู้งดเว้นจากการทำบาป โดยประการทั้งปวง พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงพูดไม่ฟุ้งซ่านเพราะเย่อหยิ่งด้วยชาติ  เป็นต้น   ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้  เหมือนลมพัดใบไม้เหลืองให้หล่นจากต้น
 ๙.นิพพาน
              พระมหาโกฏฐิตเถระได้ทำหน้าที่ของท่านและหน้าที่ต่อพระศาสนาในฐานะที่เป็น   พระสงฆ์แล้วได้ดำรงจนอายุอยู่ตามสมควรแก่เวลา  สุดท้ายก็ได้นิพพานดับไป

๖๐.พระโสภิตเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระโสภิตเถระ  นามเดิม โสภิตมาณพ บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              โสภิตมานพ ในวัยเด็กได้รับการศึกษาเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาอักษรสมัยตามลัทธิพราหมณ์
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              โสภิตมาณพ เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษา แม้จะเกิดในวรรณะพราหมณ์นับถือลัทธิพราหมณ์  ก็ไม่ยึดติดจนเกินไปเปิดใจกว้าง ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดา ว่าเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะชี้แจงให้เข้าใจประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าได้ชัดเจน วันหนึ่งจึงได้ไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงได้ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
              พระโสภิตเถระ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุอภิญญา ๖ เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การระลึกชาติในอดีต
 ๕.งานประกาศพระพุทธศาสนา
              แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของท่าน ในการช่วยพระศาสดาประกาศ     พระพุทธศาสนา แต่ปฏิปทาของท่านก็ทำให้คนผู้เกิดมาในภายหลังได้ศึกษา แล้วเกิดสัมมาทิฏฐิ เกี่ยวกับความเชื่อว่าโลกหน้ามีจริง ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง อันเกิดจากการระลึกชาติของท่าน
๖.เอตทัคคะ
              เพราะพระโสภิตเถระมีความชำนาญเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือ  ญาณในการระลึกชาติในอดีต พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ระลึก บุพเพสันนิวาส
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระโสภิตเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้บุพเพนิวาสญาณ จึงได้สร้างอธิการแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธองค์ว่า จะสมประสงค์ในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่า โคดม
๘.ธรรมวาทะ
          เราเป็นผู้มีสติ มีปัญญา ปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ระลึกชาติสิ้นห้าร้อยกัปเพียงราตรีเดียว เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗  มรรคมีองค์ ๘ จึงระลึกชาติตลอดเวลา ๕๐๐ กัปป์ เพียงราตรีเดียว
๙.นิพพาน
              พระโสภิตเถระ  ได้บรรลุประโยชน์สูงสุดส่วนตน คือ พระอรหัตผล  แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา ตามสมควร
แก่เวลาของท่าน จึงได้นิพพานจากโลกไปโดยหาความอาลัยไม่ได้
๖๑.พระนันทกเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระนันทกเถระ  นามเดิม  นันทกะ บิดาและมารดา  ไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              พระนันทกเถระ อรรถกถาต่าง ๆ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า  เป็นพระอระหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
             พระนันทกเถระ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียร ปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส
  ๕.งานประกาศพระศาสนา
              ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม  ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรม ภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล
๖.เอตทัคคะ
              พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระนันทกเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน จนถึงกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี จึงทำความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า โคดม  และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘.ธรรมวาทะ
              ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจ ไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น เหมือนกัน
๙.นิพพาน
              พระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป

๖๒.พระสาคตเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระสาคตเถระ  นามเดิม  สาคตะ บิดาและมารดา  เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี  ทั้ง ๒ ไม่ปรากฏนาม
๒.ชีวิตก่อนบวช
              ชีวิตก่อนบวชของท่าน ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ แต่สันนิษฐานว่า คงได้รับการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน และการศึกษาตามลัทธิพราหมณ์
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              สาคตมาณพเป็นผู้สนใจใคร่ศึกษา ได้รับทราบข่าวพระศาสดาว่า เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้าได้แจ่มแจ้ง วันหนึ่ง มีโอกาสจึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นบวชแล้ว เจริญฌานได้สมาบัติ ๘  มีความชำนาญในฌานสมาบัตินั้น
๔.การบรรลุธรรม
              พระสาคตเถระได้ปราบอัมพติตถนาคราช จนสิ้นฤทธิ์เดช ด้วยเตโชธาตุสมาบัติของท่าน ชาวบ้านที่เคยได้รับความทุกข์จากนาคราชนั้น
ดีใจ เลื่อมใสท่าน ทุกบ้านได้จัดสุรา ถวายเวลาท่านไปบิณฑบาต ท่านจิบสุราบ้านละน้อย เพื่อฉลองศรัทธา ครั้นหลายบ้านเข้าจึงเกิดเมาสุรา ไปล้มหมดสติอยู่ที่กองขยะ พระศาสดาทรงทราบจึงทรงให้พระมาประคองเอาไป ทรงติเตียน และชี้โทษของสุรา หลังจากนั้นท่านเกิดความสลดใจ  ปฏิบัติสมณธรรม  ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล
๕.งานประกาศพระศาสนา
              เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ สามารถแสดงฤทธิ์เกี่ยวกับไฟได้หลายอย่าง  เช่นทำให้เกิดแสงสว่างในที่มืด  และทำให้เกิดความมืดในที่สว่าง  เป็นต้น  จึงทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
๖.เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงปรารภความสามารถในการเข้าเตโชธาตุสมาบัติของท่าน จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า พระสาคตเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเข้าเตโชสมาบัติ
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระสาคตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเข้าเตโชธาตุสมาบัติ จึงได้เพียรทำความดีแล้วตั้งความปรารถนา  จนมาสำเร็จสมประสงค์  ในสมัยพระพุทธองค์ของเราทั้งหลาย  ดังได้กล่าวมา
๘.ธรรมวาทะ
ต้นไม้ทุกชนิด ย่อมงอกงามบนแผ่นดินฉันใด สัตว์ผู้มีปัญญา ก็ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า ฉันนั้น  องค์พระสัพพัญญู ผู้ทรงนำหมู่ของผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงถอนคนเป็นอันมากออกจากทางที่ผิด  แล้วตรัสบอกทางที่ถูกให้
๙.นิพพาน
              พระสาคตเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดเวลาที่เป็นภิกษุ สุดท้ายก็ได้นิพพานจากโลกไปตามสัจธรรมของชีวิต

๖๓. พระยโสชเถระ
เกิดในสกุลชาวประมง ในพระนครสาวัตถี พระบิดาเป็นหัวหน้าชาวประมง ๕๐๐ สกุล เมื่อวันที่ยโสชะคลอดออกมา  ภรรยาชาว
ประมงทั้ง ๕๐๐ ก็คลอดบุตรชายในวันเดียวกัน หัวหน้าชาวประมงจึงให้ค่าบำรุงเลี้ยง มีค่าน้ำนมเป็นต้น แก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่าต่อไปจะได้เป็นสหายของลูกชายตน ต่อมาเด็กเหล่านั้นก็ได้เป็นเพื่อน เล่นฝุ่นกัน เมื่อเจริญเติบโตก็ได้เป็นเพื่อนจับปลากัน วันหนึ่ง พากันไปทอดแหที่แม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่มาตัวหนึ่ง จึงนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า พระบรมศาสดาเท่านั้น จึงจะทราบเหตุที่ปลานี้เป็นทอง จึงรับสั่งให้นำปลานั้นไปแล้วเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา  พอถึงที่เฝ้าปลานั้นได้อ้าปากขึ้น กลิ่นเหม็นกลบไปทั่วพระนคร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ปลานี้เมื่อก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิละ เป็นพหูสูตร มีบริวารมาก แต่ประพฤติตนย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนา พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสกปิลสูตรจบ  บุตรชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงทูลขอบบวช ครั้นบาชแล้วได้หลีกไปบำเพ็ญสมณธรรมวันหนึ่งพากันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระเชตวัน ครั้นถึงได้คุยกับภิกษุเจ้าถิ่น เสียงดังลั่น พระพุทธองค์ทรงตรัสถามทรงทราบความแล้วทรงประณามขับไล่ จึงพากันไปจำพรรษาอยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดน เมืองเวสาลี  อาศัยความไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรมไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานั่นเอง ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปยังเมืองเวสาลี  ประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงทราบเรื่องนั้น จึงรับสั่งพระอานนทเถระ ให้ไปตามพระภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้า เมื่อภิกษุเหล่านั้นมาถึงที่เฝ้า  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงประทับเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ จึงได้พากันนั่งเข้าอเนญสมาธิตาม พระอานนทเถระเห็นพระพุทธองค์ประทับนิ่ง จึงทูลเตือนถึง๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ตถาคตและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ กำลังเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ ท่านพระยโสชะนั้น นับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อท่านดำรงอยู่ตามกาลอันสมควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๖๔. พระองคุลิมาลเถระ
                    เกิดในสกุลพราหมณ์  ในพระนครสาวัตถี บิดาเป็นปุโรหิต ของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล  มารดา ชื่อว่า  มันตานี ในวันที่คลอดจากครรภ์มารดา ปรากฏว่าเครื่องอาวุธยุทธโปกรณ์ ที่มีอยู่ในเรื่อนของตนและพระคลังแสงบังเกิดเป็นเปลวไฟ รุ่งโรจน์ ผู้เป็นบิดาจึงตรวจดูดาวฤกษ์ในท้องฟ้า ทราบว่าบุตรของตนจะเป็นโจร จึงกราบทูลให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลประหารชีวิต เสียแต่พระองค์หาทรงทำไม่ รับสั่งให้บำรุงเลี้ยงไว้ บิดาจึงให้นามว่า อหิงสกกุมาร แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน เพื่อลบล้างนิมิตที่เกิด ครั้น เจริญวัย บิดามารดาส่งไปเรียนศิปศาสตร์ ยังสำนักตักศิลา ปรากฏว่า มีปัญญาดีเรียนรู้ได้ไวและ อุตส่าห์ ปรนนิบัติ เป็นอันดี จนเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ ทิศาปาโมกข์ ฝ่ายมาณพ ทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ด้วยกันได้ ริษยา จึงพากันไปยุยงอาจารย์ ให้กำจัด เสีย จึงสั่งให้อหิงสกกุมารไปฆ่าคนให้ได้ ๑๐๐๐ คน แล้วตัดเอานิ้ว มือมาคนละหนึ่งนิ้ว เพื่อจะ ประกอบศิลปศาสตร์ อันชื่อวิษณุมนต์ ในชั้นต้น อหิงสกกุมารไม่พอใจจะกระทำ เพราะ ตนเกิดในสกุลพราหมณ์  และชื่อว่า อหิงสกะ ไม่สมควรที่จะเบียดเบียน สัตว์ ตัดชีวิต แต่อยากจะเรียนมนต์จึงฝืนทำ เริ่มฆ่าคน แต่จิตคิดว่า การกระทำกรรมชั่วหยาบนี้ ไม่เหมาะสมกับตน จึงมิได้กำหนด จำนวนคนที่ตนฆ่าก็บังเกิดความสงสัย ต่อมาเมื่อ ฆ่าคนตายแล้วก็ตัดเอานิ้ว มือมาร้อยเป็นพวงสวมไว้ที่คอ ดุจ พวงมาลัยนับได้ถึง ๙๙๙  นิ้ว เหตุดังนั้น จึงมีนามปรากฏว่า องคุลิมาลโจร โจรผู้มีนิ้วมือ เป็นพวงมาลัย ข่าวนี้เป็นที่ สะดุ้ง หวาดเสียว ต่อมหาชนเป็นอย่างมาก  พระเจ้าปัสเสนทิโกศล จึงตรัสให้เตรียมลี้พล เพื่อ ที่จะไปปราบ ปุโรหิต ผู้บิดาทราบเข้าจึงให้นางพราหมณี รีบออกไปบอกเหตุในราตรีค่อนสว่าง คืนนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบอุปนิสัยแห่งอรหัตผล ขององคุลิมาลโจร และถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นธุระ องคุลิมาลโจรจะกระทำมาตุฆาต คือ ฆ่ามารดา จักเป็นเหตุเสื่อมจากมรรค และผล จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่ องคุลิมาลเห็นเข้า ก็รีบวิ่งหมายจะฆ่าทันที แต่วิ่งไล่เท่าไร ก็ไม่ทันจึงร้องตะโกนให้หยุด พระองค์จึงตรัสว่า เราหยุดแล้ว แต่เขาก็ยังไล่ไม่ทัน จึงกล่าวหาว่า พระองค์กล่าวมุสาวาท พระองค์จึงตรัสตอบว่า ตถาคต หยุด จากการกระทำความชั่ว อันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนเธอซิยังไม่หยุด พระสุรเสียง ทำให้องคุลิมาลรู้สึกนึกถึงความชั่วของตน จึงทิ้งอาวุธและพวงนิ้วมือ คนเสียในซอกเขาเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูล ขอบวช พระองค์ก็ทรงอนุญาตด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำกลับวิหารเชตวัน รุ่งเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ประชาชนเห็นเข้า ก็ตกใจวิ่งกันสับสนอลหม่าน ไม่ว่าท่านจะไปเที่ยวบิณฑบาตถึงไหน ก็ตามไม่มีใครสักคนที่จะถวายอาหารบิณฑบาต แก่ท่านแม้เพียงทัพพีเดียว ภิกษุรูปใดไปกับท่านก็พลอยอดไปด้วย  ครั้งหนึ่ง ท่านได้ทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง  ปรากฏว่า นางคลอดบุตรง่าย ตั้งแต่นั้น มาประชาชนจึงเริ่มนับถือท่าน แม้กระทั่งที่ท่านนั่ง คนใดนำน้ำ ไปรดและใช้เป็นนำมนต์ก็ใช้ได้ผล ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์ บำเพ็ญสมณธรรม แต่จิตใจฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ พระองค์ จึงทรงแนะนำ ไม่ให้คิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว  และยังไม่มาถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าท่านประพฤติตามพุทธโอวาท ไม่ช้าก็สำเร็จอรหัตผล นับว่าท่านเป็นอริยสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อท่านดำรงอยู่โดยกาลอันสำควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๖๕.พระมหากัจจายนเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระมหากัจจายนเถระ เดิมชื่อว่า กัญจนมาณพ เป็นชื่อที่มารดาตั้งให้ เพราะทารกนั้นมีผิวกาย เหมือนทองคำ แต่คนทั่วไปเรียกตามโคตรว่า กัจจานะ หรือ กัจจายนะ บิดา ชื่อติริฏิวัจฉะ มารดาไม่ปรากฎชื่อ เป็นวรรณะพราหมณ์ กัจจายนโคตร บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต เกิดที่เรือนปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี
๒. ชีวิตก่อนบวช
        กัญจนมาณพนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาของเขาถึงแก่กรรมก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทน  คนทั้งหลายเรียกชื่อเขาตามโคตรว่า กัจจายนะ
๓.  มูลเหตุของการบวช
        พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก จึงส่งกัจจายนปุโรหิตไป เพื่อทูลอาราธนาพระศาสดาว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงไปที่พระอารามนั้นแล้ว ทูลนิมนต์พระศาสดามาในวังนี้ ท่านปุโรหิตนั้นพร้อมกับบริวารอีก ๗ คน เดินทางออกจากนครอุชเชนีไปยังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา กัจจายนปุโรหิต พร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้บรรลุ อรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ๔
๔.  วิธีอุปสมบท
        ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้ว กัจจายนปุโรหิตพร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา ลำดับนั้นพระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุ มาเถิด ขณะนั้นเอง พวกเขาได้มีผมและ หนวดยาวประมาณ ๒ องคุลี ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระบวชมา ๖๐ พรรษา
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระมหากัจจายนเถระ ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จอย่างนี้แล้ว วันหนึ่ง จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชต ปรารถนาจะไหว้พระบาทและฟังธรรมของพระองค์ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่ากัจจายนะ เธอนั่นแหละจงไปในวังนั้น เมื่อเธอไปถึงแล้วพระราชาจักทรงเลื่อมใส พระเถระพร้อมกับภิกษุอีก ๗ รูป ได้ไปยังพระราชวังนั้นตามพระบัญชาของพระศาสดา ได้ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใส แล้วได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในอวันตีชนบทเรียบร้อยแล้ว จึงได้กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก ปกรณ์ ทั้ง ๓ คือ กัจจายนปกรณ์ มหานิรุตติปกรณ์ และเนตติปกรณ์ ได้ปรากฎขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ เพราะความปรารถนาในอดีตของท่าน
        เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนเถระ อยู่ที่ป่าไม้คุนธา แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ลือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะ พราหมณ์เป็นบุตรของพระพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพระพรหม
        พระเถระตอบว่า นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น แล้วได้อธิบายให้พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ยอมรับว่า วรรณะทั้ง ๔ เสมอกันตามความจริงที่ปรากฎ ๕ ประการ คือ
        ๑. วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
        ๒. วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
        ๓. วรรณะใดเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย  วาจา  และใจ   วรรณะนั้นเมื่อตายไป  ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
        ๔. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้น ต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
        ๕. วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับนิมนต์ให้นั่ง   บนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๖.  เอตทัคคะ
        พระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้ฉลาดสามารถในการอธิบายคำที่พระศาสดาตรัสไว้    โดยย่อให้พิสดาร ได้ตรงตามพุทธประสงค์ทุกประการ เช่น
ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความ จึงอาราธนาพระเถระอธิบายให้ฟัง พระเถระอธิบายขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วบอกว่า ถ้ารูปใดยังไม่แน่ใจก็ขอให้ไปทูลถามพระศาสดา ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลถามพระศาสดาตามที่ท่านได้อธิบาย พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะ เป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็ต้องแก้อย่างนั้นเหมือนกัน เนื้อความแห่งธรรมที่เรา แสดงไว้โดยย่อมีความหมายอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรง จำเนื้อความนั้น ไว้เถิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร
๗.  บุญญาธิการ
        พระมหากัจจายนเถระนี้ ได้บำเพ็ญกุศลมายาวนานในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้ฟังธรรม ในสำนักพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งจำแนกเนื้อความ ที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร เกิดกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมาก หลายพุทธันดรจนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ สมปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้
๘.  ธรรมวาทะ
              วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้  วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน  วรรณะเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์เหมือนกัน  วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้นต้องถูก ลงโทษเหมือนกัน วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน
๙.  นิพพาน
        พระมหากัจจายนเถระ ได้ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จด้วยการบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในอวันตีชนบท ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากพระอรหัตผล ในที่สุดได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนดวงประทีปที่หมดเชื้อแล้วดับไป จากหลักฐานในมธุรสูตร ท่านนิพพานภายหลังพระศาสดา
        ใจความมธุรสูตรว่า พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว ตรัสถามว่า ขณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ท่านกราบทูลว่า ปรินิพพานแล้ว

๖๖. พระโสณกุฏิกัณณเถระ
๑. สถานะเดิม
              พระโสณกุฏิกัณณเถระ  นามเดิม  โสณะ  แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ  จึงมีคำต่อท้ายว่า  กุฏิกัณณะ บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี เป็นพระโสดาบัน ผู้ถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ  เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ  แคว้นอวันตี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒. ชีวิตก่อนบวช
              เนื่องจากตระกูลของท่านประกอบอาชีพค้าขาย  ท่านจึงประกอบอาชีพค้าขาย  ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของตระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ  เป็นคนโสดไม่มีครอบครัว
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เพราะมารดาของท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคยกับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงขอบรรพชาอุป
สมบทกับพระเถระ ๆ อธิบายให้ฟังว่า  การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไรบ้าง แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้ พระเถระจึงบวชให้ได้แต่แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์ ๑๐ องค์ไม่ได้ ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี  จึงได้พระครบ ๑๐ องค์ แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
๔. การบรรลุธรรม
              พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบวชแล้ว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕. งานประกาศพระศาสนา
              พระโสณกุฏิกัณณเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เพราะท่านไม่เห็นพระศาสดาปรารถนาจะไปเฝ้า  จึงได้ลาพระอุปัชฌาย์  อันพระอุปัชฌาย์อนุญาตและฝากไปขอทูลผ่อนผันเรื่องพระวินัย ๕ ประการ  สำหรับปัจจันตชนบท  เช่นการอุปสมบทด้วยคณะปัญจกะ  คือมีภิกษุประชุมกัน ๕ รูปก็บวชกุลบุตรได้  เป็นต้น  ท่านได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง พระศาสดาทรงอนุญาตทุกประการ
              เมื่อท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยทรงอนุญาตให้พักในพระคันธกุฏีเดียวกับพระพุทธองค์ และทรงโปรดให้ท่านแสดงธรรมทำนองสรภัญญะ เมื่อจบการแสดงธรรมพระศาสดาทรงอนุโมทนาและชมเชยท่าน ท่านได้พักอยู่กับพระศาสดาพอสมควรแก่เวลา  จึงทูลลากลับไป
              ครั้นกลับไปถึงอวันตี โยมมารดาทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ ปลื้มปีติใจ จึงนิมนต์ให้แสดงให้ฟังบ้าง ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน คนใช้มารายงาน ท่านก็ไม่เสียดายอะไร  บอกว่าโจรต้องการอะไร  ก็ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด  ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย  พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย
              พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้  รู้สึกสลดใจ ว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้  เป็นความไม่ดีเลย  จึงพากันไปยังวัด  เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง  ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์
๖. เอตทัคคะ
              ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงแบบสรภัญญะ ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา ดังนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
๗. บุญญาธิการ
              แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลายสมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
              ข้าแต่พระมหากัจจายนะผู้เจริญ กระผมทราบดีถึงธรรมที่พระมหากัจจายนะผู้เป็นเจ้าแสดงแล้วว่า พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริง  เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดไว้อย่างดี  ทำได้ไม่ง่ายเลย
              ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษในกามคุณทั้งหลายข้าพระองค์เห็นมานานแล้ว แต่ว่าฆราวาสมีกิจมาก  มีสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำมาก  บีบรัดตัว
เหลือเกิน (จึงทำให้บวชช้าไป)
๙. นิพพาน
              พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดก็นิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง

๖๗. พระโสณโกฬิวิสเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระโสณโกฬิวิสเถระ นามเดิม โสณะ เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ส่วนโกฬิวิสะ เป็นชื่อ แห่งโคตร บิดานามว่า  อุสภเศรษฐี  มีถิ่นฐานอยู่ในนครจำปา  มารดา ไม่ปรากฎนาม
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระโสณโกฬิวิสะนั้น สมัยก่อนบวชตั้งแต่เป็นเด็กมาเป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อน เกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาเป็นอย่างดีจากบิดาและมารดา ที่จะพึงให้ได้ ในสมัยนั้น เพราะเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติที่เพรียบพร้อม
๓.  มูลเหตุของแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
        พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ มีความประสงค์จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของนายโสณะนั้น จึงรับสั่งให้เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์
        โสณโกฬิวิสะ พร้อมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามรับสั่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
        ฝ่ายโสณโกฬิวิสะ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ      ข้าพระองค์ได้ฟัง ธรรมของพระองค์แล้วเห็นว่า พรหมจรรย์อันผู้ครองเรือนจะประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์ และบริบูรณ์นั้น ทำยาก ขอพระองค์จงโปรดให้ข้าพระองค์บวชเถิด พระพุทธเจ้าได้บวชให้เขาตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
        พระโสณโกฬิวิสะ ครั้นบวชแล้ว ได้ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าสีตวันใกล้เมืองราชคฤห์นั่นเอง เดินจงกรมด้วยเท้า ด้วยเข่า และมือ จนเท้า เข่า และมือแตก แต่ก็ไม่บรรลุผลอะไร เพราะความเพียรที่มากเกินไป ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน คิดน้อยใจตัวเองว่ามีความเพียรมากถึงเพียงนี้ ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านจึงเสด็จไปแสดงธรรมโปรด โดยเปรียบกับพิณ ๓ สาย ว่า สายพิณที่ขึงตึงเกินไป และหย่อนเกินไป จะมีเสียงไม่ไพเราะ ต้องขึงให้ได้ระดับพอดี เวลาดีดจึงจะมีเสียงที่ไพเราะ
        ครั้นได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านปรับความเพียรกับสมาธิให้เสมอกัน บำเพ็ญเพียรแต่พอดี ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับผู้ที่นิยมการปฏิบัติสมณอัตตกิลมถานุโยคว่า วิธีนั้นไม่สามารถจะทำให้บุคคลบรรลุผลที่ต้องการได้เลย ครั้นสำเร็จเป็นอรหันต์แล้วได้แสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจิตใจน้อมเข้าไปในคุณ๖ ประการ คือ
                        ๑. น้อมเข้าไปในบรรพชา
                        ๒. น้อมเข้าไปในความสงัด
                        ๓. น้อมเข้าไปในความสำรวมไม่เบียดเบียน
                        ๔. น้อมเข้าไปในความไม่ถือมั่น
                        ๕. น้อมเข้าไปในความไม่มีความอยาก
                        ๖. น้อมเข้าไปในความไม่หลง
        พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญท่านว่า พยากรณ์พระอรหัต กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเปรียบเทียบ
๖.  เอตทัคคะ
        พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ ครั้งยังไม่บรรลุพระอรหัตได้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า ดังได้กล่าวมา พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร
๗.  บุญญาธิการ
        แม้พระโสณโกฬิวิสเถระ ก็ได้บำเพ็ญคุณงามความดีที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่ง      พระนิพพานมานาน แสนนานหลายพุทธันดร จนได้รับพยากรณ์จากพระปทุมุตตรศาสดาว่า จะได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านปรารภความเพียรในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม ครั้นได้รับพยากรณ์แล้ว ท่านได้บำเพ็ญความดี ที่สามารถสนับสนุนความปรารถนานั้นอย่างอื่นอีกมากมายหลายพุทธันดร โดยไม่มีความท้อแท้ใจ คล้ายกับจะได้รับผลในวันพรุ่งนี้ ในที่สุดบารมีของตนก็สัมฤทธิ์ผลในศาสนาของพระทศพลพระนามว่า โคดม ดังกล่าวมา

๘.  ธรรมวาทะ
        ผู้ที่ทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ  ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ  ทุกข์โทษทั้งหลายย่อมประดังมาหาเขา ผู้มัวเมา ประมาท และเย่อหยิ่งจองหอง   ผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรทำ พากเพียรพยายามทำแต่สิ่งที่ควรทำ มีสติสัมปชัญญะ  ทุกข์โทษทั้งหลาย ย่อมสูญหายไปจากเขา
๙.  นิพพาน
        พระโสณโกฬิวิสเถระนี้ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา จนถึงเวลาอายุขัย   จึงได้นิพพานจากโลกนี้ไป เปรียบเหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้วมอดดับไป.

๖๘ .พระรัฐบาลเถระ
๑. สถานะเดิม
        พระรัฐบาลเถระ นามเดิม รัฐบาล แปลว่า ผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะต้นตระกูลของท่านได้ช่วย กอบกู้แคว้นที่อาศัยอยู่ ซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้ ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้นตามตระกูล บิดาและมารดา ไม่ปรากฎนาม เป็นวรรณะแพศย์  เกิดที่ถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ
๒. ชีวิตก่อนบวช
        พระรัฐบาลเถระ ตั้งแต่เป็นเด็กจนเจริญเติบโตได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา เพราะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว และเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ได้แต่งงานตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ไม่มีบุตรธิดา เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง จึงมีเพื่อนมาก
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
        เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ บ้านเกิดของท่าน ชาวกุรุได้พากันมาฟังธรรม รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย หลังจากฟังธรรมแล้วประชาชนได้กลับไป ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน
        เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดา เพื่อจะบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงอดหาร บิดาและ มารดา กลัวลูกตายสุดท้ายจึงอนุญาตให้บวชตามประสงค์ เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชได้ โดยมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์
๔.  การบรรลุธรรม
        เมื่อพระรัฐบาลเถระบวชได้ประมาณ ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จออกจาก ถุลลโกฏฐิตนิคม ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี โดยมีพระรัฐบาลตามเสด็จไปด้วย ท่านได้พากเพียรเจริญภาวนา ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี จึงบรรลุพระอรหัต
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
        พระรัฐบาลเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้วได้กลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิดของท่าน โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านพักอยู่ที่มิคจิรวันอันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เจ้าผู้ครองแคว้นกุรุ
        ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกรัพยะเสด็จประพาสพระราชอุทยานทอดพระเนตรเห็นท่านทรงจำได้เพราะเคยรู้จักมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรม ได้ตรัสถามว่า บุคคลบางพวกประสบความ เสื่อม ๔ อย่าง คือ ๑. ความชรา  ๒. ความเจ็บ  ๓. ความสิ้นโภคทรัพย์  ๔. ความสิ้นญาติ จึงออกบวช แต่ท่านไม่ได้เป็น อย่างนั้น ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช  พระเถระได้ทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมุทเทศ (หัวข้อธรรม) ๔ ประการ  พระศาสดาจารย์ทรงแสดงไว้แล้ว อาตมภาพรู้เห็นตามธรรมนั้น จึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ประการนั้น มีใจความว่า
                        ๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
                        ๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
                        ๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ทุกคน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
                        ๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
        พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสธรรมะของท่าน ตรัสชมเชยท่านอย่างมาก แล้วได้ทรงลากลับไป

๖. เอตทัคคะ
        พระรัฐบาลเถระ เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสตั้งใจบวช บวชในพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบวชได้ก็แสนจะลำบาก ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา
๗. บุญญาธิการ
        แม้พระรัฐบาลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้มากมายหลายพุทธันดร จนมาได้รับพยากรณ์ว่า จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ต่อจากนั้นก็มีศรัทธาสร้างความดี ไม่มีความย่อท้อ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย จึงได้ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ มีประการดังกล่าวมา
 ๘. ธรรมวาทะ
        คนมีทรัพย์ในโลกนี้ เห็นมีอยู่ (๓ ประเภท)
                        (๑) ได้ทรัพย์แล้วไม่แบ่งปันให้ใคร เพราะความโง่
                        (๒) ได้ทรัพย์แล้วทำการสะสมเอาไว้
                        (๓) ได้ทรัพย์แล้วปรารถนากามยิ่งขึ้น
             พระราชารบชนะทั่วแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินจนสุดฝั่งสมุทร ฝั่งสมุทรฝั่งนี้ยังไม่พออิ่มจึงปรารถนาฝั่งโน้นอีก    บุตรธิดา ภรรยาสามี ทรัพย์และแว่นแคว้น ติดตามคนตายไปไม่ได้    เงินซื้อชีวิตไม่ได้ ช่วยให้พ้นความแก่ไม่ได้    ทั้งคนจนและคนมี ทั้งคนดีและคนชั่ว ล้วนถูกต้องผัสสะ (เห็น ได้ยิน เป็นต้น)  ทั้งนั้น คนชั่วย่อมหวั่นไหว เพราะความเป็นคนพาล แต่คนดีย่อมไม่มีหวั่นไหว
๙.  นิพพาน
              พระรัฐบาลเถระ ครั้นจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมา สุดท้ายก็ได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารตามโวหารที่ว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว

๖๙.พระปิลินทวัจฉเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย  บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.ชีวิตก่อนบวช
              ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะจึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จ วิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์  อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่าพระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชาพระศาสดาตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส
๔.การบรรลุธรรม
              เมื่อท่านบวชแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาและได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์  เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
๕.งานประกาศพระศาสนา
              เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย  เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก เข้าไปหาท่านทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุและชาวบ้าน เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ  ก็ไม่มีใครถือสากลับศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น
              ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่า ถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธ คิดว่าพระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริง ๆ ต่อมามีคนแนะนำเขาว่าให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่าดีปลี ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำ ปรากฏว่ามูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม
๖.เอตทัคคะ
              ก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก  เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระปิลินทวัจฉเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศโดยเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย จึงปรารถนาตำแหน่ง
นั้น ได้บำเพ็ญบุญเป็นอันมาก ต่อมาได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาแล้วได้สำเร็จดังประสงค์  ในสมัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย  ดังกล่าวแล้ว
๘.ธรรมวาทะ
             การที่เรามาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการมาที่ดี ไม่ได้ปราศจากประโยชน์  การตัดสินใจบวชของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐที่สุดแล้ว
๙.นิพพาน
              พระปิลินทวัจฉเถระ ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้นิพพานดับไป  โดยไม่มีอาลัย

๗๐.พระมหากัปปินเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระมหากัปปินเถระ นามเดิม กัปปินะ ต่อมาได้ครองราชย์จึงมีนามว่า มหากัปปินะ  เป็นวรรณะกษัตริย์
              พระบิดาพระมารดา ไม่ปรากฏพระนาม เป็นเจ้าเมืองกุกกุฏวดีในปัจจันตชนบท
๒.ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อสันตติวงค์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหากัปปินะ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ  แห่งแคว้นมัททะ ทั้ง  ๒ พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องศาสนา คอยสดับตรับฟังว่าข่าวการอุบัติของ  พระพุทธเจ้าตลอดเวลา
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
          วันหนึ่ง ทรงทราบข่าวจากพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถีว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง พร้อมกับบริวารจำนวนหนึ่ง ได้เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองสาวัตถี
           พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวการเสด็จมาของพระเจ้ามหากัปปินะ จึงเสด็จไปรับ
ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ ท้าวเธอพร้อมด้วยบริวารได้เสด็จเข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมด้วยบริวารได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  ทรงให้พวกเขาอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔.การบรรลุธรรม
              พระมหากัปปินเถระพร้อมกับบริวารได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช หลังจากฟังอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔จบลง  ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้วจึงทูลขอบวช
๕.งานประกาศพระศาสนา
              เมื่อบวชในพระพุทธศาสนา และแม้จะสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่สอนใคร มีความขวนขวายน้อย ต่อมาพระศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้ท่านสอนผู้อื่นบ้าง ท่านทูลรับด้วยเศียรเกล้า ได้แสดงธรรมแก่อันเตวาสิก ของท่านประมาณพันรูปให้บรรลุอรหัตผล

๖.เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงอาศัยเหตุที่ท่านแสดงธรรมแก่อันเตวาสิกนั้น จึงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระมหากัปปินเถระนี้ ก็ได้ปรารถนาตำแหน่งแห่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ได้สร้างสมความดีตลอดมาและได้สมความปรารถนาในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย  ดังกล่าวมา
๘.ธรรมวาทะ
              มีปัญญา  แม้ไม่มีทรัพย์  ยังพออยู่ได้  ขาดปัญญา  แม้มีทรัพย์  ก็อยู่ไม่ได้  ปัญญาเป็นตัวชี้ขาด ศาสตร์ที่เรียนมาปัญญาทำให้เจริญไปด้วยเกียรติ และความสรรเสริญ ผู้มีปัญญาย่อมได้รับความสุขแม้ในสิ่งที่คนอื่นเขาทุกข์กัน
๙.นิพพาน
              พระมหากัปปินเถระ ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา ตามสมควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้นิพพานจากไป

๗๑. พระพาหิยทารุจีริยเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระพาหิยทารุจีริยเถระ  นามเดิม  พาหิยะ  ภายหลังเขานุ่งเปลือกไม้  จึงได้ชื่อว่า  พาหิยทารุจีริยะ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวพาหิยรัฐ วรรณะแพศย์
๒.ชีวิตก่อนบวช
         เมื่อเติบโต เขามีอาชีพค้าขาย วันหนึ่งนำสินค้าลงเรือไปขายยังจังหวัดสุวรรณภูมิ  เรืออับปาง คนในเรือเสียชีวิตทั้งหมด เหลืออยู่ แต่เขาคนเดียว เกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งไว้ได้  ลอยคอไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปารถะ ผ้านุ่งผ้าห่มถูกคลื่นซัดหลุดหายไปหมด จึงเอาใบไม้บ้าง เปลือกไม้บ้าง ถักพอปิดร่างกาย ถือภาชนะกระเบื้องดินเผาเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพ คนทั้งหลายเห็นเขาแต่งตัวแปลก ๆ คิดว่าเป็นพระอรหันต์ จึงนำอาหารไปให้มากมาย บางคนนำเอาผ้าไปให้ แต่เขาไม่ยอมนุ่งผ้า คงนุ่งผ้าเปลือกไม้ต่อไป และสำคัญผิดคิดว่าเป็นพระอรหันต์
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
      ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง ผู้เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาในชาติก่อน แล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาให้สติแก่เขาว่า พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก แม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผล ท่านก็ยังไม่รู้เลย ผู้เป็นพระอรหันต์และรู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผล อยู่ที่พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เขาสลดใจ ได้ไปเฝ้าพระศาสดาตามคำของเทวดา พบพระศาสดากำลังทรงดำเนินบิณฑบาตอยู่ รีบร้อนวิงวอนจะฟังพระธรรมเทศนาให้ได้  พระศาสดาทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง ครั้นทรงทราบว่า ญาณของเขาแก่กล้าแล้ว และปีติของเขาสงบลงแล้วจึงได้ตรัสว่า พาหิยะ ขอให้เธอศึกษา  ดังนี้  เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น  ทิฏฺเฐ  ทิฏฺฐํ  มตฺตํ  ภวิสฺสติ
    ในเวลาจบเทศนา เขายืนอยู่กลางถนนนั่นเอง ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทา ได้ทูลขอบรรพชากับพระศาสดา แต่มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ จึงไปหาบาตรและจีวร กำลังดึงท่อนผ้าเก่าจากกองขยะ อมนุษย์คู่เวรกันเข้าสิงในร่างแห่งแม่โคตัวหนึ่ง ทำร้ายท่านจนถึงสิ้นชีวิต จึงไม่ทันได้บวช
๔.งานประกาศพระศาสนา
              พระพาหิยทารุจีริยเถระ แม้ท่านจะยังไม่ได้บวชตามพิธีอุปสมบทกรรมตามพระวินัย  แต่ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล จัดเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้ และมีประวัติอยู่ในจำนวนพระอสีติมหาสาวก พระศาสดาเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นศพของพระพาหิยะล้มอยู่ในกองขยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำไปทำการฌาปนกิจ แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ทางสี่แพร่ง ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า ท่านบรรลุมรรคอะไรเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ พระศาสดาตรัสว่า พาหิยะปรินิพพานแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี ประวัติพระพาหิยทารุจีริยเถระจึงเป็นการประกาศหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว จะบวชตามพระวินัยหรือไม่ก็ตาม ก็จัดเป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้น คือเป็น อริยสงฆ์
๕.เอตทัคคะ
              เพราะพระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้บรรลุธรรมเร็วพลัน เพียงฟังพระพุทธพจน์ว่า  ทิฏฺเฐ  ทิฏฺฐํ  มตฺตํ  ภวิสฺสติ เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน
๖.บุญญาธิการ
แม้พระพาหิยทารุจีริยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน จึงได้บำเพ็ญกุศลแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า โคดม และก็ได้สมตามความปรารถนา  ดังพุทธวาจาทุกประการ
๗.ธรรมวาทะ
              ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร ไม่เคยได้อาหาร คือ คำข้าว เลยหรือ ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
๘.นิพพาน
              พระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้ถูกอมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันเข้าสิงในร่างแม่โคชนในขณะกำเก็บผ้าบังสุกุลในกองขยะแล้วนิพพาน

๗๒.พระพากุลเถระ
๑.สถานะเดิม
              พระพากุลเถระ  นามเดิม  พากุล  แปลว่า  คนสองตระกูล บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี
๒.ชีวิตก่อนบวช
          เมื่อพระพากุละเกิดได้ ๕ วัน มีการทำมงคล โกนผมไฟและตั้งชื่อ พี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำคงคา ปลาได้กินทารกนั้น แล้วแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ ทางศาสนาเรียก ปัจฉิมภวิกสัตว์ แปลว่า ผู้เกิดในภพสุดท้าย ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ปลานั้นว่ายไปตามแม่น้ำ ไปติดข่ายของชาวประมงในพระนครพาราณสี ชาวประมงนั้นจึงนำเอาปลานั้นไปขาย ในที่สุดเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ได้ซื้อเอาไว้ เมื่อแหวะท้องปลา ก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่ เพราะเศรษฐีนั้นไม่มีบุตรและธิดา จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมาก ได้เลี้ยงดูไว้อย่างดี
ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาเดิมได้ทราบเรื่องนั้น จึงไปยังบ้านของเศรษฐีชาวพาราณสี พบเด็กจำได้ว่าเป็นลูกของตน จึงได้ขอคืน แต่เศรษฐีชาวพาราณสีไม่ยอม เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงเด็กนั้นคนละ ๔ เดือน เด็กนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยลำดับ
๓.มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดา เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลเศรษฐีพร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเฝ้า แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระศาสดาทรงประทานให้ตามประสงค์
๔.การบรรลุธรรม
              พระพากุละ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจรับฟังพระโอวาทจากพระศาสดา  ไม่ประมาท พากเพียรภาวนา เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์


๕.งานประกาศพระศาสนา
              พระพากุลเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็น พระเถระผู้ใหญ่  ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนที่สุด บวชเมื่ออายุ ๘๐ ปี เป็นพระอีก ๘๐ พรรษา ตามนี้ท่านจึงต้องมีอายุ ๑๖๐ ปี ตำนานกล่าวว่า ท่านไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะท่านได้สร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทาน ท่านเป็นพระรูปหนึ่งในจำนวน ๕๐๐ รูป ที่เข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
๖.เอตทัคคะ
              เพราะพระพากุลเถระ เป็นผู้ที่มีโรคน้อย และมีอายุยืนดังกล่าวมา พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย
๗.บุญญาธิการ
              แม้พระพากุลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย อยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลอันจะอำนวยผลให้เป็นเช่นนั้น แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสำเร็จสมปณิธานในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม  และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘.ธรรมวาทะ
              ผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง ย่อมทำลายเหตุแห่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง  บุคคลพูดอย่างไรพึงทำอย่างนั้น อย่าเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง เพราะบุคคลผู้พูดอย่างทำอย่าง  ผู้รู้ย่อมดูหมิ่นได้  พระนิพพานอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี คือ กิเลส  เกษม ไม่ถูกกิเลสรบกวนดับความทุกข์ทั้งสิ้น  เป็นสุขที่แท้จริง
๙.นิพพาน
              พระพากุลเถระ ครั้นได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และชาวโลกจนถึงอายุขัยของท่าน แล้วได้ นิพพานจากไป ตามตำนานกล่าวว่า ก่อนนิพพานท่านได้เข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์  เมื่อนิพพานแล้วไฟได้ไหม้สรีระร่าง ของท่านหมดไป ณ ที่นั้นเอง

๗๓.พระทัพพมัลลบุตร
เป็นราชโอรสของพระราชเทวีเป็นผู้อัครมเหสีของพระเจ้ามัลลราชเดินชื่อว่า ทัพราชกุมารอาศัยที่เป็นราชบุตรของของพระเจ้ามัลละ   จึงมีคำลงท้ายว่ามัลละบุตร   เมื่อประสูติมาถึงพระชนมายุได้ 16 พรรษาได้ทูลอ้อนวอนขออนุญาตพระราชมารดาบวชได้รับอนุญาตแล้วจึงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระบรมศาสดาท่านได้บรรลุอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ เมื่อขณะมีดโกนจรดที่พระเศียร เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ก็ได้อุปสมบท ท่านเอาใจใส่ในกิจของสงฆ์เป็นอย่างดี
ครั้งครั้งหนึ่งดำริว่าเราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ควรจะรับภาวะธุระสงฆ์  จึงได้กราบทูลให้พระบรมศาสดา ทรง พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่า สาธุ ดีละ แล้วตรัสให้สงฆ์ สมมติท่านเป็นภัตตุเทสกะ (แจกกิจนิมนต์ ) และเสนาสนคาหาปกะ (มีหน้าที่จัดที่ให้อยู่) ท่านตั้งใจทำกิจในหน้าที่ อย่างเรียบร้อย และฉลาดในการจัดแจงปูลากด อาสนะ จึงได้รับยกย่องว่า
เอตทัคคะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ตกแต่งปูลาดเสนาสนะ
นิพพาน
ต่อมาท่านพิจารณาถึงอายุสังขารเห็นควรปรินิพพาน ได้แล้ว จึงกราบทูลลาพระพุทธองค์กระทำประทักษิณแสดงอิทธิปากฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้าเตโชสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วก็ปรินิพพาน ณ ท่านกลางอากาศ นั้นเอง

๗๔. พระอุทายีเถระ
เป็นบุตรของใคร มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน  เข้ามาบวชเมื่อไร ที่ไหน ในสำนักของใครไม่ปรากฎ เรื่องราวของท่านมีดังนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม พระนครโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายี นั่งแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่หนึ่ง ซึ่งนั่งแวดล้อมท่านอยู่ ท่านพระอานนท์เห็นเข้าจึงเข้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบ พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์การแสดง แก่ผู้อื่นมิใช่เป็นของทำได้ง่ายเลย ผู้แสดงจะต้องมีธรรม อันเป็นองค์ธรรมของพระธรรมกถึก ๕ ประการไว้ในใจ  เรื่องนี้แสดงว่า ท่านพระอุทายีนั้น ตั้งอยู่ในอง๕ธรรม๕ ประการ พระธรรมเทศนาของท่านจึงเป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท นับว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถในการแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี ท่านดำรงอายุสังขารอยู่ตามกาลอันสมควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๗๕. พระอุปวาณเถระ
เป็นบุตรของใคร มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชเมื่อไรที่ไหน ในสำนักของใครไม่ปรากฏ เรื่องราวของท่านมีอยู่ว่าสมัยหนึ่ง ท่านพระอุปวาณะ และท่านพระสารีบุตรพำนักอาศัยอยู่ ณ โฆสิตาราม พระนครโกสัมพี เย็นวันหนึ่ง  ท่านพระสารีบุตรเที่ยวเดินอยู่ได้เข้าไปหาท่านพระอุปวาณะแล้วนั่งสนทนาปราศรัยกันพอให้เกิดร่าเริงใจ แล้วจึงกล่าวถามเกี่ยวกับเรื่องโพชฌงค์ ๗ ประการ ท่านพระอุปวาณเถระ นี้เคยเป็นพุทธอุปัฎฐาก ดังมีเรื่องปรากฏว่า ในตอนใกล้จะปรินิพพานของพระบรมศาสดา ท่านได้ยืนถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์ ท่านดำรงอยู่ตามกาลอันสมควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๗๖.พระเมฆิยเถระ
เป็นบุตรใคร มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชเมื่อไร ที่ไหน ในสำนักของใคร ไม่ปรากฏ ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฎฐากองค์หนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ จาลกบรรพต ในกรุงจาลิกา มีท่านเมฆิยะ เป็นผู้อุปัฏฐาก วันหนึ่งท่านทูลลาไปบิณฑบาตในชันตุคาม เมื่อกลับเดินเล่นมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิริกาฬา ได้เห็นสวนมะม่วง อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะทำความเพียร ณ ที่สวนนั้น  ครั้นกลับมาแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลลา พระองค์ตรัสห้ามถึง  ๓ ครั้ง ก็ไม่ฟัง ลุกขึ้นถวายบังคมแล้วกลับไป ณ ที่นั้น แต่บำเพ็ญเพียรหาสำเร็จมรรคผล ประการใดไม่ เพราะถูกวิตกทั้ง ๓ ประการครอบงำ จึงกลับมากราบทูล เนื้อความให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสบอกวิธีระงับวิตกให้ โดยอเนกปริยาย ท่านตั้งอยู่ในพระโอวาท ไม่ประมาท อุตสาห์บำเพ็ญเพียรก็ได้บรรลุอรหัตผล นับว่าเป้นพระอริยสาวกผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านดำรงอยู่ตามกาลอันสมควรก็ดับขันปรินิพพาน

๗๗.  พระนาคิตเถระ
เป็นบุตรของใคร มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร ในสำนักของใครไม่ปรากฏ ท่านเคยเป็นพุทธอุปัฏฐาก องค์หนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปยังโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หนึ่งบรรลุถึงบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า อิจฉานังคละ พวกพราหมณ์ และคฤหบดีทราบข่าวได้นำของเคี้ยวของฉันเป็นอันมาก พร้อมกันมาเผฝ้า ส่งเสียงดังอึงคนึง อยู่ที่นอกซุ้มประตู ครั้งนั้น พระนาคิตเถระเป็นพุทธอุปัฎฐาก พระองค์ทรงสดับ เสียงนั้น แล้วจึง ตรัสถาม เมื่อพระนาคิตะ กราบทูลให้ทราบ จึงตรัสว่า ตถาคตไม่ต้องการสมาคมด้วยยศต้องการแต่ความสงวัดความวิเวก แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของภิกษุผู้มีความมักน้อย เที่ยวอยู่ในป่า ยินดีเสนาสนะเงียบสงัด ท่านพระนาคิตนั้นนับเป็นอริยสาวก ผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านดำรงเบญจขันธ์อยู่กาลอันสมควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๗๘.พระสภิยเถระ
เป็นบุตรของใคร มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏ ปรากฏว่า เป็นปริพาชก ชื่อสภิยะ มีเทวดาตนหนึ่งที่เคยเป็นญาติสาโลหิตกันมาแต่ชาติก่อน ได้ผูกปัญหาให้แล้วสั่งว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้ใดแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักผู้นั้น สภิยปริพาชก เที่ยวถามปัญหาเหล่านี้ได้  ซ้ำยังพูดเยาะเย้ยเสียอีก จึงหวนคิดถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็สงสัยว่าครูทั้ง ๖ เป็นผู้เฒ่า บวชมานาน ยังตอบไม่ได้ ไฉนสมณโคดมยังเด็กอยู่ทั้ง ยังบวชไม่นานจะตอบได้หรือ แต่ก็กลับคิดว่า พระสมณโคดม ถึงยังเด็กก็จริง แต่มีฤทธิ์อานุภาพมาก จึงได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร  กราบทูลถามปัญหาหลายหมวดหลายตอน พระองค์แก้ได้หมด เมื่อจบปัญหาพยากรณ์สภิยะเลื่อมใส ทูลขออุปสมบท พระองค์รับสั่งให้อยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือน เพราะเป็นเดียรถีย์ เมื่ออยู่ครบกำหนดแล้ว จึงได้บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว หลีกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท อุตสาห์บำเพ็ญเพียร ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผล นับว่าท่านเป็นพระอริยสาวกผู้ใหญ่องค์หนึ่ง เมื่อดำรงอยู่ตามกาลอันสมควรก็ดับ ขันธปรินิพพาน

๗๙. พระเสลเถระ
               เป็นบุตรใคร มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน  ไม่ปรากฏ ทราบแน่ว่า เป็นพราหมณ์ชื่อ  เสลพราหมณ์ เรียนจบไตรเพทอย่างชำนิชำนาญ  เป็นคณาจารย์ ใหญ่บอกไตรเพทแก่ศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒๕๐ อง์ เสด็จจาริกไปยังอังคุตตราปชนบท
จึงเข้าไปเฝ้าได้ฟังธรรมิกถา เกิดความเลื่อมใส ได้ทูลนิมนต์ พระองค์พร้อมทั้ง ภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงเสวยในวันรุ่งขึ้น พระองค์รับสั่งว่า เกณิยะ ภิกษุก็มามีถึง  ๑๒๕๐ อง๕  และท่านก็เลื่อมใสในลัทธิ ของพราหมณ์ ด้วย เกณิยชฎิล ทูลอ้อนวอนนิมนต์ยืนยันถึง  ๓ ครั้ง เมื่อทราบว่าพระองค์รับ  จึงทูลลากลับมาบอกญาติมิตรสหายให้ช่วยกันตระเตรียมและจัดแจงของที่จะถวายในวันรุ่งขึ้น ส่วนเสลพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของเกณิยชฎิล พร้อมด้วย มาณพผู้เป็นศิษย์  ๒๐๐ คน เที่ยวเดินเล่นผ่านไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล เห็นเขากำลัง จัดแจงโรงฉันอยู่จึงไต่ถามทราบความแล้ว มีความประสงค์จะเห็นพระพุทธองค์ว่าจะสมบูรณ์ด้วย มหาปุริสสลักษณะจริงหรือไม่ จึงถามว่า พระสมณโคดม ประทับอยู่ ณ ที่ไหน เมื่อทราบแล้ว จึงพาศิษย์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา สนทนาปราศรัย ไปพลางตรวจดู มหาปุริสลักษณะ ไปพลาง เห็นครบบริบูรณ์ทุกอย่างจงเปล่งวาจาชมเชยด้วยความเลื่อมใสแล้ว พร้อมกับบริวารทูลขอบวช เมื่อบวชแล้ว ท่านพร้อมกับบริวารหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียร สมณธรรม ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านนับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่ตามสมควรก็ดับขันธปรินิพพาน

๘๐.พระมหาปรันตปเถะ
      พระมหาปรันตปเถระ เป็นบุตรของใคร มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เข้ามาบวชเมื่อไร ที่ไหน ในสำนักของใคร ละบวชแล้วได้ทำอะไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏแต่เป็นที่ทราบว่า ท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง นับเนื่องในพระอริยสาวกผู้ใหญ่ เมื่อดำรงอยู่ตามกาลอันสมควร ก็ดับขันธปรินิพพาน


วิชา ศาสนพิธี  นักธรรมโท

ศาสนพิธี  หมายถึง พิธี,แบบอย่าง หรือแบบแผนที่พึงปฏิบัติในศาสนา บรรดาศาสนาต่างๆ ในโลกมีพิธีปฏิบัติเป็นการเฉพาะตนอยู่สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็มีการปฏิบัติในพิธีกรรมทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นในฐานะที่เป็นชาวพุทธควรศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการและระเบียบแบบแผนที่ท่านผู้รู้ได้วางไว้

ศาสนพิธีในชั้นนี้ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ
                             ๑. หมวดกุศลพิธี          ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
                             ๒. หมวดบุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ
                             ๓. หมวดทานพิธี          ว่าด้วยพิธีถวายทาน
                             ๔. หมวดปกิณณกะ       ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด

๑.   กุศลพิธี
          กุศล  แปลว่า ความฉลาด,สิ่งที่ตัดความชั่ว  หมายถึง พิธีการทำความดี กุศลพิธีนี้ว่าด้วยการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในพิธีกรรมวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้
๑.๑ พิธีเข้าพรรษา
การเข้าพรรษา  หมายถึง การอยู่ประจำที่ของพระสงฆ์ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ซึ่งเป็นธรรมเนียมทางพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
          ระยะกาลเข้าพรรษาของพระภิกษุ มี ๒ ครั้ง  คือ
            ๑.  ปุริมพรรษา คือการเข้าจำพรรษาแรก กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ 
            ๒.  ปัจฉิมพรรษา คือการเข้าจำพรรษาหลัง  กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
          โดยมากพระสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมเข้าปุริมพรรษา   พอถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในวัดทั้งหมดลงประชุมกันในอุโบสถ  นั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามลำดับอาวุโสพรรษา  เมื่อพร้อมกันแล้วพึงทำกิจไปตามลำดับ 
การประกาศวัสสูปนายิกา
คือ การชี้แจงให้พระภิกษุและสามเณรทั้งมวลได้ทราบถึงระเบียบปฏิบัต ในการจำพรรษา มีสาระสำคัญที่ควรประกาศให้ทราบ คือ ๑. บอกให้ทราบเรื่องการจำพรรษา 
           ๒. แสดงเรื่องที่มาในบาลีวัสสูปนายิกขันธกะโดยใจความ  
          ๓. บอกเขตของวัดที่ภิกษุจะต้องรักษาพรรษา  หรือ รักษาอรุณให้ชัดเจน        
          ๔. บอกเรื่องการถือเสนาสนะให้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร  
          ๕. บอกกติกาในการจำพรรษานอกจากนี้ (ถ้ามี)
การทำสามีจิกรรม
เป็นการแสดงออกถึงความเคารพกันระหว่างพระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อย เป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีของหมู่คณะ  และเป็นหน้าที่ที่พระภิกษุสามเณรต้องทำตามพระวินัย 
การอธิษฐานเข้าพรรษา
เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว พระภิกษุสามเณรนั่งคุกเข่า หันหน้าเข้าหาพระประธาน กราบลงพร้อมกัน ๓ ครั้ง จากนั้นเจ้าอาวาสหรือพระเถระผู้เป็นประธานกล่าวนำว่า นะโม ฯ พร้อมกัน ๓ จบ แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา      
หลังจากกล่าวจบแล้ว ให้กราบลง ๓ หน แล้วเจริญพระพุทธมนต์ตามสมควร
๑.๒ พิธีถือนิสสัย
          เป็นธรรมเนียมในพระวินัย ที่ภิกษุผู้ยังอยู่ในเกณฑ์เป็นพระนวกะ  แปลว่าผู้ใหม่  กล่าวคือ มีพรรษายังไม่พ้น ๕ หรือพ้น ๕ แล้ว แต่ยังไม่สามารถรักษาตนด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ถูกต้องดี  หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังไม่มีความรู้ว่าอะไรควรไม่ควรแก่ภาวะของตน จำเป็นจะต้องถือนิสสัย คือ อยู่ในการปกครองดูแลของพระผู้ใหญ่ในวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ตนอาศัยอยู่
๑.๓ พิธีทำสามีจิกรรม
          เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่ภิกษุสามเณรจะพึงทำความชอบต่อกันเพื่อความสมานสามัคคีกันอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข การทำความชอบต่อกันนี้ เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึง การแสดงความเคารพ การขอขมาโทษกัน การให้อภัยกัน มักจะทำในโอกาสต่าง ๆ คือ
๑.  ในวันเข้าพรรษา        
๒. ในวันก่อนและหลังเข้าพรรษา ๗  วัน   
๓.  ในโอกาสที่จะไปอยู่วัดอื่นหรือที่อื่น
สามีจิกรรม  มีอยู่  ๒  แบบ  คือ
๑. การทำสามีจิกรรมแบบขอขมาโทษ    
๒. การทำสามีจิกรรมแบบถวายสักการะ
๑.๔ พิธีทำวัตรสวดมนต์
          การทำวัตร หมายถึง การทำกิจวัตรของพระภิกษุ สามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำกิจที่จะต้องทำเป็นประจำจนเกิดเป็นวัตรปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า ทำวัตรในแต่ละวันมีการทำวัตร ๒ เวลา คือ เช้ากับเย็น
พิธีการทำวัตรสวดมนต์ นั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
          ๑. พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับพระภิกษุสามเณร      
๒. พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับอุบาสกอุบาสิกา   
๓. พิธีสวดมนต์ไหว้พระสำหรับนักเรียน
            การสวดมนต์ หมายถึง การสาธยายบทพระพุทธมนต์ต่างๆ ที่เป็นส่วนของพระสูตรก็มีที่เป็นส่วนของพระปริตรก็มีที่เป็นส่วนเฉพาะคาถาอันนิยมกำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำนอกเหนือจากบทสวดทำวัตรก็มี  เมื่อเรียกรวมการสวดทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ก็เรียกว่า ทำวัตรสวดมนต์
          จุดมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์นี้ บัณฑิตถือว่าเป็นอุบายสงบจิตไม่ให้คิดวุ่นวายไปตามอารมณ์ได้ชั่วขณะที่ทำการสวดมนต์ เมื่อทำเป็นประจำ วันละ ๒ เวลา ทั้งเช้าและเย็น เวลาประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างน้อย ก็เท่ากับได้ใช้เวลาสงบจิตได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๒๔ ชั่วโมง จิตใจที่ได้สงบแล้ว แม้เป็นเวลาเพียงเล็กน้อย ก็มีผลทำให้เยือกเย็นสุขุมไปหลายชั่วโมง เหมือนถ่านไฟที่ลุกโชน เมื่อจุ่มลงน้ำดับสนิทกว่าจะติดไฟลุกโชนขึ้นใหม่ได้ต้องใช้เวลานาน
๑.๕ พิธีกรรมวันธรรมสวนะ
          วันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม ที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่าวันพระเป็นประเพณีนิยมของพุทธบริษัทที่ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่า การฟังธรรมตามกาลที่กำหนดไว้เป็นประจำย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและสิริมงคลแก่ผู้ฟัง อย่างน้อยก็ได้รับธรรมสวนานิสงส์อยู่เสมอ วันกำหนดฟังธรรมนี้  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ๔ วัน ในเดือนหนึ่ง ๆ คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมโดยจันทรคติ วันทั้ง ๔ นี้จึงถือกันว่าเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปกติ และเป็นวันนิยมรักษาศีลอุโบสถสำหรับอุบาสกอุบาสิกาผู้ต้องการบำเพ็ญกุศลอีกด้วย
๑.๖ พิธีทำสังฆอุโบสถ
          สังฆอุโบสถ เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุทุกรูปต้องทำสังฆอุโบสถตามพุทธบัญญัติทุกกึ่งเดือน จะขาดมิได้  ยกเว้นมีเหตุจำเป็นที่มีพระบรมพุทธานุญาตไว้    
อุโบสถมี  ๓  ประเภท  คือ
๑.  สังฆอุโบสถ  คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุร่วมกัน ทำตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไป  
๒.  ปาริสุทธิอุโบสถ  คือ อุโบสถที่พระภิกษุต่ำกว่า  ๔  รูปร่วมกันทำ  
๓.  อธิษฐานอุโบสถ  คือ อุโบสถที่พระภิกษุอธิษฐานทำรูปเดียว
๑.๗ พิธีออกพรรษา
          ออกพรรษา เป็นคำเรียกที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึง กาลสิ้นสุดแห่งกำหนดอยู่จำพรรษาของพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ
          มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะเรียกโดยภาษาพระวินัยว่า ปวารณากรรม คือ การทำปวารณาของพระภิกษุผู้อยู่ร่วมกันมาตลอด ๓ เดือน บัญญัติให้พระสงฆ์ทำปวารณา คือ ยินดีให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกกรณี ไม่ต้องเกรงกันว่า เป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย เมื่อใครมีข้อข้องใจใครในเรื่องการรักษาพระวินัยแล้ว ไม่พึงนิ่งไว้ พึงเปิดเผยชี้แจงกันได้ และในการว่ากล่าวตักเตือนกันตามที่ปวารณานี้ จะถือมาเป็นโทษขุ่นแค้นกันไม่ได้เลย  

๒.   บุญพิธี
          บุญพิธี  หมายถึง พิธีการทำบุญทั่ว ๆ ไป หรือในวันสำคัญต่าง ๆ ของพุทธศาสนิกชน    
พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
๒.๑ พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
 คือ การทำบุญเพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก
          วันเทโวโรหณะ หมายถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกหลังจากที่เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อตรัสพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาจนครบ ๓ เดือนพอออกพรรษาแล้วก็เสด็จกลับมามนุษยโลกโดยเสด็จลงมาทางบันไดแก้วที่ประตูเมืองสังกัสสนคร วันเสด็จลงจาก เทวโลกนั้นตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑(วันมหาปวารณา)ถือเป็นวันบุญวันกุศลของพุทธบริษัท
          วันนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก    เช้าวันรุ่งขึ้นตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจำนวนมากจึงพร้อมใจกันตักบาตรแด่พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ด้วยภัตตาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง (อาหารแห้ง) ของตนๆ ผู้ที่เข้าไม่ถึงจึงเอาข้าวสาลีห่อเป็นมัดๆ บ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้าง แล้วโยนลงในบาตร จุดนี้เองจึงเป็นเหตุนิยมทำข้าวต้มลูกโยนในการตักบาตรเทโวโรหณะในภายหลัง จนกลายเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงบัดนี้
๒.๒ การเจริญพระพุทธมนต์
หมายถึง การที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งร่วมกันสาธยายมนต์ในพิธีต่าง ๆ งานมงคล เช่น งานทำบุญวันเกิด ทำบุญแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์
๒.๓ การสวดพระพุทธมนต์
ก็คือ การที่พระสงฆ์สวดมนต์ในงานอวมงคลหรืองานปรารภเหตุเกี่ยวกับการตาย   เป็นงานทำบุญหน้าศพ ซึ่งงานอวมงคลนี้ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ  
          ๑.  งานทำบุญหน้าศพ  เป็นการทำบุญในขณะที่ยังตั้งศพอยู่ ยังไม่ได้เผา มี ๔ ลักษณะ  คือ
            ๑.๑  งานทำบุญสัตตมวาร คือ การทำบุญ ๗ วัน
          ๑.๒  ทักษิณานุประทาน  คือ การทำบุญก่อนครบ  ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน
          ๑.๓  การทำบุญครบ ๕๐  วัน หรือ ๑๐๐ วัน
          ๑.๔  การทำบุญเปิดศพก่อนทำพิธีฌาปนกิจ
       ๒.  งานทำบุญอัฐิ  เป็นการทำบุญภายหลังจากที่ทำการฌาปนกิจศพแล้ว
            ๒.๑  การทำบุญฉลองอัฐิที่นำมาไว้ที่บ้านหรือวัด
            ๒.๒  การทำบุญ  ๗  วัน  หลังจากวันฌาปนกิจ
          ๒.๓  การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายครบรอบ  ๑  ปี

๒.๔ พิธีสวดพระอภิธรรม
          งานทำบุญเกี่ยวกับศพ นับตั้งแต่มีการมรณกรรมเกิดขึ้นถึงวันปลงศพด้วยวิธีฌาปนกิจ ซึ่งญาติของผู้มรณะจัดขึ้น และมักนิยมจัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมประกอบงานทำบุญศพนั้นด้วย พิธีสวดพระอภิธรรมนี้มี ๒ อย่าง คือ สวดหน้าศพอย่างหนึ่ง สวดหน้าไฟ อย่างหนึ่ง
๒.๕ พิธีการสวดมาติกา
คือ การสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือที่เรียกว่า สัตตัปปกรณาภิธรรม  ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นพิธีสุดท้าย เป็นประเพณีที่นิยมจัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพมี๒  ประเภท คือ
          ๑. สวดในงานหลวง เรียกว่า สดับปกรณ์
          ๒. สวดในงานราษฎร์ธรรมดาทั่วไป เรียกว่า สวดมาติกา
          โดยจัดเป็นพิธีต่อจากสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากสวดพระพุทธมนต์เย็นก็จัดพิธีสวดมาติกาต่อจากพิธีเทศน์ และจัดให้มีต่อจากพิธีถวายภัตตาหารพระในวันรุ่งขึ้นบ้าง จัดให้มีก่อนพิธีฌาปนกิจบ้าง นับว่าเป็นพิธีทำบุญแทรกอยู่ในงานทำบุญหน้าศพช่วงใดช่วงหนึ่ง จะจัดให้มีในช่วงระยะไหนก็แล้วแต่ความศรัทธาของเจ้าภาพ
๒.๖ พิธีการสวดแจง
ในงานฌาปนกิจศพมีประเพณีนิยมของ      จะมีเทศน์ธรรมาสน์เดียว หรือเทศน์ ๓ ธรรมาสน์โดยปุจฉาวิสัชนาก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของเจ้าภาพ            
๒.๗ พิธีสวดถวายพรพระ
ในงานทำบุญถวายภัตตาหารพระ ต่อเนื่องจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์หรือสวดพระพุทธมนต์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานวันเดียวหรือ ๒ วัน คือมีสวดมนต์เย็นก่อนหนึ่งวัน แล้วในตอนเช้าของวันใหม่ก็ถวายภัตตาหารพระ ก่อนจะถวายในตอนเช้านิยมสวดถวายพรพระเป็นพิธีสงฆ์
๒.๘ พิธีอนุโมทนากรณีต่างๆ
ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหารหรือทานวัตถุใดๆ ก็ตามจากทายกทายิกา จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตาม ต้องอนุโทนา ทุกครั้ง
๒.๙ พิธีมีพระธรรมเทศนา
ในการจัดงานที่มีพิธีต่างๆ บางครั้งจะจัดให้มีพระธรรมเทศนา หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า มีเทศน์ คือมีการแสดงพระธรรมเทศนาในที่ประชุมตามโอกาสอันสมควร ซึ่งถือว่าเป็นบุญพิธีที่นิยมจัดกันขึ้นมาก และเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ส่วนมากจะนิยมผนวกกันเข้าในโอกาสทำบุญงานต่างๆ มีทั้งในการทำบุญงานมงคลและอวมงคล เช่น งานฉลองครบรอบอายุ ฉลองพระบวชใหม่ และฉลองวัตถุมงคลต่างๆ การมีพระธรรมเทศนามี ๒ อย่าง คือ
            ๑) เทศน์แบบธรรมดา โดยผู้เทศน์แสดงรูปเดียว
          ๒) เทศน์แบบปุจฉาวิสัชนา โดยผู้เทศน์มีตั้งแต่ ๒ รูปขึ้นไป แสดงร่วมกันเป็นธรรมสากัจฉา
การเทศน์ที่นิยมทำกันมี ๔ ลักษณะ  ดังนี้
๑.      เทศน์ในงานทำบุญ คือ เทศน์ในงานมงคล เช่น งานฉลองพระบวชใหม่ เป็นต้น
. เทศน์ตามกาลนิยม คือ เทศน์ในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา             
. เทศน์พิเศษ คือเทศน์อบรมประชาชนเป็นหมู่คณะ
. เทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เวสสันดรชาดก






๓. ทานพิธี
๓.๑ พิธีถวายสังฆทาน
          สังฆทาน  คือ ทานที่ตั้งใจถวายแก่สงฆ์หรือผู้แทนของสงฆ์ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง หากถวายโดยเจาะจงเรียกว่า บุคลิกทาน  สังฆทานนั้นมีผลมากกว่าบุคลิกทาน  เพราะผู้ถวายมีจิตใจกว้างขวาง  ไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใด เป็นการแสดงถึงความตั้งใจจะถวายทานด้วยศรัทธาอันเป็นสาธารณะ  การถวายสังฆทานมีแบบแผนมาแต่ครั้งพุทธกาลแต่ในครั้งนั้นท่านแบ่งสังฆทานไว้ถึง ๗ ประการ  คือ
. ถวายแก่หมู่ภิกษุ และภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน           
. ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
. ถวายแก่หมู่ภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน   
. ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
. ถวายแก่หมู่ภิกษุ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน                      
. ถวายแก่หมู่ภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน          
. ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใครผู้ใดผู้หนึ่ง ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น
         
๓.๒ พิธีถวายสลากภัต
          สลากภัต คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก การถวายสลากภัต คือ  ทายกทายิกาจัดอาหารคาวหวานและผลไม้ประจำฤดูกาล นำไปรวมกันที่วัด
๓.๓ พิธีตักบาตรข้าวสาร
          การถวายข้าวสารเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นใน    ยุคหลัง เห็นจะเป็นที่นิยมของนักปราชญ์พวกหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าการถวายอาหารที่สุกแล้วเป็นของเก็บไว้ไม่ได้นาน ครั้นเวลามีบริบูรณ์ก็เหลือเฟือ แต่เวลาขาดแคลนก็ไม่พอ จึงคิดถวายสิ่งของประเภทข้าวสารที่เป็นของเก็บไว้ได้นานๆ
๓.๔ พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง
          การตักบาตรน้ำผึ้ง นับเข้าในเภสัชทาน เป็นกาลทาน ส่วนหนึ่งทำกันในสารทกาล ส่วนมากกำหนดทำในวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดย   พระบรมพุทธานุญาตมีปฐมเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล คือ ครั้งหนึ่งในระหว่างเดือน ๑๐ ภิกษุทั้งหลายมีกายชุ่มด้วยน้ำฝนเหยียบย่ำเปือกตม   เกิดอาพาธฉันจังหันอาเจียน กายซูบผอมเศร้าหมองลง   พระพุทธองค์ทรงทราบ  จึงทรงอนุญาตเภสัชทั้ง ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้ภิกษุรับและฉันได้ในเวลาวิกาล เพื่อระงับโรคและบำรุงกำลังจึงเป็นประเพณีที่ทายกทายิกานิยมถวายเภสัชทานขึ้นในกาลนี้มาจนถึงทุกวันนี้
๓.๕ พิธีถวายเสนาสนะ กุฎี วิหาร
          เสนาสนะ กุฎี วิหาร เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสามเณรที่สร้างไว้ในวัดมีกำหนดให้สร้างขึ้นเป็นของสงฆ์ ใครจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยเฉพาะไม่ได้ ถือเพียงอยู่อาศัยใช้สอยได้เฉพาะกาลเท่าที่สงฆ์มอบหมายเท่านั้น
๓.๖ พิธีถวายศาลาโรงธรรม
          ศาลาโรงธรรม คือ ศาลาที่แสดงธรรม หรือสวดพระธรรม ใช้เป็นที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน    พระธรรมวินัยเป็นต้นก็ได้  เพราะเหตุนี้เองในปัจจุบันจึงมักนิยมเรียกว่า ศาลาการเปรียญ
๓.๗ พิธีถวายผ้าวัสสิกสาฎก
          ผ้าวัสสิกสาฎก เป็นผ้าสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำ เรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าอาบภิกษุจะต้องแสวงหาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงวันเพ็ญเดือน ๘ แต่ทายกนิยมถวายกันเป็นหมู่ ๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน
          นางวิสาขาเป็นคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์จนกลายเป็นธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน
๓.๘ พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา
          ผ้าจำนำพรรษา เป็นผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ครบ ๓ เดือน มีกำหนดกาลสำหรับถวาย คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เท่านั้น   ซึ่งเป็นเขตจีวรกาล หากถวายเกินกำหนดนี้ไปไม่นับเป็นผาจำนำพรรษา
๓.๙ พิธีถวายผ้าอัจเจกจีวร
          ผ้าอัจเจกจีวร เป็นผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบด่วนถวายก่อนกำหนดกาล นิยมถวายก่อนวันออกพรรษา ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับได้ภายในกำหนด ๑๐ วัน ก่อนออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๑ พิธีการถวาย   ผ้าอัจเจกจีวรนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
๓.๑๐ พิธีถวายผ้าป่า
          ผ้าป่า หรือ ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ป่าช้าบ้าง การทอดผ้าป่านี้ ไม่กำหนดกาล ทอดได้ทุกฤดูกาล
๓.๑๑ พิธีถวายผ้ากฐิน
          ผ้ากฐิน คือ ผ้าที่ถวายตามกาล (กาลทาน) แก่ภิกษุผู้จำพรรษาครบไตรมาสแล้ว ภายในเขตกฐิน ๑ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  ซึ่งเรียกว่า กฐินกาล  คือ ระยะเวลาทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน
๓.๑๒ พิธีถวายธูปเทียนดอกไม้
          การถวายธูปเทียนดอกไม้ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปบูชาพระอีกต่อหนึ่ง โดย ทั่วไปนิยมถวายกันในวันเข้าพรรษา นิยมถวายกัน ๒ แบบ  คือ
          ๑. แบบถวายโดยประเคนทีละรูป  โดยไม่ต้องกล่าวคำถวาย และไม่ต้องอนุโมทนา
          ๒.  แบบนำมาตั้งต่อหน้าพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวาย และพระสงฆ์อนุโมทนา
๓.๑๓ พิธีลอยกระทงตามประทีป
          การลอยกระทงตามประทีป เพื่อบูชารอย  พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทา ในชมพูทวีป นิยมทำกันตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ลอยกันในวันเพ็ญเดือน ๑๒
๓.๑๔ พิธีถวายธงเพื่อบูชา
          ธงใช้สำหรับยกขึ้นเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งวัด ปัจจุบันนี้  เขียนกลางผืนธงเป็นรูปเสมาธรรมจักร เรียกว่า ธงธรรมจักร นิยมถวายธงยกขึ้นไว้หน้าวัด ในคราวที่วัดมีการ      ถวายผ้ากฐินเป็นต้น
๓.๑๕ พิธีถวายเวจกุฎี
          เวจกุฎี เป็นที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะของพระภิกษุสามเณร ได้แก่ห้องส้วม ในสมัยโบราณ เรียกว่า ถาน  มีวิธีในการถวายเหมือนพิธีถวายเสนาสนะ กุฎี วิหาร ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
๓.๑๖ พิธีถวายสะพาน
          สะพาน สำหรับใช้เดินข้ามลำธาร คลอง และคู การถวายจะประกอบขึ้นในสถานที่ตั้งสะพานนั้น หรือจะถวายที่ศาลาการเปรียญก็ได้ ถวายต่อหน้าพระสงฆ์เช่นเดียวกับการถวายเสนาสนะอื่น ๆ
          ทานทั้ง ๑๖ ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จัดเป็นสังฆทานมีพิธีการถวายที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง ทานบางอย่างกำหนดกาลที่จะถวาย บางอย่างไม่กำหนดกาลถวาย เมื่อสรุปแล้วก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน
๓.๑๗ พิธีถวายทานพิเศษ
          ทานพิธีพิเศษอีก ๕ อย่าง คือ
          . พิธีถวายปราสาทผึ้ง   
. พิธีถวายโรงอุโบสถ  
. พิธีถวายยานพาหนะ 
. พิธีถวายคัมภีร์พระไตรปิฎก 
. พิธีถวายคัมภีร์พระธรรม

๔. ปกิณกพิธี
วิธีสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน
          เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยศึกษาแก่นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้วางระเบียบว่าด้วยการสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียนที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ปรับปรุงให้รัดกุมเหมาะแก่เวลาที่ทางโรงเรียนจัดให้นักเรียนได้สวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ
วิธีไหว้ครูสำหรับนักเรียน
          การไหว้ครู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าเมื่อจะเริ่มกิจการใดๆ เช่น เริ่มศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น ต้องเริ่มไหว้ครูก่อน เรียกว่า ขึ้นครู เพื่อการงานที่ริเริ่มนั้นๆ จะสำเร็จด้วยดี ในเรื่องการเรียนหนังสือของโรงเรียนต่างๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการก็มิได้ทอดทิ้งประเพณีโบราณ ได้วางระเบียบปฏิบัติในการนี้ไว้เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน
วิธีจับด้ายสายสิญจน์
          การจับด้ายสายสิญจน์ ต้องจับเส้นสายสิญจน์สาวชักออกให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกัน จากด้ายในเข็ด ออกครั้งแรก ๓ เส้น ถ้าต้องการให้เป็นสายใหญ่ก็จับอีกครั้ง จะกลายเป็น ๙ เส้น ในงานมงคลใช้สายสิญจน์ ๙ เส้น
วิธีบังสุกุลเป็น
          การบังสุกุลเป็น หมายถึงบุญกิริยาที่เจ้าภาพประสงค์จะบริจาควัตถุเนื่องด้วยกายตน นิยมทำเมื่อป่วยหนัก ปกติไม่มีทอดผ้าเหมือนบังสุกุลศพ ใช้ผ้าขาวคลุมตัวคนป่วยหรือผู้ต้องการ  ใช้สายสิญจน์   ผูกผ้าขาวแล้วโยงไปให้พระสงฆ์บังสุกุล
วิธีบอกศักราช

          วิธีบอกศักราช คือ บอกวัน เดือน ปี ก่อนเริ่มเทศน์เพื่อให้พุทธบริษัททราบว่า เป็นวัน เดือน และปีอะไร บอกเป็นภาษาบาลีแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น