วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วิชา อนุพุทธประวัติ ธรรมศึกษาชั้นโท 2

๒๑.  ประวัติพระจูฬปันถกเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระจูฬปันถกเถระ  นามเดิมว่า  ปันถกะ  เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา  และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ  จึงมีชื่อว่า  จูฬปันถกะ
              บิดาเป็นคนวรรณะศูทร
              มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์  หรือไวศยะ
              เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์  แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก  เพราะบิดาและมารดายากจนมาก  แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย  ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า  ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น  เป็นความสุขชั้นสูงสุด
อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง  จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชาย
มาบวช  ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต  จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา
๓.  การบรรลุธรรม
              พระจูฬปันถกเถระนั้นครั้นบวชแล้ว พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บาท ใช้เวลา ๔ เดือนยังท่องไม่ได้ จึงถูกขับไล่ออกจากวัด  ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า รโชหรณํ  รโชหรณํ  (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไปสุดท้ายก็ดำเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านเกิดญาณว่า แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ จิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไป   จนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌาณแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
              พระจูฬปันถกเถระ  หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว  แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า  ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา  จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม  แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา  สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง  ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร  จิตใจแน่วแน่  ไม่ย่นย่อท้อถอย  ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้  เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่  แต่ควรคิดก่อนว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า
๕.  เอตทัคคะ
              พระจูฬปันถกเถระ  เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ  สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้และฉลาดในการพลิกแพลงจิต  ( จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้พลิกแพลงจิต
บุญญาธิการ
              แม้พระจูณปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน  จนในกาลแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตรกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต  ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  ได้ก่อสร้างบุญกุศล  สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระโคดม  จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร  มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ
๗.  ปรินิพพาน
              พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป  เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง

***********************************

๒๒.  ประวัติ พระโสณกุฎิกัณณเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระโสณกุฎิกัณณเถระ  นามเดิม  โสณะ  แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ  จึงมีคำต่อท้ายว่า  กุฏิกัณณะ
              มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อ กาฬี  เป็นพระโสดาบัน  ผู้ถวายความอุปภัมภ์บำรุงพระมหากัจจายนเถระ
              เกิดในตระกูลคหบดีในเมืองกุรุรฆระ  แคว้นอวันตี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เพราะมารดาท่านเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ  เวลาที่พระเถระมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะ  จึงได้นำเด็กชายโสณะไปวัดด้วย  จึงทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคย
กับพระเถระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  ต่อมาครั้นเจริญวัยมีศรัทธาใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนาจึงขอบรรพชาอุปสมบทกับพระเถระ  ๆ  อธิบายให้ฟังว่า  การบวชนั้นมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไร  แต่เขาก็ยืนยันจะบวชให้ได้  พระเถระจึงบวชให้ได้แค่เป็นสามเณร เพราะในอวันตีชนบทหาพระครบองค์สงฆ์  ๑๐  องค์ไม่ได้  ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่  ๓  ปี  จึงได้พระครบ  ๑๐  องค์  แล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ  ครั้นบวชแล้ว  ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌาย์พากเพียรบำเพ็ญภาวนาในไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตผล
๓.  งานประกาศพระศาสนา
              ครั้งหนึ่ง  โยมมารดาของท่านทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าสดับได้ปลื้มปิติใจ  จึงนิมนต์ให้แสดงธรรมให้ฟังบ้าง  ท่านก็ได้แสดงให้ฟังตามอาราธนา  โยมมารดาเลื่อมใสตั้งใจฟังอย่างดี  แต่ในขณะฟังธรรมอยู่นั้น  พวกโจรเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้าน  คนใช้มารายงาน  ท่านก็ไม่มีความเสียดาย  บอกว่าโจรต้องการอะไร  ก็ให้ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด  ส่วนเราจะฟังธรรมของพระลูกชาย  พวกท่านอย่าทำอันตรายต่อการฟังธรรมเลย
              พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้  รู้สึกสลดใจว่าเราได้ทำร้ายผู้มีคุณธรรมสูงส่งถึงเพียงนี้  เป็นความไม่ดีเลย  จึงพากันไปยังวัด  เมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง  ได้เข้าไปหาโยมมารดาของท่านขอขมาโทษแล้วขอบวชในสำนักของพระเถระ ๆ  ก็บวชให้พวกเขาตามประสงค์
๔.  เอตทัคคะ
              พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้มีความสามารถในการแสดงธรรมแบบสรภัญญะ  ด้วยเสียงอันไพเราะต่อพระพักตร์ของพระศาสดา  ดังนั้น  ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
๕.  บุญญาธิการ                           
              แม้พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ จึงปรารถนาฐานันดรเช่นนั้นบ้าง แล้วได้ก่อสร้างความดีที่สามารถสนับสนุนค้ำจุนความปรารถนานั้น  อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมดังใจสมัยแห่งพระพุทธโคดม  จึงสร้างสมบารมีอีกหลายพุทธันดร  จนถึงชาติสุดท้ายมาได้สมปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลาย สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ


๖.  ปรินิพพาน                            
              พระโสณกุฏิกัณณเถระนี้ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย เมื่ออยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในที่สุดก็ปรินิพพานดับเบญจขันธ์หยุดการหมุนเวียนแห่งกิเลสกรรมและวิบากอย่างสิ้นเชิง

*****************************

๒๓.  ประวัติ พระลกุณฎกภัททิยะ

๑.  สถานะเดิม
              พระลกุณฏกภัททิยะ  นามเดิม  ภัททิยะ  แต่เพราะร่างกายของเขาเตี้ยและเล็กจึงเรียกว่า  ลกุณฏกภัททิยะ
              เป็นคนวรรณะแพศย์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทะศาสนา
              เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน ลกุณฏกภัททิยะเติบโตแล้วได้ไปยังวิหารฟังธรรมเทศนา  เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา  จึงทูลขอบวชกับพระศาสดา  ซึ่งก็ทรงบวชให้ตามประสงค์
              เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐาน  พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนา  ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล
๓.  เอตทัคคะ
              พระลกุณฏกภัททิยะนี้  เป็นผู้มีเสียงไพเราะ  เพราะเหตุนั้น  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงอันไพเราะ
๔.  บุญญาธิการ
              แม้พระลกุณฏกทภัททิยะเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาช้านาน  ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ  จึงเกิดกุศลฉันทะว่า  ไฉนหนอ  ในอนาคตกาลเราพึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะเหมือนภิกษุรูปนี้บ้าง  ในศาสนาของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง  แล้วได้ทำบุญต่าง ๆ  มากมาย และได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาอย่างนั้น  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่าโคดม  จึงได้สร้างความดีตลอดมาแล้วได้สมปรารถนาตามประสงค์  ดังคำของพุทธองค์ทุกประการ
๕.  ธรรมวาทะ
              คนบางพวกเขารื่นเริงกันด้วยเสียงตะโพน  พิณ  และบัณเฑาะว์  ส่วนเรายินดีในพระพุทธศาสนา  จึงรื่นรมย์อยู่ที่โคนต้นไม้
               ถ้าพระพุทธองค์  จะทรงประทานพรแก่เรา  และเราก็สามารถได้พรนั้นสมมโนรถ  เราจะเลือกเอาพรว่า  ขอให้ชาวโลกทั้งหมดเจริญกายคตาสติกัน
๖.  ปรินิพพาน
              พระลกุณฏกภัททิยะ  ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกตามสมควรแก่เวลา  ก็
ได้ปรินิพพานหยุดการหมุนเวียนของวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง

******************************

๒๔ประวัติ  พระสุภูติเถระ

สถานะเดิม
              พระสุภูติเถระ นามเดิม  สุภูติ  เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรือง  (ผุดผ่องอย่างยิ่ง
              บิดานามว่า  สุมนเศรษฐี  ชาวเมืองสาวัตถี
              เกิดที่เมืองสาวัตถี  เป็นคนวรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์  เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา  อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์  ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา  จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวันแล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก  จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถี  ได้สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
              ในวันฉลองมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา  เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช  พระศาสดาจึงบวชให้ตามประสงค์

              เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน  ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน  บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า  เจริญวิปัสสนากรรมฐานทำเมตตาฌานให้เป็นบาท  แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน
๓.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว  ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น  คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม  ( กำหนด ) ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้  ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร  เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต  ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต  ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน  ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต  ทำอย่างนี้ทุก  ๆ เรือน  ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก  ประกอบร่างกายของท่านสง่างามและผิวพรรณผุดผ่อง  จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก
๔.  เอตทัคคะ
              พระสุภูติเถระ  อยู่อย่างไม่มีกิเลส  แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร  จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา  แม้ขณะไปเที่ยวบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้  พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล
๕.  บุญญาธิการ
              แม้พระสุภูติเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ  อรณวิหาร  ( รณ  แปลว่า  กิเลส การอยู่อย่างไม่มีกิเลส  และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมายแล้วได้ตั้งความปรารถนา  พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอน  จึงทรงพยากรณ์ว่า  จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม  ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา
๖.  ธรรมวาทะ
              ควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้
              ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
              ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
              ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา
๗.  ปรินิพพาน
              พระสุภูติเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน  สุดท้ายได้  ดับขันธปรินิพพาน  เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้
๒๕.  ประวัติ  พระกังขาเรวตเถระ

๑  สถานะเดิม
              พระกังขาเรวตเถระ  นามเดิม  เรวตะ  แต่เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ  ( สมควร )  มากเป็นพิเศษจึงได้รับขนานนามว่า  กังขาเรวตะ  แปลว่า  เรวตะผู้มีความสงสัย
              เป็นชาวสาวัตถี  วรรณะแพศย์
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนา  ส่วนมากจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีเป็นเวลาถึง  ๒๕  พรรษา  ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน  วันหนึ่งเรวตะได้ไปยังพระเชตวันพร้อมกับมหาชน ยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรมกถาของพระทศพล เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระศาสดาทรงบวชให้เขาตามปรารถนา
              ครั้นได้บวชแล้ว  ทูลขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน  ทำบริกรรมในฌาน  ครั้นได้ฌานแล้ว  ทำฌานนั้นให้เป็นบาท  เจริญวิปัสสนาพิจารณาฌานนั้น  ว่าเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นความสุขอันเกิดจากฌานนั้น  ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  ซึ่งเป็นผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๓.  เอตทัคคะ
              เพราะพระกังขาเรวตเถระ  เป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน  พระศาสดาจึงทรงถือเอาคุณข้อนี้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
๔.  บุญญาธิการ
              แม้พระกังขาเรวตเถระนี้  ก็ได้สร้างความดีที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน จึงได้บำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่แล้วตั้งความปรารถนาโดยมีพระศาสดาเป็นพยานว่า  ที่ทำบุญนี้ข้าพระองค์มิได้ประสงค์สมบัติอื่น  หวังจะได้ตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ยินดีในการเข้าฌาน  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายหน้า  พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา  จึงได้พยากรณ์ว่าจะสำเร็จในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม  และเขาก็ได้สมปรารถนาตามพระพุทธวาจาทุกประการ
๕.  ปรินิพพาน
              พระกังขาเรวตเถระ  ถึงแม้จะเชี่ยวชาญเรื่องเข้าฌาน ก็หนีมัจจุมารไม่พ้น  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานเหลือเพียงชื่อไว้ในตำนานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา
๒๖ประวัติ  พระโกณฑธานเถระ

สถานะเดิม
              พระโกณฑธานเถระ  นามเดิม  ธานะ  ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านเพราะผลบาปในชาติก่อน  ภิกษุและสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อ
ท่านเพิ่มว่า  กุณฑธานะ  ธานะชั่ว )
              เป็นคนวรรณะพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย  เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำ เกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา  จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์  ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา  ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว  เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน  เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี  เข้าบ้านเช่นไปบิณฑบาตก็ดี  จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ  แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ  และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย  เวลาคนใส่บาตบางคนก็บอกว่า  ส่วนนี้ของท่าน  ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย
              พระภิกษุและสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ  วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน  พูดเยาะเย้ยว่า  พระธานะเป็นคนชั่ว  ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า  พวกท่านก็เป็นคนชั่ว  ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า ๆ  ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า  เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ  เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า  ย่อมด่าตอบเธอบ้าง  จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป    (สุดท้าย)  ก็มีการทำร้ายกัน
              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก  ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง  โดยมีพระะเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน  ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง  เป็นเรื่องเวรกรรมของท่าน ๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา  เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา  ๖
๓.  เอตทัคคะ
              พระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์  ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ  พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน
๔.  ธรรมวาทะ
              ผู้เห็นภัย
              ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า  ๕  อย่าง  ( สังโยชน์เบื้องต้น  ๕ )
              แก้บ่วงผูกคอ  ๕  อย่าง  (  สังโยชน์เบื้องสูง  ๕  ) 
              เจริญธรรม  ๕  อย่าง  (  สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา )
              พ้นกิเลสเครื่องข้อง  ๕  อย่าง  (  ราคะ  โทสะ  โมหะ  มานะ  ทิฏฐิ  )
              ท่านเรียกว่า  ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส
๕.  ปรินิพพาน
              พระโกณฑธานเถระ  ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา  ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย  แล้วดับขันธปรินิพพาน  เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป

*******************************

๒๗.  ประวัติ  พระวังคีสเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระวังคีสเถระ  นามเดิม  วังคีสะ  เพราะเกิดในวังคชนบท  และเพราะ
เป็นใหญ่ในถ้อยคำ
              บิดาเป็นพราหมณ์  ไม่ปรากฏนาม
              มารดาเป็นปริพาชิกา  ไม่ปรากฏนาม  ทั้ง  ๒  เป็นคนวรรณะพราหมณ์ 
              เกิดที่วังคชนบท  เมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              วังคีสมานพครั้นเจริญวัยสมควรจะได้รับการศึกษาเล่าเรียน  จึงเรียนลัทธิพราหมณ์  จบไตรเพท  เขาเป็นที่รักของอาจารย์  จึงได้เรียนมนต์พิเศษโดยใช้เล็บดีดกะโหลกศีรษะของผู้ตายภายในเวลา  ๓  ปี แล้วสามารถรู้ได้ว่า  ไปเกิดที่ไหน  พราหมณ์ทั้งหลายเห็นอุบายจะหาทรัพย์ได้  จึงพาเขาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายแล้วให้กะโหลกนั้นบอกแก่ญาติของตนว่าไปเกิดที่ไหน  พวกเขาได้ลาภเป็นอันมาก
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              วันหนึ่งเขาได้สดับพระคุณของพระพุทธเจ้า  เกิดความเลื่อมใสอยากจะไปเฝ้า  พราหมณ์ทั้งหลายคัดค้านเขา  กลัวจะเปลี่ยนใจไปนับถือพระศาสดา  แต่เขาไม่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้น  ไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน  ทรงทำปฏิสันถารอย่างดี  ตรัสถามถึงความสามารถของเขา  ครั้นทรงทราบแล้ว  จึงทรงนำเอากะโหลกศีรษะคนตายมา  ๔ กะโหลก  ในวังคีสะดีดดู  เขาดีดกะโหลกที่  ๑  บอกว่าไปเกิดในนรก  ที่  ๒  บอกว่าไปเกิดเป็นมนุษย์  ที่  ๓  บอกว่าไปเกิดเป็นเทวดา  ทรงประทานสาธุการแก่เขา  พอดีดกะโหลกที่  ๔  ซึ่งเป็นของพระอรหันต์  เขาไม่ทราบว่าไปเกิดที่ไหน  นั่งเหงื่อไหล  พระศาสดาตรัสถามว่า  เธอลำบากใจหรือวังคีสะ  เธอยอมรับว่าพระพุทธเจ้าข้า  แล้วทูลถามว่าพระองค์ทราบมนต์นี้หรือ  ตรัสว่าทราบ  เขาจึงขอเรียน  แต่ทรงปฏิเสธว่าสอนให้ไม่ได้  จะสอนได้เฉพาะแก่คนที่มีเพศเหมือนเราเท่านั้น  เขาจึงทูลขอบวชกับพระศาสดา  ตรัสให้พระนิโครธกัปปเถระเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้
๔.  การบรรลุธรรม
              วังคีสะ ครั้นบวชแล้ว ทรงบอกกรรมฐานคือ  อาการ  ๓๒  และวิปัสสนากรรมฐานแล้ว  เมื่อท่านกำลังสาธยายอาการ ๓๒  และเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่  พวกพราหมณ์เข้าไปถามว่า  เรียนมนต์ของพระโคดมจบหรือยัง  ท่านตอบว่าจบแล้ว  พวกพราหมณ์พูดว่า  ถ้าอย่างนั้นก็ไปได้แล้ว  ท่านตอบว่า  อาตมาไม่ไปแล้ว  พวกพราหมณ์ไม่สามารถจะทำอย่างไรได้จึงไปตามกรรมของตน  พระวังคีสะเจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  จบกิจบรรพชิตของตน
๕.  เอตทัคคะ
              พระวังคีสเถระ  เป็นผู้มีปฏิภาณสามารถกล่าวเป็นคำประพันธ์  ( ฉันท์ )  สรรเสริญคุณพระศาสดา  เวลาท่านเข้าไปเฝ้าได้ทุกครั้ง  พระศาสดาจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ผู้มีปฏิภาณ
๖.  ปรินิพพาน
              พระวังคีสเถระ  ครั้นถึงที่สุดประโยชน์ส่วนตนคือบรรลุพระอรหัตผลแล้ว
ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอายุของท่าน  แล้วได้ดับขันธปรินิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต

*********************************

๒๘.  ประวัติ  พระปิลินทวัจฉเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระปิลินทวัจฉเถระ  นามเดิม  ปิลินทะ  วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า  ปิลินทวัจฉะ  โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย
              บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา  ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช  (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก  สำเร็จวิชา  ชื่อว่า  จูฬคันธาระ  เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น  มีลาภและยศมาก  อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป  ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย  เขาคิดว่าพระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน  จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา  พระศาสดาตรัสว่า  ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้  เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส
๔.  การบรรลุธรรม
              เมื่อท่านบวชแล้ว  พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาและได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา  เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์  เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน
ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
              เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์  ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย  เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู  มีความนับถือท่านมาก  เข้าไปหา  ท่าน  ทั้งเช้าเย็น  แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุและชาวบ้าน  เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ  ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ  ก็ไม่มีใครถือสา  กลับศรัธาเลื่อมใสยิ่งขี้น ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์  เล่ากันว่า  ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา  ท่านถามว่าถาดอะไรไอ้ถ่อย  ชายคนนั้นโกรธคิดว่าพระอะไรพูดคำหยาบ  จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู  พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริง ๆ  ต่อมามีคนแนะนำเขาว่าให้เดินสวนทางกับท่านใหม่  ถ้าท่านถามอย่างนั้น  จงตอบท่านว่าดีปลี  ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม  เขาได้ทำตามคำแนะนำปรากฏว่ามูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม
๖.  เอตทัคคะ
              ก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน  แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา  จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น  เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย
๗.  ปรินิพพาน
              พระพระปิลินทวัจฉเถระ  ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล  ก็ได้ปรินิพพานดับไปโดยไม่มีอาลัย

*****************************
๒๙.  ประวัติ  พระกุมารกัสสปเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระกุมารกัสสปเถระ  นามเดิม  กัสสปะ  เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้  ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา  เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อกัสสปะ  จะถูกทูลถามว่ากัสสปะไหน  จึงตรัสว่า  กุมารกัสสปะ  เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ  เป็นชาวเมืองสาวัตถี  มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน  แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต  หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี  ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช  เธอจึงเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์  ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น  ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ  จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน  พระเทวทัตตัดสินว่า  เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง  ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ๆ  ทรงมอบหมายให้พระอุบาลีเถระตัดสิน  พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ ๆ  ชาวสาวัตถีและนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า  นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช  ศีลของนางบริสุทธิ์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรชาย  หน้าตาน่ารัก  ผิวพรรณดุจทองคำ  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้  และทรงตั้งชื่อให้ว่า  กัสสปะ  อีกย่างหนึ่ง  คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า  กุมารกัสสปะ  เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว  พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ  แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา  ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว  ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
๔.  การบรรลุธรรม
              ครั้งนั้น  สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส  เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา  จึงผูกปัญหา  ๑๕  ข้อ  แล้วบอกว่า  นอกจากพระศาสดา  ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้  รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลถามปัญหาเหล่านั้น  พระศาสดาทรงแก้ให้ท่านจนถึงพระอรหัต  พระเถระเรียนตามที่พระศาสดาตรัส  เข้าไปยังป่าอัมพวันเจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
๕.  งานประกาศพระศาสนา
              พระกุมารกัสสปะเถระ  กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร  สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล  เช่น  การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง  เป็นต้น
              พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี  เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก  พระเถระอุปมาว่า  เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง  ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร
              พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี  เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอกพระ เถระอุปมาว่า  เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ  ครั้นขึ้นมาได้  ชำระร่างกายสะอาดแล้วคงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก
              พระเจ้าปายาสิตรัสว่า  เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ  แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็น  ให้คนช่วยดูรอบ  ๆ  หม้อ  ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา  พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม  แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ  แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป
              พระเจ้าปายาสิตรัสว่า  เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง  ๖  (ตา หู จมูก ลิ้น  กาย  ใจ  )  ครั้นแล้ว  ทรงตรวจดู  ไม่พบว่าทั้ง  ๖  นั้นรู้สึกอะไรเลย  พระเถระอุปมาว่า  เหมือนคนเป่าสังข์  คนโง่ได้ยินเสียงสังข์  จึงมาขอดูเสียงของสังข์  ค้นหาอย่างไรไม่พบเสียงในตัวสังข์  จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง
              ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปะเถระใน การอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี  จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา
๖.  เอตทัคคะ
              เพราะพระกุมารกัสสปะเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมาและเหตุผล  พระทศพลจึงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร  (กล่าวถ้อยคำไพเราะ)
๗.  ปรินิพพาน
              พระกุมารกัสสปเถระ  ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา  อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้ปรินิพพานจากโลกไป

****************************





๓๐.  ประวัติ  พระมหาโกฏฐิตเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระมหาโกฏฐิตเถระ  นามเดิม  โกฎฐิตะ  มีความหมายว่า  ทำให้คนหนีหน้าเพราะเขาเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ต่าง  ๆ  จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน
              บิดาชื่อ  อัสสลายนพราหมณ์
              มารดาชื่อ  จันทวดีพราหมณี  ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              เขาเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปะของพราหมณ์  เป็นผู้ฉลาดในทางเวทางคศาสตร์  ตักกศาสตร์  นิฆัณฑุศาสตร์  เกฏุภศาสตร์  ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน  และในการพยากรณ์ทั้งหมด  เขาชอบพูดหักล้างคนอื่น  ใครพบเขาจึงพากันหลบหน้า  ไม่อยากสนทนาด้วย
มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              โกฏฐิตมานพ  เข้าไปเฝ้าและฟังธรรมจากพระศาสดา  แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ๆ  ทรงบวชให้เขาตามประสงค์  ตั้งแต่เขาบวชแล้ว  ก็พากเพียรศึกษาพระธรรมวินัย  และตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนา  ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทา  ๔  มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาญาณ  กล้าหาญ  แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือแม้แต่พระศาสดาก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา  ๔  จึงมีนามเพิ่มอีกว่า  มหาโกฏฐิตะ
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระมหาโกฏฐิตเถระ  เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก  เช่น  ในมหาเวทัลลสูตร  ท่านได้ชักถามพระสารีบุตรเถระเพื่อเป็นการวางหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  จะนำมาเฉพาะบางเรื่อง  ดังนี้
              ผู้มีปัญญาทราม  คือ  ผู้ไม่รู้อริยสัจ  ๔  ตามเป็นจริง
              ผู้มีปัญญา  คือ  ผู้รู้อริยสัจ  ๔  ตามเป็นจริง
              วิญญาณ  คือ  ธรรมชาติที่รู้จริง  ได้แก่รู้แจ้ง  สุข  ทุกข์  และ  ไม่ทุกข์ไม่สุข
              ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ การประกาศของผู้อื่น (ปรโตโฆสะ )  ๑  การทำไว้ในใจโดยแยบคาย  (  โยนิโสมนสิการ  )  ๑
              การเกิดในภพใหม่มีได้  เพราะความยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นนิวรณ์    (เครื่องกั้น)  มีตัณหาเป็นสังโยชน์  ( เครื่องผูกมัด )  การไม่เกิดในภพใหม่มีได้ เพราะเกิดวิชชาและเพราะดับตัณหา
              คนตายกับผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกัน  คือ  คนตายสิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ  อายุสิ้น  ไออุ่นดับ  และอินทรีย์แตก  ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ  สิ่งปรุงแต่งกาย  วาจา  จิตดับ  แต่อายุยังไม่สิ้น  ไออุ่นยังไม่ดับ  อินทรีย์ผ่องใส
๕.  เอตทัคคะ
              เพราะอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ระหว่างท่านกับพระสารีบุตรเถระ  ในมหาเวทัลลสูตรนี้  พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๖.  ปรินิพพาน
              พระมหาโกฏฐิตเถระได้ทำหน้าที่ของท่านและหน้าที่ต่อพระศาสนาในฐานะที่เป็นพระสงฆ์แล้ว  ได้ดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลา  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับไป

*******************************

๓๑.  ประวัติพระโสภิตเถระ
๑.  สถานะเดิม
              พระโสภิตเถระ  นามเดิม  โสภิตมาณพ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              โสภิตมาณพ  วันหนึ่งได้ไปเฝ้าพระศาสดา  ฟังธรรมเทศนาแล้ว  เกิด
ศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงได้ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามประสงค์  ครั้นบวชแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย  เจริญวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานก็ได้บรรลุอภิญญา  ๖  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือ  การระลึกชาติในอดีต
๓.  เอตทัคคะ
              เพราะพระโสภิตเถระมีความชำนาญเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือญาณในการระลึกชาติในอดีต พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกบุพเพสันนิวาส
๔.  ปรินิพพาน
              พระโสภิตเถระ  ได้บรรลุประโยชน์สูงสุดส่วนตน  คือ  พระอรหัตผลแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา  ตามสมควรแก่เวลาของท่าน จึงได้ปรินิพพานจากโลกไปโดยหาความอาลัยไม่ได้
๓๒.  ประวัติ  พระนันทกเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระนันทกเถระ  นามเดิม  นันทกะ
              บิดาและมารดา  ไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถี
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              นันทกมาณพ  ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า  เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง  ทรงแสดงธรรมไพเราะ  ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง  วันหนึ่ง  เมื่อมีโอกาศจึงไปเฝ้าพระศาสดา  ได้ฟังพระธรรมเทศนา  เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช  จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์  ครั้นบวชแล้ว  ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส
๓.  งานประกาศพระศาสนา
              ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี  มีเรื่องเล่าว่า  นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี  ๕๐๐  รูป  มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม  ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรมภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล
๔.  เอตทัคคะ
              พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง  จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๕.  ธรรมวาทะ
              ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป  ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้  ครั้นได้ความสลดใจไม่ย่อท้อ  ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก  ฉันใด  ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย  ฉันนั้น  เหมือนกัน
๖.  ปรินิพพาน
              พระนันทกเถระ  ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน  แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน  สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป

********************************
๓๓ประวัติ  พระมหากัปปินเถระ

สถานะเดิม
              พระมหากัปปินเถระ  นามเดิม  กัปปินะ  ต่อมาได้ครองราชย์จึงมีนามว่า  มหากัปปินะ  เป็นวรรณะกษัตริย์
              พระบิดาพระมารดา  ไม่ปรากฏพระนาม  เป็นเจ้าเมืองกุกกุฏวดีในปัจจันตชนบท
ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว  ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อสันตติวงค์  ทรงพระนามว่า  พระเจ้ามหากัปปินะ  ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี  พระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ  แห่งแค้วนมัททะ  ทั้ง  ๒  พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องศาสนา  คอยสดับตรับฟังข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              วันหนึ่ง  ทรงทราบข่าวจากพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถีว่า  พระพุทธเจ้า  พระ
ธรรมและพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้วในโลก  ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง  พร้อมกับบริวารจำนวนหนึ่ง  ได้เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองสาวัตถี
              พระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวการเสด็จมาของพระเจ้ามหากัปปินะ  จึงเสด็จไปรับที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา  ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ  ท้าวเธอพร้อมด้วยบริวารได้เสด็จเข้าไปเฝ้า  ณ  ที่นั้น  ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ  ๔  ครั้นจบพระธรรมเทศนาพระราชาพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท  ทรงให้พวกเขาอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔.  งานประกาศพระศาสนา
              เมื่อบวชในพระพุทธศาสนา  และแม้จะสำเร็จพระอรหันต์แล้ว  ท่านก็ไม่สอนใคร  มีความขวนขวายน้อย  ต่อมาพระศาสดาทรงทราบ  จึงรับสั่งให้ท่านสอนผู้อื่นบ้าง  ท่านทูลรับด้วยเศียรเกล้า  ได้แสดงธรรมแก่อันเตวาสิกของท่านประมาณพันรูปให้บรรลุอรหัตผล
๕.  เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงอาศัยเหตุที่ท่านแสดงธรรมแก่อันเตวาสิกนั้น  จึงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
๖.ธรรมวาทะ
              มีปัญญา  แม้ไม่มีทรัพย์  ยังพออยู่ได้  ขาดปัญญา  แม้มีทรัพย์  ก็อยู่ไม่ได้  ปัญญาเป็นตัวชีขาดศาสตร์ที่เรียนมา  ปัญญาทำให้เจริญไปด้วยเกียรติ  และความสรรเสริญผู้มีปัญญาย่อม
ได้รับความสุข  แม้ในสิ่งที่คนอื่นเขาทุกข์กัน
๗.  ปรินิพพาน
              พระมหากัปปินเถระ  ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศานา  ตามสม
ควรแก่เวลาของท่าน  แล้วได้ปรินิพพานจากไป

*****************************

๓๔.  ประวัติ  พระสาคตเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระสาคตเถระ  นามเดิม  สาคตะ
              บิดาและมารดา  เป็นพราหมณ์  ชาวเมืองสาวัตถีทั้ง  ๒  ไม่ปรากฏนาม
๒.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              สาคตมาณพเป็นผู้สนใจใคร่ศึกษา  ได้รับทราบข่าวพระศาสดาว่า  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง  ทรงแสดงธรรมไพเราะ  ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้าได้แจ่มแจ้ง  วันหนึ่ง  มีโอกาสจึงเข้าไปเฝ้า  ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธา  จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท  ครั้นบวชแล้ว  เจริญฌานได้สมาบัติ  ๘  มีความชำนาญในฌานสมาบัติ
๓.  การบรรลุธรรม
              พระสาคตเถระได้ปราบอัมพติตถนาคราช  จนสิ้นฤทธิ์เดช  ด้วยเตโชธาตุสมาบัติของท่าน  ชาวบ้านที่เคยได้รับความทุกข์จากนาคราชนั้น  ดีใจ  เลื่อมใสท่าน  ทุกบ้านได้จัดสุราถวายเวลาท่านไปบิณฑบาต  ท่านจิบสุราบ้านละน้อย  เพื่อฉลองศรัทธา  ครั้นหลายบ้านเข้าจึงเกิดเมาสุรา  ไปล้มหมดสติที่กองขยะ  พระศาสดาทรงทราบจึงทรงให้พระมาประคองเอาไป  ทรงติเตียนและชี้โทษของสุรา  หลังจากนั้นท่านเกิดความสลดใจ  ปฏิบัติสมณธรรม  ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล
๔.  งานประกาศพระศาสนา
              เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ  สามารถแสดงฤทธิ์เกี่ยวกับไฟได้หลายอย่าง  เช่นทำให้เกิดแสงสว่างในที่มืด  และทำให้เกิดความมืดในที่สว่าง  เป็นต้น  จึงทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
๕.  เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงปรารภความสามารถในการเข้าเตโชธาตุสมาบัติของท่าน  จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  พระสาคตเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเข้าเตโชสมาบัติ
๖.  ธรรมวาทะ 
              ต้นไม้ทุกชนิด  ย่อมงอกงามบนแผ่นดินฉันใด  สัตว์ผู้มีปัญญา  ก็ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า  ฉันนั้น  องค์พระสัพพัญญู  ผู้ทรงนำหมู่ของผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่  ทรงถอนคนเป็นอันมากออกจากทางที่ผิด  แล้วตรัสบอกทางที่ถูกให้
๗.  ปรินิพพาน
              พระสาคตเถระ  ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอดเวลาที่เป็นภิกษุ  สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานจากโลกไปตามสัจธรรมของชีวิต

****************************

๓๕ประวัติ  พระอุปเสนเถระ

สถานะเดิม
              พระอุปเสนเถระ  นามเดิม  อุปเสนมาณพ  หรือ  อุปเสนวังคันตบุตร
              บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์
              มารดาชื่อ  สารีพราหมณี
              เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์
ชีวิตก่อนบวช
              อุปเสนมาณพมีพี่ชาย  ๒  คน  คือ  อุปติสสะและจุนทะ  น้องชาย  ๑ คน  คือ  เรวตะ  น้องสาว  ๓  คน  คือ  นางจาลา  นางอุปจารา  และนางสุปจารา  ครั้นเติบโตแล้วได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์
มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              อุปเสนมาณพก็เหมือนกับพระสาวกโดยมาก  คือ  ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดาจึงเข้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาแล้ว  เกิดศรัทธา  ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา  พระศาสดาทรงบวชให้ตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
              ครั้นได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ยังไม่ทันได้พรรษา  คิดว่าจะสร้างพระอริยะให้พระศาสนาให้มากที่สุด  จึงบวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง  แล้วพาไปเฝ้าพระศาสดา  ถูกพระศาสดาติเตียนว่าไม่เหมาะสม  เพราะอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ได้พรรษา  สิทธิวิหาริกก็ยังไม่ได้พรรษา  ท่านคิดว่าเราอาศัยบริษัทจึงถูกพระศาสดาติเตียน แต่เราก็จะอาศัยบริษัทนี่แหละทำให้พระศาสดาเลื่อมใส จึงพากเพียรภาวนา  ในไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัตผลสมาทานธุดงค์และสอนผู้อื่นให้สมาทานด้วย  มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกมากมายคราวนี้พระศาสดาทรงสรรเสริญท่าน
๕.  งานประกาศพระศาสนา
              พระอุปเสนเถระ  ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว  ได้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมด  และสอนผู้อื่นให้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมนั้นด้วย  จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะ  และพากันบวชในสำนักของท่าน
๖.  เอตทัคคะ
              พระศาสดาทรงอาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้นวรรณะนั้น  จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบด้าน
๗.  ธรรมวาทะ
              ในที่ชุมชน  ผู้เป็นบัณฑิต  พึงแสดงตนที่ไม่โง่  ที่ไม่ได้เป็นใบ้  เหมือนกับคนโง่และคนเป็นใบ้  ( ในบางครั้ง )  ไม่ควรพูดยืดยาวเกินเวลา  คนที่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านไป  ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน  ผู้นั้นท่านเรียกว่า  สันโดษ
๘.  ปรินิพพาน
              พระอุปเสนเถระ  ได้เป็นพระขีณาสพ  อยู่จบพรหมจรรย์  เสร็จกิจส่วนตัวของท่านแล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์  เพื่อประโยชน์  เพื่อความสุขแก่มหาชน  ตามสมควรแก่เวลา  แล้วได้ปรินิพพานดับไปเหมือนกับไฟที่หมดเชื้อ

*************************************

๓๖.  ประวัติ  พระขทิรวนิยเรวตเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ  แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน  จึงมีชื่อว่า  ขทิรวนิยเรวตะ
              บิดาชื่อ  วังคันตพราหมณ์
              มารดาชื่อ  นางสารีพราหมณี
              เกิดที่บ้านลันทา  แคว้นมคธ  เป็นคนวรรณะพราหมณ์

๒.  ชีวิตก่อนบวช
              เรวตะ  เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว  เหลืออยู่คนเดียว  ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว  บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด  โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้  ๘  ขวบ
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              ครั้นถึงวันแต่งงาน  บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน  นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา  ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์  ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง  ๒  ฝ่ายไปอวยพร  ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา  ซึ่งมีอายุ  ๑๒๐  ปี  เข้ามาอวยพร  คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า  ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้
              เรวตะได้ฟังดังนั้น  มองดูคุณยาย  ผมหงอก  ฟันหัก  หนังเหี่ยว  หลังโกง  เนื้อตัวสั่นเทา  รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า  เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน  ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า  ขอบรรพชากับท่าน  ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้  เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า  ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย  เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔.  การบรรลุธรรม
              สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ  เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเตียน บำเพ็ญเพียรภาวนา  ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕.  งานประกาศพระศาสนา
              พระเรวตเถระนี้  แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม  แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน  ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น  และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา  แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่
๖.  เอตทัคคะ
              เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ชอบอาศัยอยู่ในป่า  องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
๗.  ธรรมวาทะ
              ตั้งแต่อาตมภาพ  สละเรือนออกบวช  ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทรามประกอบด้วยโทษ  ไม่เคยรู้จักความคิดว่า  ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน  จงถูกฆ่า  จงประสบความทุกข์  อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต  อย่างหาประมาณมิได้  ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ  สะสมมาโดยลำดับ  ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
๘.  ปรินิพพาน
              พระขทิรวนิยเรวตเถระ  ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว  ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์  เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา  แล้วได้ปรินิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต

*********************************

๓๗.  ประวัติ  พระสีวลีเถระ

๑.  สถานเดิม
              พระสีวลีเถระ  นามเดิม  สีวลี
              บิดาไม่ปรากฏนาม
              มารดา  พระนางสุปปวาสา  พระธิดาเจ้าเมืองโกลิยะ
              เขาอยู่ในครรภ์มารดาถึง  ๗  ปี  ๗  เดือน  ๗  วัน  ทำให้มารดามีลาภสักการะมากและคลอดง่ายที่สุด
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              ย้อนไปถึงก่อนที่ท่านจะประสูติ  พระมารดาเสวยทุกขเวทนาหนักมาก  จึงให้พระสวามีไปบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสประทานพรให้ว่า  ขอพระธิดาแห่งโกลิยวงศ์จงมีความสุข  ปราศจากโรคาพยาธิ  ประสูติพระโอรสหาโรคมิได้เถิด  พระนางก็ประสูติพระโอรสสมพุทธพรทุกประการ  แล้วได้ถวายมหาทานตลอด  ๗  วัน
๓.  มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อสีวลีกุมารประสูติ  พระมารดาและพระประยุรญาติได้ถวายมหาทาน  ๗  วัน  ในวันที่  ๗  พระสารีบุตรเถระจึงชวนเธอบวช  เธอตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช  พระมารดาทรงทราบก็ดีใจ  อนุญาตให้พระเถระบวชกุมารได้ตามประสงค์  พระเถระจึงนำกุมารไปบวชเป็นสามเณร  ตั้งแต่กุมารบวชแล้ว  ลาภสักการะได้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายมากมาย
๔.  การบรรลุธรรม
              พระสีวลีได้ฟังตจปัญจกกรรมฐานจากพระสารีบุตรเถระ  แล้วบรรลุพระอรหัตผลในเวลาปลงผม  ท่านกล่าวว่า  จดมีดโกนครั้งแรกบรรลุโสดาปัตติผล  ครั้งที่  ๒  บรรลุสกิทาคามิผล  ครั้งที่  ๓  บรรลุอนาคามิผล  พอปลงผมเสร็จบรรลุพระอรหัตผล

๕.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระสีวลีนั้นเป็นพระที่มนุษย์และเทวดาเคารพนับถือบูชามาก  จึงเป็นพระที่มีลาภมาก  แต่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของบุญเก่า  แต่ถึงอย่างไรก็ตามเหตุการณ์อย่างนี้ก็ต้องถือว่าท่านมีส่วนสำคัญในการประกาศพระศาสนา  เพราะทำให้คนที่ยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเกิดศรัทธา  เพราะยากจะหาพระที่มีบุญญาธิการเหมือนท่าน
๖.  เอตทัคคะ
              เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีลาภมาก  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  หรือจะไปที่ไหนช่วยให้ภิกษุทั้งหลาย  ไม่ขัดสนปัจจัยลาภไปด้วย  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
๗.  ปรินิพพาน
              พระสีวลีเถระได้บรรลุประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว  ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมหาชน  จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  จึงได้ปรินิพพานดับสังขารสู่บรมสุขอย่างถาวร

**************************************

๓๘.  ประวัติ  พระวักกลิเถระ

สถานะเดิม
              พระวักกลิเถระ  นามเดิม  วักกลิ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นพราหมณ์ชาวสาวัตถี
ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อเติบโตเขาได้ศึกษาลัทธิพราหมณ์  เรียนจบเวท  ๓  แต่ไม่ได้ตั้งตัวเป็นคณาจารย์สั่งสอนใคร
มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              วันหนึ่ง  เขาเห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จดำเนินไป ในพระนคร   สาวัตถี  ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปสมบัติ  จึงติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง  ในที่สุดตัดสินใจว่าต้องบวชจึงจะได้เห็นพระศาสดาตลอดเวลา  เขาจึงขอบวช  แล้วได้บวชในสำนักพระศาสดา
๔.  การบรรลุธรรม
              ตั้งแต่บวชแล้ว  พระวักกลิติดตามดูพระศาสดาตลอดเวลา  เว้นเวลาฉันอาหารเท่านั้น  พระศาสดาทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งญาณของเธอ  จึงไม่ตรัสอะไร  ครั้นทราบว่าญาณของเธอแก่กล้าแล้ว  จึงได้ตรัสแก่เธอว่า  วักกลิ  จะมีประโยชน์อะไรกับการดูร่างกายที่เปื่อยเน่า  ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเห็นธรรม  ดูก่อนวักกลิบุคคลผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา  บุคคลผู้เห็นเราชื่อว่า  ย่อมเห็นธรรม    แม้พระศาสดาตรัสอย่างนี้  ท่านก็ยังไม่เลิกดูพระศาสดา  ทรงพระดำริว่า  ภิกษุนี้ถ้าไม่ได้ความสังเวชคงไม่บรรลุธรรม  จึงทรงขับไล่ว่า  วักกลิเธอจงหลีกไป  ท่านเสียใจมากขึ้นไปบนภูเขาจะฆ่าตัวตาย  พระองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไปโปรด  ตรัสเรียกเธอว่า  วักกลิ  เธอรู้สึกปลื้มใจมาก  นึกถึงพระดำรัสของพระศาสดา  ข่มปีติได้แล้วบรรลุพระอรหัตผล
๕.  เอตทัคคะ
              เพราะพระวักกลิเถระบรรลุพระอรหัตผลด้วยศรัทธาในพระศาสดา  ฉะนั้นจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นเลิศแห่งภิกษุผู้เป็นสัทธาวิมุตติ  ( พ้นจากกิเลสเพราะสัทธา )
๖.  ปรินิพพาน
              พระวักกลิเถระ  ครั้นดำรงอยู่ตามสมควรแก่เวลาของท่าน  ก็ได้ปรินิพพานจากไป  เหลือไว้แต่ปฏิปทาที่ควรค่าแก่การศึกษาของปัจฉิมชนตาชนผู้สนใจพระพุทธศาสนาต่อไป

****************************

๓๙.  ประวัติ  พระพาหิยทารุจีริยเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระพาหิยทารุจีริยเถระ  นามเดิม  พาหิยะ  ภายหลังเขานุ่งเปลือกไม้  จึงได้ชื่อว่า  พาหิยทารุจีริยะ
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นชาวพาหิยรัฐ  วรรณะแพศย์
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อเติบโต  เขามีอาชีพค้าขาย  วันหนึ่งนำสินค้าลงเรือไปขายยังจังหวัดสุวรรณภูมิ  เรืออับปาง  คนในเรือเสียชีวิตทั้งหมด  เหลือแต่เขาคนเดียว  เกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งไว้ได้  ลอยคอไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปารกะ  ผ้านุ่งผ้าห่มถูกคลื่นซัดหลุดหายไปหมด  จึงเอาใบไม้บ้าง  เปลือกไม้บ้าง ถักพอปิดร่างกาย  ถือภาชนะกระเบื้องดินเผาเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพ  คนทั้งหลายเห็นเขาแต่งตัวแปลก  ๆ  คิดว่าเป็นพระอรหันต์  จึงนำอาหารไปให้มากมาย  บางคนนำเอาผ้าไปให้  แต่เขาไม่ยอมนุ่งผ้า  คงนุ่งผ้าเปลือกไม้ต่อไป  และสำคัญผิดคิดว่าเป็นพระอรหันต์
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              ครั้งนั้น  เทวดาตนหนึ่ง ผู้เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาในชาติก่อน
แล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส  ได้ลงมาให้สติแก่เขาว่า  พาหิยะ  ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก  แม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผลท่านก็ยังไม่รู้เลย  ผู้เป็นพระอรหันต์และรู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหัตผล  อยู่ที่พระวิหารเชตวัน  เมืองสาวัตถีเขาสลดใจ  ได้ไปเฝ้าพระศาสดาตามคำของเทวดา  พบพระศาสดากำลังทรงดำเนินบิณฑบาตอยู่  รีบร้อนวิงวอนจะฟังพระธรรมเทศนาให้ได้  พระศาสดาทรงปฏิเสธถึง  ๓  ครั้ง  ครั้นทรงทราบว่า  ญาณของเขาแก่กล้าแล้ว  และปีติของเขาสงบลงแล้วจึงได้ตรัสว่า  พาหิยะ  ขอให้เธอศึกษาดังนี้  เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น  ( ทิฏเฐ 
ทิฏฐมตตํ  ภวิสสติ )
              ในเวลาจบเทศนา  เขายืนอยู่กลางถนนนั่นเอง  ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา  ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทา  ได้ทูลขอบรรพชากับพระศาสดา  แต่มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ  จึงไปหาบาตรและจีวร  กำลังดึงท่อนผ้าเก่าจากกองขยะ  อมุนษย์คู่เวรกันเข้าสิงในร่างแห่งแม่โคตัวหนึ่ง  ทำร้ายท่านจนถึงสิ้นชีวิต  จึงไม่ทันได้บวช
๔.  งานประกาศพระพุทธศาสนา
              พระพาหิยะรุจีริยเถระแม้ท่านจะยังไม่ได้บวชตามพิธีอุปสมบทกรรมตามพระวินัย  แต่ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  จัดเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้  และมีประวัติอยู่ในจำนวนพระอสีติมหาสาวก  พระศาสดาเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี  ทอดพระเนตรเห็นศพของพระพาหิยะล้มอยู่ในกองขยะ  จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำไปทำการฌาปนกิจ  แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ทางสี่แพร่ง ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่าท่านบรรลุมรรคอะไรเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ  พระศาสดาตรัสว่า  พาหิยะปรินิพพานแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี  ประวัติพระพาหิยะทารุจีริยเถระจึงเป็นการประกาศหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า  เมื่อปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว  จะบวชตามพระวินัยหรือ ไม่ก็ตาม  ก็จัดเป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้น  คือเป็น  อริยสงฆ์
๕.  เอตทัคคะ
              เพราะพระพาหิยทารุจีริยเถระ ได้บรรลุธรรมเร็วพลัน  เพียงฟังพระพุทธพจน์ว่า  ทิฏเฐ  ทิฏฐมตตํ  ภวิสสติ  ( เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น )  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน
๖.  บุญญาธิการ
              แม้พระพาหิยทารุจีริยเถระนี้  ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลเวลาแห่งพระปทุมุตตรศาสดา  ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้เร็วพลัน  จึงได้บำเพ็ญกุศลแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น  อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า  จะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า  โคดม  และก็ได้สมตามความปรารถนา  ดังพุทธวาจาทุกประการ
๗.  ธรรมวาทะ
              ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร  ไม่เคยได้อาหาร  คือ  คำข้าว  เลยหรือ  ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า  หรือของข้าพระองค์  ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
๘.  ปรินิพพาน
              พระพาหิยทารุจีริยเถระ  ได้ถูกอมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันเข้าสิงในร่างแม่โคชนในขณะกำลังเก็บผ้าบังสุกุลในกองขยะแล้วปรินิพพาน

**************************

๔๐.  ประวัติ  พระพากุลเถระ

๑.  สถานะเดิม
              พระพากุลเถระ  นามเดิม  พากุล  แปลว่า  คนสองตระกูล
              บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม  เป็นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี
๒.  ชีวิตก่อนบวช
              เมื่อพระพากุละเกิดได้  ๕  วัน  มีการทำมงคล  โกนผมไฟและตั้งชื่อ  พี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำคงคา  ปลาได้กินทารกนั้น  แล้วแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ  แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ  ทางศาสนาเรียก  ปัจฉิมภวิกสัตว์  แปลว่า  ผู้เกิดในภพสุดท้าย  ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตทำอย่างไรก็ไม่ตาย
              ปลานั้นว่ายไปตามแม่น้ำ  ไปติดข่ายชาวประมงในพระนครพาราณสี  ชาวประมงนั้นจึงนำเอาปลานั้นไปขาย  ในที่สุดเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง  ได้ซื้อเอาไว้  เมื่อแหวะท้องปลาก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่  เพราะเศรษฐีนั้นไม่มีบุตรและธิดา  จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมาก  ได้เลี้ยงดูไว้อย่างดี
              ครั้นต่อมา  เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาเดิมได้ทราบเรื่องนั้น  จึงไปยังบ้านของเศรษฐีชาวพาราณสี  พบเด็กจำได้ว่าเป็นลูกของตน  จึงได้ขอคืน  แต่เศรษฐีชาวพาราณสีไม่ยอม  เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี  พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงเด็กนั้นคนละ  ๔  เดือน  เด็กนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยลำดับ
๓.  มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
              เมื่อพระศาสดา  เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในพระนครพาราณสี  พากุลเศรษฐีพร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเฝ้า  แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระศาสดาทรงประทานให้ตามประสงค์
๔.  การบรรลุธรรม
              พระพากุละ  ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว  ตั้งใจรับฟังพระโอวาทจากพระศาสดา  ไม่ประมาท  พากเพียรภาวนา  เจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง  ๗  วัน  ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕.  งานประกาศพระศาสนา
              พระพากุลเถระ  ครั้นบรรลุพระอรหัตผลจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว  ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  ในฐานะเป็นพระเถระผู้ใหญ่  ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนที่สุด  บวชเมื่ออายุ  ๘๐  ปี  เป็นพระอีก  ๘๐  พรรษา  ตามนี้ท่านจึงต้องมีอายุ  ๑๖๐  ปี  ตำนานกล่าวว่า  ท่านไม่มีโรคภัยเบียดเบียน  ไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย  ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านได้สร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์  และได้บริจาคยาให้เป็นทาน  ท่านเป็นพระรูปหนึ่งในจำนวน  ๕๐๐  รูป  ที่เข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก
๖.  เอตทัคคะ
              เพราะพระพากุลเถระ  เป็นผู้ที่มีโรคน้อย และมีอายุยืนดังกล่าวมา  พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย
๗.  บุญญาธิการ
              แม้พระพากุลเถระนี้  ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน  ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า  เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในเอตทัคคะว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย  อยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง  จึงได้สร้างบุญกุศลอันจะอำนวยผลให้เป็นเช่นนั้น  แล้วตั้งความปรารถนา  พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า  จะสำเร็จสมปณิธานในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม  และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘.  ธรรมวาทะ
              ผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง  ย่อมทำลายเหตุแห่งความสุข  และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง  บุคคลพูดอย่างไรพึงทำอย่างนั้น  อย่าเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง  เพราะบุคคลผู้พูดอย่างทำอย่าง  ผู้รู้ย่อมดูหมิ่นได้
              พระนิพพานอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้  ไม่มีความโศก  ไม่มีธุลี คือ  กิเลส  เกษม  (  ไม่ถูกกิเลสรบกวน  )  ดับความทุกข์ทั้งสิ้น  เป็นสุขที่แท้จริง
๙.  ปรินิพพาน
              พระพากุลเถระ  ครั้นได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว  ได้ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ แก่พระศาสนาและชาวโลกจนถึงอายุขัยของท่านแล้วได้ปรินิพพานจากไป ตามตำนานกล่าวว่าก่อนปรินิพพานได้เข้าเตโชสมาบัติ  นั่งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์  เมื่อปรินิพพานแล้วไฟได้ไหม้สรีระร่างของท่านหมดไป  ณ  ที่นั่นเอง


*******************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น